ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ผู้ประกอบการทุกรายที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการบนคลื่นความถี่ 1800 MHz และ 900 MHz จะสามารถทยอยเปิดให้ บริการ 4G ได้ภายในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2559 โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า จะมียอดเงินสะพัดจากการลงทุนขยายโครงข่าย 3G/ 4G ในช่วงปี 2559 - 2560 ประมาณ 158,000 ล้านบาท
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2559 จะมีผู้เข้าใช้บริการโมบายบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตโดยภาพรวมสูงถึง 38.4 – 39.7 ล้านคน ขยายตัวต่อเนื่องในกรอบร้อยละ 11.0 – 14.7 คิดเป็นอัตราการเข้าถึงโมบายบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตราวร้อยละ 60.4 – 62.6 ของประชากรทั้งหมด
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า รูปแบบของการประกอบธุรกิจในยุค 4G อาจไม่มีความแตกต่างจากรูปแบบการประกอบธุรกิจในยุค 3G อย่างชัดเจนมากนัก แต่จะเป็นการเอื้อสำหรับการต่อยอดทางธุรกิจในรูปแบบที่มีอยู่เดิมให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นจากการใช้โมบายบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตด้วยความเร็วสูงขึ้น และมีเสถียรภาพมากขึ้น นอกจากนี้ การเปิดให้บริการ 4G จะก่อให้เกิดอานิสงส์ต่อธุรกิจอีกหลากหลายในช่วงปี 2559 ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยเฉพาะการให้บริการข้อมูล ตลาดสมาร์ทโฟน ตลาดผลิตซอฟต์แวร์เพื่อใช้ในประเทศ และตลาด E-Commerce เป็นต้น

ปัจจุบัน ผู้บริโภคไทยมีความนิยมใช้งานบริการอินเทอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูงผ่านโครงข่าย 3G หรือ “โมบายบรอดแบนด์” โดยได้แรงหนุนจากการขยายโครงข่าย 3G ที่ครอบคลุมประชากรทั่วประเทศกว่าร้อยละ 90 ประกอบกับราคาของอุปกรณ์เคลื่อนที่อย่างสมาร์ทโฟนอยู่ในระดับที่ผู้บริโภคไทยโดยทั่วไปสามารถจับจ่ายได้ โดยเฉพาะสมาร์ทโฟนที่ผลิตและจำหน่ายโดยผู้ให้บริการโทรคมนาคม พร้อมการเสนอแพ็คเกจโปรโมชั่นสำหรับการใช้บริการเสียงและข้อมูลในราคาที่ย่อมเยา ส่งผลเอื้อต่อการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการใช้งานโมบายบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า จำนวนผู้ใช้งานโมบายบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตปี 2558 จะพุ่งแตะระดับ 34.6 ล้านคน ขยายตัวกว่าร้อยละ 23.1 จากปี 2557

อย่างไรก็ดี การให้บริการโมบายบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นการให้บริการผ่านโครงข่าย 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz ภายใต้ใบอนุญาตที่ออกโดยคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งมีปริมาณคลื่นความถี่ (Bandwidth) อยู่เพียง 15 MHz ต่อ 1 ใบอนุญาต ในขณะที่ผู้ประกอบการบางรายได้นำคลื่นความถี่ดังกล่าวบางส่วนมาเปิดให้บริการ 4G ทำให้เกิดความไม่เพียงพอต่อการรองรับการใช้งานบริการสื่อสารข้อมูลไร้สายที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมมีความต้องการที่จะประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ 1800 MHz และ 900 MHz ซึ่ง กสทช. จะจัดขึ้นในช่วงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 และวันที่ 15 ธันวาคม 2558 ตามลำดับ โดยการประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าวน่าจะเป็นการตอบโจทย์ทางธุรกิจในการต่อยอดการใช้งานการสื่อสารไร้สายความเร็วสูง ทั้งในด้านปริมาณคลื่นความถี่ รวมไปถึงการยกระดับประสิทธิภาพการให้บริการจากแผนที่ผู้ประกอบการโทรคมนาคมที่ชนะการประมูลจะนำคลื่นความถี่ดังกล่าวมาเปิดให้บริการบนเทคโนโลยี 4G ซึ่งมีเสถียรภาพในการใช้งานและความเร็วที่สูงกว่าเทคโนโลยี 3G อยู่ราว 4-5 เท่า

ระยะแรกของการของการให้บริการ 4G…คาดมีผู้ใช้บริการไม่สูงมากนัก

แต่โดยรวมทั้งปี 2559...ยอดผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือยังคงพุ่งทะลุ 38 ล้านคน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า หลังการประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าว ผู้ให้บริการโทรคมนาคมที่ได้รับใบอนุญาตน่าจะเร่งขยายโครงข่ายและทยอยเริ่มเปิดให้บริการ 4G ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2559 เพื่อชิงความได้เปรียบทางการตลาดและความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังมองว่า ในระยะแรก โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี 2559 สำหรับการเปิดให้บริการ 4G ผู้บริโภคส่วนใหญ่อาจจะยังไม่เปลี่ยนมาใช้บริการ 4G มากนัก เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังถือครองสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตที่รองรับเพียงแค่การใช้บริการ 3G โดยเฉพาะผู้บริโภคในต่างจังหวัดที่เพิ่งเปลี่ยนระบบการใช้งานจาก 2G มาเป็น 3G ทำให้ผู้บริโภคกลุ่มดังกล่าวอาจยังไม่เปลี่ยนผ่านสู่การใช้บริการ 4G ในระยะแรก

อีกทั้ง การใช้บริการ 3G ก็ยังสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพในระดับหนึ่ง ซึ่งสามารถตอบสนองกับความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบันได้ดี ไม่ว่าจะเป็นการดูวิดีโอออนไลน์ ฟังเพลง หรือการเข้าใช้สื่อโซเชียลเน็ตเวิร์ค เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้ประกอบการโทรคมนาคมก็มีแรงจูงใจด้านต้นทุนสำหรับการทำการตลาด เพื่อดึงดูดผู้บริโภคให้ใช้บริการ 4G น้อยกว่าเมื่อเทียบกับตอนเปิดให้บริการ 3G ในปี 2556 เนื่องจากการเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทาน 2G สู่ระบบใบอนุญาต 3G มีต้นทุนการจ่ายค่าธรรมเนียมที่ต่ำลงราว 10 เท่า ขณะที่ต้นทุนการจ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาต 4G จะเป็นอัตราเดียวกันกับใบอนุญาต 3G

จากเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในระยะแรกของการเปิดให้บริการ 4G ผู้ประกอบการน่าจะทำการตลาดสำหรับการให้บริการ 4G เพื่อแย่งความเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยี และทำการออกโปรโมชั่นแบบเฉพาะเจาะจงสำหรับผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อและมีความต้องการใช้บริการข้อมูลในระดับสูง ส่งผลให้กลุ่มผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่จะเปลี่ยนมาใช้บริการ 4G ในระยะแรก คือ กลุ่มที่ชื่นชอบและติดตามเทคโนโลยี และยังพอมีกำลังซื้อสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตรุ่นใหม่ที่รองรับ 4G ซึ่งคาดว่าจะกระจุกตัวตามกรุงเทพฯ ปริมณฑล และตามหัวเมืองใหญ่ในต่างจังหวัด อย่างไรก็ดี ในระยะถัดไป เมื่อเศรษฐกิจทยอยปรับตัวดีขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า จะมีผู้เข้ามาใช้บริการโมบายบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตผ่านโครงข่าย 4G เพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการโทรคมนาคมน่าจะทำการตลาดสำหรับการให้บริการ 4G เพื่อดึงดูดผู้บริโภคโดยทั่วไปมากขึ้น ซึ่งผู้บริโภคกลุ่มดังกล่าวมักมีการพิจารณาถึงอัตราค่าใช้บริการเป็นสำคัญ โดยอัตราค่าให้บริการ 4G ทั้งในด้านการให้บริการเสียงและข้อมูลได้มีการถูกกำหนดให้เรียกเก็บในอัตราที่ต่ำกว่าการให้บริการ 3G ซึ่งในปัจจุบัน อัตราค่าให้บริการด้านเสียงสำหรับ 3G โดยเฉลี่ยจะอยู่ราว 0.69 บาทต่อนาที ขณะที่อัตราค่าให้บริการด้านข้อมูลจะอยู่ที่ 266.2 บาทต่อกิกะไบต์ ส่งผลให้ผู้บริโภคโดยทั่วไปตัดสินใจง่ายขึ้นที่จะเปลี่ยนมาใช้บริการ 4G

ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า หากอัตราค่าให้บริการ 4G อยู่ในระดับราคาที่ต่ำลง พร้อมกับมีความเร็วและประสิทธิภาพที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับ 3G น่าจะส่งผลให้ในระยะถัดไป อัตราค่าให้บริการ 3G จะมีแนวโน้มลดลงตามกลไกตลาด ซึ่งส่งผลให้การบริการ 3G ยังคงเป็นทางเลือกในการใช้บริการสื่อสารข้อมูลความเร็วสูงแบบไร้สายที่สำคัญอยู่

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า โดยภาพรวมของปี 2559 จะมีผู้เข้าใช้บริการโมบายบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตทั้งที่ผ่านโครงข่าย 3G และ 4G ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าใช้บริการสูงถึง 38.4 – 39.7 ล้านคน ขยายตัวในกรอบร้อยละ 11.0 – 14.7 จากปี 2558 คิดเป็นอัตราการเข้าถึงโมบายบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตราวร้อยละ 60.4 – 62.6 ของประชากรทั้งหมด

การเกิด 4G…ส่งอานิสงส์ต่อธุรกิจหลากหลายในปี 2559

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การเปิดให้ บริการ 4G ในคลื่นความถี่ 900 MHz และ 1800 MHz จะก่อให้เกิดอานิสงส์โดยตรงต่อธุรกิจหลากหลาย โดยเฉพาะธุรกิจทางด้านโทรคมนาคม รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง โดยมีรายละเอียดดังนี้

➢ ธุรกิจวางโครงข่าย...ได้รับอานิสงส์จากเงินลงทุนกว่า 158,000 ล้านบาท ในระยะเวลา 2 ปี

ทางเทคนิค การให้บริการ 4G สามารถให้บริการบนโครงข่ายร่วมกับ 3G จึงทำให้คาดได้ว่า การลงทุนด้านโครงข่าย 4G ในระยะแรก ผู้ประกอบการโทรคมนาคมที่ได้รับใบนุญาตจะทำการอัพเกรดประสิทธิภาพการให้บริการจากโครงข่าย 3G ที่มีอยู่เดิม เพื่อให้สามารถรองรับการให้ บริการ 4G และ 3G พร้อมกัน ประกอบกับเร่งขยายโครงข่ายเพิ่มเติมในพื้นที่ที่มีการใช้งานสื่อสารข้อมูลที่หนาแน่น โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ปริมณฑล และตามหัวเมืองใหญ่

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในช่วงปี 2559 – 2560 จะมีเงินสะพัดสำหรับการลงทุนขยายโครงข่ายเพิ่มเติม รวมถึงเงินลงทุนอัพเกรดโครงข่ายเดิมโดยรวมประมาณ 158,000 ล้านบาท

➢ ตลาดให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่...คาดยอดรายได้การให้บริการข้อมูลทะลุ 130,000 ล้านบาท

จากจำนวนผู้เข้าใช้โมบายบรอดแบนด์ที่ยังคงมีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องดังที่กล่าวมาข้างต้น เป็นปัจจัยหนุนสำคัญที่ทำให้ภาพรวมตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยเฉพาะบริการด้านข้อมูล มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ทั้งนี้ ภายใต้สมมติฐานว่าการเปิดให้ บริการ 4G จะอยู่ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2559 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2559 มูลค่าตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยรวมจะอยู่ที่ประมาณ 219,841 – 223,064 ล้านบาท ขยายตัวราวร้อยละ 3.3 – 4.8 จากปี 2558 ที่คาดว่าตลาดโดยรวมจะมีมูลค่าอยู่ที่ 212,816 ล้านบาท โดยได้รับแรงผลักดันหลักจากการใช้บริการข้อมูลที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่า ในปี 2559 ตลาดบริการข้อมูลจะมีมูลค่าสูงถึง 131,652 – 133,693 ล้านบาท เติบโตราวร้อยละ 20.6 – 22.5 จากปี 2558 ที่คาดว่าจะมีมูลค่าอยู่ที่ 109,121 ล้านบาท ขณะที่มูลค่าตลาดด้านบริการเสียงในปี 2559 คาดว่า จะมีมูลค่าประมาณ 88,189 – 89,372 ล้านบาท หดตัวราวร้อยละ 13.8 – 15.0 จากปี 2558 ที่คาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 103,695 ล้านบาท อันเนื่องมาจากผู้บริโภคไทยมีความนิยมใช้สื่อออนไลน์ในการสื่อสารกันมากขึ้น

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า จากการที่มีผู้เข้าใช้บริการข้อมูลเพิ่มมากขึ้นภายหลังจากการเกิด 4G ดังที่กล่าวมาข้างต้น จะทำให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมได้โอกาสจากการเพิ่มการให้บริการต่างๆ ด้วยการต่อยอดสู่บริการออนไลน์บนอุปกรณ์เคลื่อนที่ที่มีการรับส่งข้อมูลขนาดใหญ่ ซึ่งต้องการความเร็วและความเสถียรในการรับส่งข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการบันเทิงบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ (Mobile Entertainment) ที่มีความคมชัดและความละเอียดสูงอย่างแท้จริง โดยเฉพาะการดูหนังหรือวิดีโอออนไลน์แบบ HD บนสมาร์ทโฟน หรือแม้แต่การให้บริการ Mobile Cloud Computing อย่างการให้บริการเก็บข้อมูลหรือรูปภาพ เป็นต้น

➢ ตลาดสมาร์ทโฟน...มูลค่าเติบโตต่อเนื่องราวร้อยละ 3.6 พุ่งแตะระดับ 92,540 ล้านบาท

ปัจจุบัน ผู้ผลิตโดยส่วนใหญ่ มีการผลิตและจัดจำหน่ายสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ ที่สามารถรองรับโครงข่าย 4G และน่าจะเพิ่มมากขึ้นหลังจากการเปิดให้บริการ 4G ทั้งนี้ แม้ว่ากำลังซื้อของภาคครัวเรือนที่อาจจะยังฟื้นตัวไม่มากนัก เนื่องจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง อาจเป็นปัจจัยกดดันต่อเนื่องต่อตลาดสมาร์ทโฟนในช่วงปี 2558 – 2559 อย่างไรก็ตาม ด้วยเทคโนโลยี 4G ที่จะเกิดขึ้น ประกอบกับกลยุทธ์ทางการตลาดของผู้ผลิตและจัดจำหน่ายในการออกโปรโมชั่นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการให้ส่วนลด หรือการเลือกผ่อนชำระเป็นระยะเวลานานโดยไม่มีดอกเบี้ย เป็นต้น รวมถึงการเปิดตัวสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ ด้วยฟังก์ชั่นที่หลากหลายและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น เช่น กล้องหน้าที่มีความละเอียดและคมชัดสูง รองรับการถ่ายภาพเคลื่อนไหวหรือการถ่ายภาพในน้ำ เป็นต้น อีกทั้ง ราคาสมาร์ทโฟนมีหลายระดับและอยู่ในระดับราคาที่ผู้บริโภคโดยทั่วไปสามารถจับจ่ายได้ จึงน่าจะเป็นแรงผลักดันหลักให้ผู้บริโภคบางส่วน โดยเฉพาะผู้บริโภคระดับกลางถึงระดับบนที่ยังพอมีกำลังซื้อ ตัดสินใจซื้อสมาร์ทโฟนเครื่องใหม่ได้ง่ายขึ้น รวมถึงผู้บริโภคบางส่วนที่จำเป็นต้องเปลี่ยนสมาร์ทโฟนเครื่องใหม่ เนื่องจากสมาร์ทโฟนเครื่องเดิมไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ

ในระยะถัดไป ซึ่งจะมีการให้บริการทั้ง 3G และ 4G พร้อมกันในตลาดนั้น โดยถึงแม้ว่าจะมีเทคโนโลยี 4G เกิดขึ้นใหม่ แต่เทคโนโลยี 3G ยังคงเป็นทางเลือกในการใช้บริการสื่อสารข้อมูลความเร็วสูงแบบไร้สายที่สำคัญอยู่ดังที่กล่าวมาข้างต้น ดังนั้น ผู้ประกอบการผลิตสมาร์ทโฟนในตลาด อาจต้องคำนึงถึงการผลิตและจัดจำหน่ายสมาร์ทโฟนที่สามารถรองรับการใช้บริการทั้ง 3G และ 4G ในเครื่องเดียว ในระดับราคาที่หลากหลาย เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคได้มากขึ้น ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ตลาดสมาร์ทโฟนไทยในปี 2559 จะมียอดจำหน่ายประมาณ 16.7 – 17.0 ล้านเครื่อง ขยายตัวราวร้อยละ 7.1 – 9.0 จากปี 2558 ที่คาดว่าจะมียอดจำหน่ายประมาณ 15.6 ล้านเครื่อง สำหรับในด้านมูลค่าตลาดสมาร์ทโฟนไทยในปี 2559 คาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 92,540 – 93,660 ล้านบาท ขยายตัวราวร้อยละ 3.6 – 4.9 จากปี 2558 เนื่องจากคาดว่าจะมียอดขายสมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้น โดยมีกลุ่มผู้บริโภคระดับกลางและระดับบนเป็นแรงผลักดันหลักตามที่กล่าวมาข้างต้น

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายธุรกิจที่จะได้รับอานิสงส์จาก 4G โดยทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายสินค้าออนไลน์ (E-Commerce) หรือการผลิตซอฟต์แวร์ โดยเฉพาะซอฟต์แวร์ที่เป็นการให้บริการผ่านอินเทอร์เน็ต เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาถึงรูปแบบการประกอบธุรกิจดังกล่าวในยุค 4G ที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า รูปแบบของการประกอบธุรกิจในยุค 4G อาจไม่มีความแตกต่างจากรูปแบบการประกอบธุรกิจในยุค 3G อย่างชัดเจนมากนัก แต่จะเป็นการเอื้อสำหรับการต่อยอดทางธุรกิจในรูปแบบที่มีอยู่เดิมให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นจากการใช้โมบายบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตด้วยความเร็วและเสถียรภาพที่มากขึ้น ซึ่งการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่มีประสิทธิภาพที่สูงขึ้นนั้น ย่อมเป็นปัจจัยผลักดันสำคัญอย่างหนึ่งที่จะทำให้มีผู้เข้าใช้บริการในธุรกิจต่างๆ ได้มากขึ้น และส่งผลให้มูลค่าตลาดของธุรกิจเหล่านั้นมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยสามารถอธิบายได้ดังนี้

➢ ตลาด E-Commerce...ขยายตัวกว่าร้อยละ 14.8 มูลค่าพุ่งสู่ระดับ 225,000 ล้านบาท

การเปิดให้ บริการ 4G ซึ่งมีความเร็วและความเสถียรที่เพิ่มขึ้น นับได้ว่าเป็นแรงผลักดันสำคัญต่อการยกระดับการให้บริการบนอินเทอร์เน็ตแบบไร้สาย รวมไปถึงการซื้อขายสินค้าออนไลน์ให้มีความสะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการดาวน์โหลดภาพตัวอย่างสินค้าได้อย่างรวดเร็ว และผู้บริโภคสามารถสั่งซื้อสินค้าได้ในระยะเวลาที่สั้นลง นำพาให้เกิดแรงกระตุ้นและแรงจูงใจให้ผู้บริโภคเข้ามาซื้อของออนไลน์ได้มากขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการ E-Commerce ก็สามารถทำรายการส่งเสริมการขายในรูปแบบที่ดึงดูดความน่าสนใจของผู้บริโภคได้มากขึ้นเช่นกัน เช่น การอัพโหลดวิดีโอหรือรูปภาพที่ผู้บริโภคสามารถดูได้หลายมุมมอง เป็นต้น ทั้งนี้ ผู้ประกอบการ E-Commerce ควรคำนึงถึงการพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับการบริหารจัดการข้อมูลภายในให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับกับการใช้บริการซื้อสินค้าออนไลน์ที่คาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นระบบตรวจนับสินค้าคงคลัง ระบบจัดเก็บข้อมูลคำสั่งซื้อของลูกค้า ระบบติดตามสินค้าระหว่างการขนส่ง เป็นต้น

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2559 มูลค่าตลาด E-Commerce จะพุ่งสูงแตะระดับ 230,000 - 240,000 ล้านบาท ขยายตัวราวร้อยละ 15.0 – 20.0 จากปี 2558 ที่คาดว่ามูลค่าตลาด E-Commerce จะอยู่ประมาณ 200,000 ล้านบาท หรือขยายตัวราวร้อยละ 16.3 จากปี 2557

➢ ตลาดผลิตซอฟต์แวร์เพื่อการบริโภคในประเทศ...ขยายตัวมากกว่าร้อยละ 14.2 พุ่งสู่ระดับ 65,000 ล้านบาท

ในยุคเทคโนโลยีการสื่อสารในปัจจุบัน การพัฒนาซอฟต์แวร์โดยส่วนใหญ่จะเป็นการให้บริการผ่านอินเทอร์เน็ตทั้งแบบมีสายและไร้สาย ไม่ว่าจะเป็นดาต้าเซ็นเตอร์ เครือข่ายสังคมออนไลน์ หรือแม้แต่การซื้อขายออนไลน์ เป็นต้น ส่งผลให้เกิดการขยายตัวของตลาดผลิตซอฟต์แวร์ในไทย ทั้งที่เป็นซอฟต์แวร์เพื่อรองรับกับความต้องการของผู้บริโภค รวมถึงซอฟต์แวร์ที่ใช้งานในบริษัท ซึ่งแนวโน้มดังกล่าว คาดว่า จะเพิ่มสูงขึ้นภายหลังจากการเปิดให้บริการ 4G เนื่องจากมีความเร็วและเสถียรภาพในการสื่อสารที่เพิ่มขึ้น และน่าจะทำให้ธุรกิจต่างๆ หันมาพัฒนาซอฟต์แวร์ด้วยการประยุกต์ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการทำงาน เช่น นักข่าวสามารถบันทึกภาพวิดีโอเหตุการณ์สำคัญด้วยความคมชัดและมีความละเอียดสูงจากสมาร์ทโฟน พร้อมทั้งสามารถเชื่อมต่อไปยังสถานีเพื่อออกอากาศแบบสดได้ เป็นต้น

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2559 ตลาดผลิตซอฟต์แวร์เพื่อใช้ในประเทศจะมีมูลค่าถึง 65,290 – 67,600 ล้านบาท ขยายตัวราวร้อยละ 13.3 – 17.3 จากปี 2558 ที่คาดว่าตลาดผลิตซอฟต์แวร์จะมีมูลค่าประมาณ 57,640 ล้านบาท ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 14.3 จากปี 2557

นอกเหนือจากธุรกิจต่างๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้น คาดว่าการเกิด 4G จะส่งอานิสงส์ทางอ้อมต่อธุรกิจบริการอื่นๆ อีกด้วย เช่น บริการบันเทิงออนไลน์ การศึกษาออนไลน์ และการบริการทางการแพทย์แบบออนไลน์ เป็นต้น

ขอบคุณข้อมูล และรูปภาพ จาก : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย