ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

อัตราเงินเฟ้อของไทยในเดือนต.ค. 2558 ยังคงติดลบอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 ท่ามกลางหลายปัจจัยที่มีผลทำให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคส่วนใหญ่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ โดยแม้ว่าเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนต.ค. มีระดับที่สูงขึ้นกว่าเดือนก่อนหน้า แต่คาดว่าเป็นผลจากปัจจัยชั่วคราวในช่วงเทศกาลกินเจ ขณะที่แนวโน้มแรงกดดันเงินเฟ้อในระยะข้างหน้ายังคงมีจำกัด

  • สถานการณ์เงินเฟ้อไทยเดือนต.ค. 2558 ติดลบน้อยลงกว่าในเดือนก.ย. 2558 และติดลบน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงร้อยละ 0.77 (YoY) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (ตลาดคาดที่ติดลบร้อยละ 1.00 YoY) จากที่ติดลบร้อยละ 1.07 (YoY) ในเดือนก.ย. 2558 ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.95 YoY ในเดือนต.ค. 2558 ซึ่งนับเป็นการทรงตัวอยู่ต่ำกว่าระดับร้อยละ 1.0 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6 นับตั้งแต่เดือนพ.ค. 2558 เป็นต้นมา
  • เป็นที่น่าสังเกตว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนต.ค. 2558 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 จากเดือนก่อนหน้า (MoM) ซึ่งนับเป็นอัตราการเพิ่ม MoM ที่สูงสุดในรอบ 17 เดือน โดยสาเหตุหลักมาจากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาอาหารในช่วงเทศกาลกินเจ โดยเฉพาะผักและผลไม้ (ที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 4.0 MoM) แม้ว่าในเดือนนี้ได้มีการปรับลดราคาขายปลีกน้ำมัน (ทั้งกลุ่มเบนซินและดีเซล) และก๊าซ LPG ในประเทศ รวมทั้งมีการปรับตัวลงของราคาสินค้าอุปโภคบริโภคบางส่วน ตามที่ผู้ประกอบการได้ยื่นขอปรับลดราคาสินค้ากับกระทรวงพาณิชย์ (ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ประกาศออกมาเมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2558 ) หลังจากที่มีการทบทวนโครงสร้างต้นทุนตามราคาน้ำมันที่ลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ดี สินค้าบางรายการที่มีการปรับลดราคาลง อาจจะไม่อยู่ในตะกร้าดัชนีราคาผู้บริโภค ทั้งนี้ ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2558 อัตราเงินเฟ้อติดลบไปแล้วร้อยละ 0.89 ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงตัวเลขคาดการณ์ค่าเฉลี่ยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2558 ที่ติดลบในช่วงร้อยละ 1.0-0.8 ไว้ตามเดิม อย่างไรก็ดี หากผู้ประกอบการมีการทบทวนราคาสินค้าอื่นๆ ลงอีก ก็อาจจะทำให้อัตราเงินเฟ้อทรงตัวอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องอีกในช่วงหลายเดือนข้างหน้า

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ตัวเลขเงินเฟ้อที่ยังคงติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 ในเดือนต.ค. นี้ อาจจะยังไม่มีน้ำหนักมากนักต่อการพิจารณาจุดยืนเชิงนโยบายการเงินของธปท. ในระยะนี้ เนื่องจากเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยบางส่วนที่เริ่มมีสัญญาณกระเตื้องขึ้นมาบ้างเล็กน้อย (แม้สถานการณ์เศรษฐกิจในภาพรวมจะยังมีภาพที่อ่อนแอ) ซึ่งทำให้ธปท. มีเวลาที่จะรอประเมินทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นหากสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ เริ่มมีภาพที่ชัดเจนมากขึ้นในช่วงปลายปี

  • สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปี 2558 และกรอบประมาณการเบื้องต้นสำหรับปี 2559 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงมุมมองเดิมว่า ราคาน้ำมันในตลาดโลกน่าจะยังคงมีช่วงขาขึ้นที่ค่อนข้างจำกัดในช่วงที่เหลือของปีนี้ และอาจจะต่อเนื่องไปในช่วงต้นปีหน้า ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าว อาจกดดันให้เงินเฟ้อของไทยจะยังคงอยู่ในแดนลบ และ/หรือทรงตัวอยู่ในระดับที่ต่ำมากตลอดครึ่งแรกของปีหน้า

ด้วยเหตุนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงประเมินกรอบประมาณการ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2559 ว่าจะเริ่มกลับมาเป็นบวกได้เพียงเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.8-1.8 ภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันดูไบในกรอบประมาณ 48.5-56.0 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล โดยมองว่า เงินเฟ้อที่กลับมามีค่าเฉลี่ยเป็นบวกได้นี้ เป็นผลมาจากการเปรียบเทียบกับฐานที่ต่ำในปี 2558 ขณะที่ ปัจจัยหนุนเงินเฟ้อในส่วนที่มาจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ (demand pull inflation) และการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเพียงบางพื้นที่ อาจจะยังไม่มีผลกระทบที่ชัดเจนมากนักต่ออัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งแรกของปี แต่กระนั้น คงต้องติดตามสถานการณ์ภัยแล้งที่อาจจะมีผลกระทบต่อราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสดในช่วงหลังจากนี้อย่างใกล้ชิด

ขอบคุณข้อมูล จาก : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย