ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางการ จีน ได้ประกาศร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปี ฉบับที่ 13 (2016-2020) ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง หลักการในแผนฯฉบับนี้จึงหนีไม่พ้นการดำเนินการปฏิรูปในด้านต่างๆ รวมถึงการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เพื่อนำไปสู่การเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืนในอนาคต (New Normal) โดยทางการจีนตั้งเป้าในการเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี และรายได้ต่อหัวของประชาชนเป็น 2 เท่าในระยะเวลา 10 ปีนับจาก 2553-2563 ส่งผลให้ในอีก 5 ปีต่อจากนี้เศรษฐกิจจีนจะต้องมีการเติบโตเฉลี่ยที่ร้อยละ 6.5 ต่อปีเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว สะท้อนว่าเศรษฐกิจจีนในระยะข้างหน้าจะเติบโตในอัตราที่ค่อยๆชะลอต่อเนื่อง ทั้งนี้ ตัวเลขเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในปี 2559 จะประกาศอย่างเป็นทางการในช่วงการประชุมใหญ่ประจำปีของรัฐบาลในเดือนมี.ค. 2559 โดยในแผนฯฉบับนี้ยังมีประเด็นที่น่าสนใจ ได้แก่


การยกเลิกนโยบายลูกคนเดียว (One-Child Policy)
หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายที่สำคัญของจีนในแผนฯฉบับนี้ คือการยกเลิกนโยบายลูกคนเดียว ที่มีผลบังคับใช้มานานถึง 35 ปี โดยจะผ่อนคลายให้คู่สามีภรรยาสามารถมีบุตรได้ 2 คน ซึ่งในอดีตนโยบายดังกล่าวหวังผลเพื่อชะลอการเพิ่มขึ้นของประชากรอย่างรวดเร็ว และยกระดับคุณภาพชีวิต แต่ ณ ขณะนี้กลับกลายเป็นสาเหตุของปัญหาประชากรวัยแรงงานที่ลดลง และแนวโน้มการเป็นสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งจากข้อมูลของสำนักงานสถิติจีนชี้ให้เห็นว่า จีนอาจจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ใน 30-40 ปีข้างหน้า

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ผลของนโยบายนี้ต่อเศรษฐกิจจีนในระยะ 5 ปีข้างหน้าจะยังจำกัด โดยอาจจะกระทบกับการออมของประชากรที่ลดลงเพื่อนำไปเลี้ยงดูบุตรคนที่ 2 แต่ในระยะสั้นการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนคงจะไม่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา นอกจากนี้ แม้ทางการจะอนุญาตให้สามารถมีบุตรได้มากขึ้น แต่อีกนัยหนึ่งก็เป็นการเพิ่มภาระทางการเงินให้ครัวเรือน โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ที่มีค่าครองชีพสูง ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันให้อัตราการเกิดไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก และไม่สามารถการกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังซบเซาได้อย่างทันท่วงที อย่างไรก็ดี ในระยะยาว 10-20 ปีข้างหน้า ประชากรที่เพิ่มขึ้นน่าจะส่งผลต่อการบริโภคและการลงทุนในประเทศโดยเฉพาะในภาคการศึกษาและที่อยู่อาศัย

การปฏิรูปสู่ ‘New Normal’
ในแผนฯฉบับนี้ทางการจีนยังคงเดินหน้าปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ ต่อเนื่องจากแผนฯฉบับที่ 12 โดยมุ่งเน้นที่การปฏิรูปภาคการเงิน และรัฐวิสาหกิจ ทั้งนี้ ทางการจีนจะเร่งปฏิรูปภาคการเงินมากขึ้นในระยะ 5 ปีข้างหน้า เพื่อลดอุปสรรคการเข้าถึงเงินทุนของภาคธุรกิจ และส่งเสริมให้ธุรกิจจีนออกไปลงทุนในต่างประเทศ นอกจากนี้ จีนยังวางเป้าหมายที่จะรักษาเสถียรภาพค่าเงิน และเพิ่มบทบาทของหยวนในตลาดการเงินโลก โดยคาดว่าจะสามารถลดการแทรกแซงค่าเงิน และให้หยวนสามารถซื้อขายได้อย่างเสรีตามกลไกตลาดภายในปี 2563 ส่วนสิ่งที่ต้องจับตาในระยะอันใกล้ คือเป้าหมายการให้หยวนถูกรวมเข้าไว้ในตะกร้าเงินสกุล SDR (Special Drawing Rights) ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) จากปัจจุบันที่ประกอบด้วยเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ยูโร ปอนด์ และเยน โดยเงื่อนไขหนึ่งของ IMF ในการตัดสินว่าเงินสกุลใดจะอยู่ในตะกร้า SDR คือจะต้องเป็นเงินตราที่มีการใช้อย่างเสรี (Freely Usable) ซึ่งหมายถึงมีการซื้อขายตามกลไกตลาดในตลาดการเงินหลักของโลกและมีการใช้ในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศอย่างแพร่หลาย ซึ่งมีความเป็นไปได้พอสมควรที่หยวนจะถูกรวมอยู่ในตะกร้า SDR ภายหลังการประชุมของ IMF เพื่อทบทวน (Review) องค์ประกอบของตะกร้า SDR ในปีนี้ และจากสถิติของ SWIFT ในเดือนก.ย. 2558 หยวนรั้งอันดับ 5 ของสกุลเงินที่มีการใช้ชำระเงินระหว่างประเทศมากที่สุดในโลก ทั้งนี้ การปฏิรูปภาคการเงินจะช่วยให้จีนมีการจัดสรรทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นผ่านการพัฒนาตลาดทุนในประเทศ เนื่องจากในปัจจุบันแหล่งเงินทุนส่วนใหญ่ของธุรกิจยังมาจากแหล่งเงินทุนดั้งเดิมอย่างธนาคารเป็นหลัก ซึ่งเป็นการเพิ่มช่องทางเข้าถึงทรัพยากรทางการเงิน จะเพิ่มความแข็งแกร่งให้ภาคธุรกิจของจีนโดยเฉพาะ SMEs และเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนแนวทางการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจของทางการจีนได้ เนื่องจากในปัจจุบันจีนมีรัฐวิสาหกิจมากกว่าหนึ่งแสนแห่ง และหลายแห่งมีการดำเนินงานและใช้ทรัพยากรของประเทศไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ โดยแนวทางหนึ่งที่จีนจะนำมาใช้ในการปรับโครงสร้างรัฐวิสาหกิจในระยะ 5 ปีข้างหน้านี้ คือการจัดตั้งองค์กรที่มีอำนาจในการบริหารจัดการเงินทุนของรัฐให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ทางการจีนน่าจะมีการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไป และยังคงมีบทบาทในการควบคุมรัฐวิสาหกิจบางแห่งที่มีความสำคัญต่อความมั่นคง การจ้างงานและเสถียรภาพของประเทศ

ยกระดับอำนาจทางเศรษฐกิจในเวทีโลกผ่านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน
ในแผนฯฉบับที่ 13 นี้ จีนยังได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์การเพิ่มบทบาททางเศรษฐกิจของจีนในประชาคมโลกผ่านการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยนับเป็นยุทธศาสตร์ระยะยาวที่ไม่อ่อนไหวต่อความผันผวนทางเศรษฐกิจในระยะสั้น อาทิโครงการ One Belt, One Road และการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษในหลายพื้นที่ของประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดเม็ดเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลในการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ดังกล่าวเพื่อเชื่อมต่อจีนกับภูมิภาคอื่นๆของโลก นอกจากนี้ จีนยังเพิ่มบทบาทในเวทีโลกด้วยการเป็นผู้ให้การสนับสนุนด้านเงินลงทุนแก่ประเทศอื่นๆ ผ่านการจัดตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน หรือ AIIB สิ่งเหล่านี้จะช่วยสนับสนุนการค้าการลงทุน และอำนาจทางเศรษฐกิจของจีนในอนาคต นอกจากประเด็นที่น่าสนใจข้างต้นแล้ว จีนยังมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาประเทศในอีกหลายด้าน อาทิ การศึกษา สิ่งแวดล้อม การลดภาวะยากจน ธรรมาภิบาลภาครัฐ และการส่งเสริมนวัตกรรมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (Innovative Economy) ซึ่งล้วนแต่เป็นนโยบายในระยะยาว แต่ในระยะสั้น 1-2 ปีข้างหน้า เราน่าจะได้เห็นการใช้นโยบายการเงินและการคลังของทางการจีนอย่างต่อเนื่องเพื่อประคองเศรษฐกิจให้เติบโตได้เฉลี่ยปีละร้อยละ 6.5 และเพิ่มการสร้างงานใหม่ในเขตเมืองตามเป้าหมาย
สำหรับนัยต่อไทย การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีนตามแผนฯจะส่งผลให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและมีกำลังซื้อมากขึ้นซึ่งจะส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยว และภาคบริการของไทย เช่น ร้านอาหาร และสปา เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่จีนกำลังจะลดการพึ่งพาการส่งออก และเปลี่ยนสถานะตัวเองจากโรงงานผลิตของโลกให้กลายเป็นประเทศผู้บริโภค นับเป็นโอกาสทางการค้าของธุรกิจไทย แม้จีนจะไม่ได้นำเข้าสินค้าจากไทยมากนัก แต่สำหรับไทย จีนนับเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญเป็นอันดับต้นๆ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยที่อยากจะส่งออกสินค้าไทยขายในตลาดจีนคงต้องเตรียมความพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคมและพฤติกรรมการบริโภคของชาวจีนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยปรับเปลี่ยนแนวคิดและกลยุทธ์ในการเข้าตลาด เนื่องจากยังมีโอกาสทางธุรกิจอีกมากมายในประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างจีน โดยเฉพาะในเมืองรอง และเมืองต่างๆทางตะวันตกของประเทศที่มีช่องว่างให้เติบโตได้สูง รวมถึงได้อานิสงส์จากแผนการพัฒนาประเทศ

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก :