ในโลก สตาร์ทอัพ เลิกคิดถึงความสำเร็จแบบข้ามคืนไปได้เลย เพราะเบื้องหลังของการปั้นสตาร์ทอัพแบเบาะให้มีชื่อและมีมูลค่าหลักร้อยล้านพันล้านต้องแลกกับหยาดเหงื่อและความทุ่มเทด้วยกันทั้งนั้น แต่จะมีเครื่องมืออะไรที่ช่วยทุ่มแรงและย่นเวลาให้ความสำเร็จเกิดเร็วขึ้นได้บ้าง ลองมาดู 3 กฏเหล็กที่บรรดาเซียนใช้แล้วเวิร์คกันดีวก่า


1. หา Idea ให้เจอ ตัดการเขียนรายงานวิเคราะห์ธุรกิจเล่มหนาที่มีความยาวขั้นต่ำ 5 หน้าทิ้งสะ เครื่องมือแบบนั้นล้าสมัยเกินกว่าจะนำมาใช้ค้นหาไอเดียแล้ว ยุค 4G แบบนี้ แค่ Business Model Canvas หน้าเดียวก็เอาอยู่ เพราะตาราง 9 ช่อง ของตัว Business Model ทำให้เห็นภาพรวมของสตาร์ทอัพชัดเจน โมเดลตัวนี้ช่วยทวบทวนธุรกิจ 9 ด้านคือ จุดแข็งของผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ขาย, ลูกค้า ,ช่องทางการขาย ,พาร์ทเนอร์, ทรัพยากรที่ใช้ในการทำธุรกิจ, กิจกรรมหลักที่ต้องทำเพื่อให้ธุรกิจเกิดขึ้นได้, ค่าใช้จ่ายต่างๆ และ ช่องทางสร้างรายได้ กฏเหล็ก: การทำ Business Model Canvas เริ่มจากช่องตรงกลางชื่อ Value Proposition จะดีที่สุด และค่อยย้ายมาคิด 3 ช่องด้านขวามือกับ 3 ช่องซ้ายมือ ก่อนจะปิดท้ายด้วย 2 ช่องล่างสุด ถ้าอยากได้ไอเดียดีๆ ต้องหยิบโมเดลตัวนี้มาเพิ่มนู่นเติมนี่ต่อยอดไปเรื่อยๆ อย่าพึ่งตกหลุมพลางพอใจกับไอเดียแรกที่เกิดขึ้น


2. อย่ารอช้าBuild-Measure-Learn เมื่อมีไอเดียอยู่ในมือ ขั้นต่อมาคือสร้างผลิตภัณฑ์และบริการ ขั้นตอนนี้สตาร์ทอัพมีชื่อหลายแห่งใช้หลักของ Lean Startup ที่ริเริ่มโดย Eric Ries เพราะเป็นกระบวนการที่เน้นการทำน้อยแต่ได้มากซึ่งมี 3 ขั้นตอน 2.1 Build: เมื่อมีไอเดียอย่ารอช้าลงมือสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบเลย โดยผลิตภัณฑ์ต้นแบบของเราไม่ต้องใส่ฟังชั่นให้ครบร้อยเปอร์เซนต์ ใส่ฟังชั่นหลักๆและเปิดให้ใช้บริการเลยจะได้ทดลองตลาดก่อน ถ้ามัวแต่เสียเวลา และทุ่มเงินพัฒนาผลิตภัณฑ์อยู่นานแสนนานจนสมบูรณ์แล้วกลับไม่มีใครใช้ จะทำให้สตาร์ทอัพสายป่านสั้นต้องพับโปรเจคไปง่ายๆ 2.2 Measure: เมื่อปล่อยผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดแล้ว ทีมงานต้องเก็บข้อมูลผู้ใช้ ยิ่งลงพื้นที่พูดคุยกับผู้ใช้ได้ยิ่งดี จะได้รู้ว่าผู้ใช้ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร อยากให้มีอะไรเพิ่ม มีปัญหาส่วนไหนในการใช้ ทีมงานจะได้เอาข้อมูลตัวนี้มาวิเคราะห์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงใจผู้ใช้ 2.3 Learn: นำข้อมูลมาสรุปและวิเคราะห์ ทำ Check List เลยว่าสิ่งไหนทำดีอยู่แล้ว สิ่งไหนควรปรับปรุง และใช้ข้อมูลเป็นแนวทางปรับปรุงผลิตภัณฑ์ของเราให้ดีขึ้นไปอีก กฎเหล็ก: ในขั้นสร้างผลิตภัณฑ์และบริการต้องคอยสร้าง วัดผล และเรียนรู้ก่อนจะลงมือสร้างใหม่ วัดผล และเรียนรู้ ทำอย่างนี้วนกันไปเรื่อยๆ เพราะโลกเปลี่ยนแปลงไปเร็วการสร้างผลิตภัณฑ์และบริการเองจะหยุดกับที่ได้ยังไง


3. สร้างโคตร Team ทีมเป็นหัวใจของความสำเร็จเลยนะ ยิ่งสตาร์ทอัพที่เริ่มจากคนน้อยๆ ด้วยแล้ว ความกลมเกลียวนั้นผลักดันให้สตาร์ทอัพโตแบบก้าวกระโดดเลย โดยทีมที่แข็งแกร่งจะผ่านด่านทดสอบ 4 ขั้น 3.1 Forming เป็นช่วงที่แต่ละคนกำลังปรับตัวกับงานใหม่ ทำความเข้าใจงานตัวเอง สานสัมพันธ์กับเพื่อนใหม่ ขั้นนี้หัวหน้าทีมต้องแจกจ่ายหน้าที่และอธิบายความรับผิดชอบของแต่ละคนในทีมให้ครบและชัด 3.2 Storming เมื่อทำงานไปสักพัก ปัญหาในทีมเริ่มตามมา แต่ละคนในทีมมีสไตล์การทำงานต่างกันทำให้การกระทบกระทั่งกันบ้าง คนในทีมไม่ชอบกระบวนการทำงานของบริษัท หรือเริ่มไม่เห็นด้วยกับหัวหน้า ขั้นนี้เราต้องเปิดอกคุย แชร์ไอเดียและตั้งเป้าหมายร่วมกัน
3.3 Norming หลังก้าวผ่านความขัดแย้งมาได้ ทุกคนจะเข้าใจกันมากขึ้น เริ่มมีธรรมเนียมปฎิบัติของสตาร์ทอัพที่ช่วยกันตั้ง คนในทีมเริ่มแชร์เรื่องราวชีวิตร่วมกันไม่ได้แชร์แค่งานเท่านั้น 3.4 Performing ทีมทำงานเป็นหนึ่งเดียว ช่วยลงแรงลงใจทำงานเสร็จตามเวลา ตามเป้าหมาย ขั้นนี้จะเน้นการเช็คงาน เช็คความสำเร็จที่ทีมสร้างร่วมกัน กฏเหล็ก: ขั้น Stroming เป็นจุดแตกหัก สตาร์ทอัพส่วนมากจะผ่านจุดนี้ไม่ได้ งานก็ไม่เดิน ทีมก็ไม่สามัคคี สุดท้ายก็ล้มเหลวทั้งทีม ใครกำลังเริ่มสร้างสตาร์ทอัพของตัวเอง หรือสตาร์อัพกลุ่มไหนกำลังหาวิธีฝ่าทางตันอยู่ ลองนำทริคเล็กๆเหล่านี้ไปปรับใช้ ไม่แน่จากสตาร์อัพแบเบาะอาจกลายเป็นสตาร์ทอัพตัวพ่อที่โตเร็วจนคาดไม่ถึง

Writer: methawee thatsanasateankit ขอบคุณรูปภาพจาก : diytoolkit , primermagazine , slideshare

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก :