ข้อพิพาทใน งานก่อสร้าง
โดย คุณวิสิฐ อัจฉยานนท์กิจ
งานก่อสร้าง ทั่วไปประกอบด้วยบุคคล 3 ฝ่าย คือผู้ว่าจ้าง ผู้รับจ้างเหมาก่อสร้าง และผู้ควบคุมงานก่อสร้างหรือวิศวกร ที่ปรึกษาทำหน้าที่ควบคุมงานก่อสร้าง โดยมีแบบก่อสร้าง รายละเอียดวัสดุและวิธีการก่อสร้าง (Specification) และสัญญาเป็นกติกาในการดำเนินการก่อสร้าง ผู้เกี่ยวข้องข้างต้นต่างมีภาระรับผิดชอบในโครงการ โดยผู้ว่าจ้างต้องมอบพื้นที่และอุปกรณ์บางอย่างตามที่ตกลงไว้ในสัญญาให้แก่ผู้รับจ้างภายในกำหนดเวลา และต้องจ่ายเงินค่างานตามงวดงานที่ได้ตกลงกันไว้ เพื่อให้ ผู้รับจ้างมีสภาพคล่องที่จะทำงานให้เสร็จตามเป้าหมาย ส่วนผู้รับเหมาต้องจัดทำแผนการทำงานก่อสร้างให้เหมาะสมกับอายุสัญญาและมีขั้นตอน ขบวนการก่อสร้างที่สอดคล้องต่อเนื่อง และมีความเป็นไปได้ตามขั้นตอนและฤดูกาล ให้ผู้ควบคุมงานตรวจสอบ ให้ความเห็นชอบก่อนเริ่มทำงานก่อสร้าง จัดหาเครื่องมือ เครื่องจักรอุปกรณ์และวัสดุก่อสร้าง เข้ามาทำงานตามแผนงานที่วางไว้ โดยก่อสร้างให้ถูกต้องตามแบบและข้อกำหนดด้วยวัสดุก่อสร้างที่มีคุณภาพ จัดทำรายงานและเอกสารต่างๆ ที่จำเป็นระหว่างก่อสร้างแล้วเสนอต่อผู้ควบคุมงานและผู้ว่าจ้าง เพื่อทราบและให้ความเห็นชอบ ส่วนของผู้ควบคุมงานมีหน้าที่ตรวจสอบแบบข้อกำหนดและสัญญา เพื่อที่จะควบคุมงานก่อสร้างให้เป็นไปตามรูปแบบข้อกำหนดและสัญญา ตรวจสอบแผนดำเนินงานของ ผู้รับจ้างและให้ข้อแนะนำที่จำเป็น เพื่อให้งานก่อสร้างดำเนินไปอย่างราบรื่นและแล้วเสร็จภายในอายุสัญญา ผู้ควบคุมงานเป็นผู้แทนของผู้ว่าจ้างในการกำกับดูแลงานก่อสร้าง ให้ข้อแนะนำเพื่อให้งานก่อสร้างออกมาดีมีคุณภาพที่สุด รายงานผลการควบคุมงานให้แก่ผู้ว่าจ้างทราบ และตรวจสอบปริมาณและผลงานที่ผู้รับจ้างทำแล้วเสร็จ เพื่อทำการเบิกจ่ายค่างานให้แก่ผู้รับจ้างต่อไป ถ้าต่างฝ่ายต่างทำตามภาระหน้าที่ของตนอย่างสม่ำเสมอและซื่อสัตย์ งานก่อสร้างน่าจะไปได้อย่างราบรื่นปราศจากปัญหาอุปสรรคหรือข้อพิพาทต่างๆ แบบก่อสร้างโดยทั่วไปแม้จะได้ถูกออกแบบมาโดยวิศวกรที่เชี่ยวชาญและผ่านการตรวจสอบมาอย่างดี บางครั้งก็ยังมีปัญหาให้ต้องมีการปรับปรุงแก้ไขแบบเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพของพื้นที่ก่อสร้าง หรืออุปสรรคที่ไม่คาดคิดมาก่อนที่เกิดขึ้นระหว่างก่อสร้างได้ การปรับปรุงแก้ไขแบบก่อสร้างจึงเป็นเรื่องปกติที่ย่อมเกิดขึ้นได้ในทุกโครงการ ดังจะเห็นได้จากบล็อกหัวข้อในแบบที่มีช่องรายการปรับปรุงแบบและช่องลงนามวิศวกรผู้ปรับปรุงแก้ไขแบบไว้ด้วย ข้อกำหนดวัสดุและวิธีการก่อสร้างย่อมให้ทางเลือกไว้ด้วยเพื่อความคล่องตัวในการทำงาน แต่ต้องเลือกเอาสิ่งที่ดีที่สุดและเป็นประโยชน์ต่อทั้งเจ้าของงานและผู้รับเหมาโดยที่ยังมีผลงานก่อสร้างที่มีคุณภาพและมั่นคงแข็งแรงเหมือนที่แบบกำหนดไว้ สัญญาก่อสร้างที่คู่สัญญาลงนามต่อกันไว้นั้นโดยทั่วไปจะแบ่งออกเป็น 3 หมวด คือหมวดแรกกำหนดลักษณะและขอบเขตของงานจ้าง ซึ่งเป็นรายละเอียดว่าจ้างให้ทำการก่อสร้างงานอะไร ปริมาณเท่าไร ที่ไหน วงเงินค่าก่อสร้างเท่าไร กำหนดวันเริ่มต้นและสิ้นสุดสัญญา เป็นต้น หมวดที่สองเป็นการกำหนดความรับผิดชอบหรือภาระผูกพันของสัญญา (Obligation) ของฝ่ายต่างๆ และส่วนสุดท้ายเป็นเงื่อนไขต่างๆ ที่กำหนดให้คู่สัญญาต้องปฏิบัติตามในการทำงานจ้างครั้งนี้ ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับงานก่อสร้างไม่มีใครอยากให้มีปัญหาอุปสรรคเกิดขึ้น เพราะมันจะนำมาซึ่งข้อพิพาทและการโต้แย้งทำให้การทำงานร่วมกันไม่ราบรื่น ไม่มีความสุขกับงาน แต่อย่างที่กล่าวมาแล้วว่าปัญหาอุปสรรคย่อมเกิดขึ้นได้ จะมากน้อยรุนแรงเพียงใดขึ้นกับเหตุการณ์ สถานการณ์และสภาพของพื้นที่ทำงานร่วมทั้งวิธีการแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยทั่วไปข้อขัดแย้งหรือข้อพิพาทในงานก่อสร้างมักจะวนเวียนอยู่ในเรื่องต่างๆ ดังนี้ 1. แผนดำเนินงานของผู้รับจ้าง โดยแผนงานนั้นจัดทำมาไม่เหมาะสมไม่สมจริงสอดคล้องกับการจัดหาเครื่องจักร วัสดุ และบุคลากร ไม่ถูกตามขั้นตอนการทำงานที่ต่อเนื่องสัมพันธ์กัน หรือไม่เหมาะสมกับฤดูกาล การใช้ผู้รับเหมาช่วง ในงานเฉพาะ เช่นงานระบบต่างๆ ไม่เหมาะสมกับแผนงานหลัก ไม่ได้พิจารณาเผื่อสำหรับปัญหาอุปสรรคด้านฤดูกาล เช่นหน้าฝน หน้าน้ำหลาก หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ที่สำคัญประจำปี ตลอดจนวัฒนธรรมท้องถิ่น 2. การมอบพื้นที่และอุปกรณ์บางส่วนตามข้อตกลงสัญญาที่ผู้ว่าจ้างต้องจัดหามาให้ไม่เป็นไปตามกำหนดเวลา เกิดความล่าช้า ต้องมีการขยายอายุสัญญา 3. แบบก่อสร้างไม่สมบูรณ์ มีการปรับแก้ไขบ่อยๆ เสียเวลารอการแก้ไขแบบ และเสียค่าใช้จ่ายไปโดยเปล่าประโยชน์ระหว่างรอการแก้ไข ยิ่งถ้าเป็นโครงการที่ใช้สัญญาแบบ Design Build แล้ว จะยิ่งมีปัญหามาก 4. การประเมินราคาค่างานคลาดเคลื่อน การใช้แรงงานและการเร่งรัดงานของผู้ว่าจ้างนอกเหนือจากที่กำหนดในสัญญา ทำให้ผลงานก่อสร้างมีปัญหาด้านคุณภาพจากการเร่งรัดงานเกินไป หรือการใช้วัสดุเทียบเท่าที่ด้อยกว่า 5. ผู้รับเหมาไม่มีคุณภาพหรือศักยภาพในการบริหารจัดการงานก่อสร้าง และขาดประสบการณ์หรือไม่มีความรู้ ด้านระเบียบราชการในการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง 6. ผลงานล่าช้าอันเป็นผลกระทบจากผู้รับเหมารายอื่นๆ ในโครงการเดียวกัน กรณีที่เป็นงานใหญ่มีหลายระบบงาน และใช้ผู้รับเหมาแยกสัญญากัน การแก้ปัญหาหรือการโต้แย้งต่างๆ ตั้งแต่ต้นด้วยน้ำใจมุ่งดีต่อกัน ย่อมทำให้งานก่อสร้างดำเนินไปได้อย่างราบรื่นและรักษาน้ำใจกันไว้ ไม่เกิดการขัดแย้งหรือทำให้ข้อพิพาทรุกลามบานปลายออกไปมากขึ้น แนวทางในการบรรเทาหรือลดข้อพิพาทให้เบาบางหรือน้อยลงสามารถทำได้ โดย 1.ร่วมหารือกันขณะทำงานและมีปัญหาเกิดขึ้น เพื่อช่วยกันหาทางแก้ไขปัญหาอุปสรรคนั้นทันที 2.การประชุมประจำสัปดาห์ weekly site meeting เพื่อทำความเข้าใจและร่วมกันระดมความคิดเพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ 3.ตรวจสอบรายงานการปฏิบัติงานอย่างละเอียด เพื่อหาข้อบกพร่องและเหตุแห่งข้อพิพาท เพื่อทำการประนีประนอมและร่วมกันแก้ไขอย่างเสมอภาคกัน 4.ใช้อนุญาโตตุลาการ (Arbitration) เพื่อพิจารณาหาข้อยุติที่ดีที่สุดของข้อพิพาท 5.ดำเนินการฟ้องร้องทางศาลตามกระบวนการยุติธรรม อนุญาโตตุลาการ (Arbitration) หมายถึงขบวนการระงับข้อพิพาทโดยบุคคลที่ 3 ที่ทำหน้าที่เป็นกลางในการเป็นผู้ชี้ขาดหลังจากรับฟังและให้โอกาสคู่กรณีพิพาทเสนอข้ออ้างและข้อโต้เถียงของตน โดยคณะอนุญาโตตุลาการมักเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่เกิดการพิพาทกัน ขบวนการอนุญาโตตุลาการมีบัญญัติไว้ในกฎหมาย 2 ฉบับ คือ 1. กฎหมายแพ่ง ส่วนใหญ่จะเน้นการใช้อนุญาโตตุลาการเมื่อเรื่องไปถึงชั้นศาลแล้ว เรียกว่าอนุญาโตตุลาการในศาล โดยปกติไม่ค่อยนิยมใช้กัน เพราะเมื่อเรื่องฟ้องร้องไปถึงศาลแล้วก็มักปล่อยให้ศาลเป็นผู้พิจารณาไปเลยตามกระบวนการยุติธรรม 2. พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 ซึ่งเป็นการยืนยันหลักการยอมรับวิธีการอนุญาโตตุลาการนอกศาล คือคู่กรณีเมื่อเกิดข้อขัดแย้งหรือข้อพิพาท ต้องนำเสนอข้อพิพาทนั้นต่ออนุญาโตตุลาการเพื่อพิจารณาชี้ขาดแทนการนำคดีขึ้นสู่ศาลโดยตรง(ทั้งนี้ต้องมีการระบุไว้ในสัญญาว่าให้แก้ไขข้อพิพาทด้วยอนุญาโตตุลาการด้วย) หากมีการฟ้องร้องต่อศาลโดยตรงโดยไม่ผ่านขบวนการอนุญาโตตุลาการ อีกฝ่ายมีสิทธิ์ยื่นต่อศาลขอให้จำหน่ายคดีหรือถอนฟ้องได้ ข้อดีของการใช้ขบวนการอนุญาโตตุลาการ 1. ใช้เวลาน้อยกว่าขบวนการทางศาล และอาจทำให้ความลับของบริษัทต้องถูกเปิดเผยในระหว่างการพิจารณาคดี เกิดผลเสียต่อธุรกิจของบริษัทได้ 2. ต้องเสียค่าใช้จ่ายต่างๆ มาก ทั้งค่าธรรมเนียมศาล ค่าทนายความ ค่าพยาน และอื่นๆ 3. ศาลไม่ค่อยมีความเข้าใจลึกซึ้งในลักษณะของงานก่อสร้าง และอาจไม่เข้าใจถึงสาเหตุและเหตุผลในการทำการต่างๆ ในงานก่อสร้าง 4. การพิจารณาของศาลมักใช้กฎหมายเป็นหลัก โดยไม่คำนึงถึงจารีตประเพณีทางการค้าและอื่นๆ ในการทำธุรกิจการค้า 5. ถ้าเป็นการพิพาทกับบริษัทต่างชาติ จะเกิดปัญหาการใช้ภาษาและความระแวงในเรื่องความยุติธรรมที่อาจมีการลำเอียง 6. เมื่อถึงชั้นศาลแล้ว คู่กรณีต้องต่อสู้กันเต็มที่ถึงขั้นแตกหัก ทำให้ไม่อาจทำธุรกิจร่วมกันอีกต่อไปได้ในอนาคต เมื่อคู่สัญญาเกิดข้อพิพาทขึ้นและไม่สามารถประนีประนอมกันได้ จำเป็นต้องใช้ขบวนการอนุญาโตตุลาการก็ให้ดำเนินการตามขั้นตอนการดำเนินการด้านอนุญาโตตุลาการ ดังนี้ 1. ต้องเป็นสัญญาที่ระบุไว้ให้ใช้อนุญาโตตุลาการในการพิจารณาข้อพิพาท และต้องเป็นข้อพิพาทในทางแพ่งเท่านั้น 2. ต่างฝ่ายต่างเลือกอนุญาโตตุลาการของฝ่ายตน โดยทางการมีรายชื่อบุคคลที่เหมาะสมจะทำหน้าที่อนุญาโตฯ ในสาขาอาชีพต่างๆ ไว้ให้เลือก และต้องมีหนังสือยินยอมรับเป็นอนุญาโตฯ จากคนที่ถูกเลือก และต้องมีอนุญาโตฯ ที่เป็นกลางที่ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบอีก 1 คน โดยคณะอนุญาโตตุลาการมักมีจำนวนเป็นเลขคี่ 3. คู่กรณีมีสิทธิ์คัดค้านอนุญาโตฯ หากเห็นว่าผู้นั้นไม่อิสสระ หรืออาจไม่ยุติธรรมโดยคณะอนุญาโตฯ จะเป็นผู้พิจารณาการคัดค้านดังกล่าว 4. อนุญาโตฯ ไม่ต้องรับผิดชอบทางแพ่งในการทำตามหน้าที่ เว้นแต่จะกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ทำให้คู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียหาย 5. อนุญาโตฯ ถ้ามีการเรียกหรือรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดเพื่อการพิจารณานี้ จะถูกจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 6. การพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการจะทำ ณ ที่ใดก็ได้ขึ้นกับความสะดวกเหมาะสมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง การพิจารณาข้อพิพาทนั้นคณะอนุญาโตตุลาการจะพิจารณาถึงข้ออ้างข้อชี้แจงของทั้งสองฝ่าย และอาจเรียกบุคคลมาให้ข้อมูลหรือขอดูเอกสารต่างๆ ได้ แล้วทำการตัดสินข้อพิพาท โดย 1. ถ้าคู่กรณีสามารถประนีประนอมยอมกันได้ ก็ให้ยุติข้อพิพาทนั้นเสีย 2. ต้องเป็นเสียงข้างมาก อนุญาโตตุลาการท่านใดที่ไม่อยู่พิจารณาต้องมีหมายเหตุกำกับไว้ในคำตัดสินนั้นด้วย 3. คำชี้ขาดต้องทำเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อคณะอนุญาโตตุลาการ โดยลงนามเฉพาะเสียงข้างมากก็พอเพียงแล้ว และต้องระบุวันและสถานที่ที่ดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการ แล้วส่งสำเนาถึงคู่พิพาททุกฝ่าย 4. การแก้ไขข้อผิดพลาดบางอย่างในหนังสือชี้ขาด ทำได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่รับทราบคำชี้ขาด 5. การขัดค้านคำชี้ขาด สามารถกระทำได้ภายใต้เงื่อนไขต่างๆ ที่ระบุไว้ เมื่อคณะอนุญาโตตุลาการได้พิจารณาชี้ขาดไปแล้ว คำชี้ขาดนั้นถือว่าเป็นที่สุด จะอุทธรณ์ไม่ได้นอกจากว่า 1. การทำตามการชี้ขาดขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน 2. คำชี้ขาดนั้นฝ่าฝืนกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน 3. คำสั่งไม่ตรงตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ 4. มีการทำความเห็นแย้งไว้ในคำพิพากษา หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเห็นว่าการพิจารณาชี้ขาดนั้นไม่ยุติธรรม ก็มีสิทธิ์ที่จะยื่นอุทธรณ์ การยื่นอุทธรณ์ให้ยื่นต่อศาลฎีกา หรือศาลปกครองสูงสุดแล้วแต่กรณี การบังคับให้เป็นไปตามคำชี้ขาดนั้นก็เป็นหน้าที่ของคู่กรณีที่จะทำให้เกิดการบังคับให้เป็นไปตามคำชี้ขาด โดยต้องยื่น ต่อศาลที่มีอำนาจ ได้แก่ 1. ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง 2. ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศภาค 3. ศาลที่มีการพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการในเขตศาล 4. ศาลที่คู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล 5. ศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาข้อพิพาทซึ่งได้เสนอต่ออนุญาโตตุลาการนั้น อย่างที่กล่าวไว้แต่ต้นแล้วว่าการไม่มีข้อพิพาทเลยเป็นการดีที่สุด แต่เพื่อความไม่ประมาท และเพื่อให้มีข้อมูลไว้พิจารณาแก้ไขปัญหาหากมีข้อพิพาทเกิดขึ้น จะได้ใช้ข้อมูลต่างๆ ให้เป็นประโยชน์ โดยควรดำเนินการดังนี้ 1. การติดต่อกันระหว่าผู้ว่าจ้างกับผู้รับจ้างหรือผู้ควบคุมงาน ในเรื่องที่สำคัญๆ ควรทำเป็นหนังสือไว้เป็นหลักฐาน 2. เก็บรายงานการปฏิบัติงานประจำวัน ประจำสัปดาห์ของช่างควบคุมงานและวิศวกรสนาม รวมทั้งรายงานความก้าวหน้าของผลงานด้วย 3. เก็บบันทึกการประชุมทุกครั้ง โดยเฉพาะ weekly site meeting 4. ต้องมีเจ้าหน้าที่โดยเฉพาะเพื่อทำหน้าที่ในการดูแลปัญหาข้อพิพาทที่อาจเกิดขึ้นตลอดอายุโครงการ 5. การเปลี่ยนแปลงปรับปรุงแก้ไขแบบ และรายการก่อสร้างรวมทั้งสัญญาที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบในงานจ้าง ต้องให้ทนายความตรวจสอบทบทวนก่อนทุกครั้ง 6. มีการติดตามผลการดำเนินงานจริงเทียบกับแผนงานที่วางไว้แต่แรก เมื่อได้เตรียมการข้อมูลต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นอย่างดีสม่ำเสมอตลอดเวลาโครงการ หากเกิดข้อพิพาทขึ้น การนำเสนอข้อมูลเหล่านี้ต่ออนุญาโตตุลาการจะต้องดำเนินการดังต่อไปนี้ 1. เสนอรายงานการปฏิบัติงานจ้างให้ดูง่าย เข้าใจง่าย 2. มีการเตรียมข้อมูลและข้อโต้แย้งไว้อย่างดี นำเสนอได้ทันทีเมื่อต้องการใช้ 3. สัญญามีการตีความและจัดเรียงลำดับไว้อย่างดี 4. มีการประสานงานกันอย่างดีระหว่างทีมโต้แย้งซึ่งประกอบด้วย ที่ปรึกษาด้านการโต้แย้ง (Claim) ทนายความ และวิศวกรสนาม 5. ผู้บริหารระดับสูงสนับสนุนการทำงานของทีมโต้แย้งอย่างจริงใจ แต่อย่างที่ผู้รับเหมาหลายๆ รายเคยกล่าวไว้ การเป็นความกับหน่วยราชการหรือเจ้านายผู้ว่าจ้างนั้น ยอมกินขี้หมาดีกว่า ถึงขนาดเปรียบเปรยอย่างประชดประชันว่า ผู้ควบคุมงานเปรียบเหมือนส้นตีน ผู้รับเหมาเปรียบเหมือนยอดหญ้าที่ต่ำต้อยติดดิน ส้นตีนเหยียบบนหญ้าเมื่อไรหญ้าก็ตายราบ ดังนั้นถ้าสามารถร่วมมือกันทำงานด้วยจิตมุ่งหวังดี ซื่อสัตย์ในวิชาชีพ เป็นธรรม ยอมประนีประนอมกัน งานก่อสร้างก็จะออกมาดี ทุกฝ่ายมีความสุข สบายใจ และยังเดินร่วมกันบนถนนสายอาชีพนี้ด้วยกันได้ต่อไป
Discussion
Follow breaking news Investment property articles on Facebook, click here.