ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
  • เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/2558 ขยายตัวร้อยละ 2.9 (YoY) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขยับขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 2.8 (YoY) ในไตรมาส 2/2558 (ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 2.8 YoY) โดยแรงหนุนสำคัญยังมาจากการขยายตัวต่อเนื่องของการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ การบริโภคภาคเอกชน และรายรับจากการส่งออกภาคบริการ
  • แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 4/2558 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะยังคงรักษาโมเมนตัมการฟื้นตัวเมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส (QoQ) ไว้ได้ต่อเนื่อง โดยกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศบางส่วน น่าจะเริ่มทยอยได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม อัตราการขยายตัวของจีดีพีเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน อาจชะลอลงมาที่ร้อยละ 2.4 (YoY) ในไตรมาส 4/2558 เนื่องจากฐานเปรียบเทียบที่สูง และยังมีผลกระทบจากปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุม เช่น ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก และภาวะภัยแล้ง
  • สำหรับภาพรวมทั้งปี 2559 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงมีมุมมองเชิงระมัดระวัง และประเมินกรอบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2559 ในเบื้องต้นไว้ที่ประมาณร้อยละ 2.5-3.5 (โดยมีค่ากลางที่ร้อยละ 3.0) โดยมองว่า หากภาครัฐสามารถผลักดันแผนการใช้จ่ายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีผลเชิงรูปธรรมโดยเร็ว ก็อาจสามารถช่วยประคองทิศทางในภาพรวมของเศรษฐกิจไทยไว้ได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ดี ยังคงต้องติดตามหลายปัจจัยเสี่ยง อาทิ ภัยแล้ง และสัญญาณความอ่อนแอของประเทศคู่ค้าสำคัญ โดยเฉพาะจีนและเอเชีย ที่อาจมีผลทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยไม่กระจายครอบคลุมออกไปในทุกภาคส่วน
  • เศรษฐกิจไทยมีทิศทางกระเตื้องขึ้นต่อเนื่องในไตรมาส 3/2558 โดยจีดีพีที่ปรับฤดูกาลขยายตัวร้อยละ 1.0 (QoQ, s.a.) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ดีขึ้นเมื่อเทียบกับร้อยละ 0.3 (QoQ, s.a.) ในช่วงไตรมาส 2/2558 (ตลาดคาดที่ร้อยละ 0.7 QoQ, s.a.) โดยมีแรงหนุนจากการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน (โดยเฉพาะในหมวดสินค้าบริการ และสินค้ากึ่งคงทน/ไม่คงทน) และการส่งออกสินค้าและบริการที่ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากที่หดตัวตลอดช่วงครึ่งแรกของปี

ขณะที่ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 2.9 (YoY) ในไตรมาส 3/2558 ขยับขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 2.8 (YoY) ในไตรมาส 2/2558 ทั้งนี้ แม้จะต้องเทียบกับฐานที่สูงในช่วงในช่วงไตรมาส 3/2557 (ซึ่งเป็นช่วงภายหลังจากบรรยากาศทางการเมืองทยอยกลับสู่ภาวะปกติ) การอุปโภคบริโภคของครัวเรือนในไตรมาส 3/2558 ยังคงขยายตัวที่ร้อยละ 1.7 (YoY) ใกล้เคียงกับร้อยละ 1.6 (YoY) ในไตรมาส 2/2558 ขณะที่ การอุปโภคขั้นสุดท้ายของรัฐบาล และการลงทุนของภาครัฐ ขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ร้อยละ 1.0 (YoY) และ 15.9 (YoY) ตามลำดับ จากผลของการปรับเพิ่มเงินเดือนข้าราชการและการเร่งลงทุนในโครงการก่อสร้างของกรมทางหลวงและกรมชลประทานที่ได้มีการก่อหนี้ผูกพันไว้ในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี คงปฏิเสธไม่ได้ว่า การฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและภาวะการจ้างงาน ยังไม่กระจายตัวครอบคลุมไปในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะผลผลิตภาคเกษตรและประมง และภาคการส่งออกสินค้า ที่ยังมีภาพที่อ่อนแออย่างต่อเนื่อง

  • สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4/2558 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า จีดีพีในไตรมาสที่ 4/2558 ยังน่าจะสามารถประคองโมเมนตัมการขยายตัวไว้ได้ต่อเนื่องเมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส หลังจากที่ขยายตัวร้อยละ 1.0 (QoQ, s.a.) ในช่วงไตรมาส 3/2558 โดยแรงขับเคลื่อนที่สำคัญจะมาจากความต่อเนื่องของการใช้จ่ายเม็ดเงินของภาครัฐ รวมถึงเม็ดเงินจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เน้นการเยียวยาประชาชนผู้มีรายได้น้อยและธุรกิจขนาดเล็ก ตลอดจนการเร่งดำเนินโครงการลงทุนขนาดเล็กของภาครัฐในหลายๆ ส่วน เพื่อช่วยพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้ครอบคลุมในทุกภูมิภาค

อย่างไรก็ดี หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสสุดท้ายของปี 2558 อาจมีอัตราที่ชะลอลงมาที่ร้อยละ 2.4 (YoY) จากค่าเฉลี่ยประมาณร้อยละ 2.9 (YoY) ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2558 เนื่องจากปัจจัยเรื่องฐานเปรียบเทียบ ประกอบกับยังมีแรงฉุดจากการหดตัวต่อเนื่องของภาคการส่งออกและภาคเกษตรกรรม ที่ยังคงเผชิญแรงกดดันจากความเปราะบางทางเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นคู่ค้าสำคัญและความเสี่ยงจากภาวะภัยแล้ง ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุม สำหรับภาพรวมทั้งปี 2558 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงประเมินว่า เศรษฐกิจไทยอาจสามารถขยายตัวได้ใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ที่ร้อยละ 2.8 โดยมีแรงหนุนจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศที่เริ่มทยอยมีโมเมนตัมดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี

  • สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2559 นั้น แม้จะคาดว่า กลไกขับเคลื่อนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคส่วนต่างๆ น่าที่จะสามารถพลิกกลับมาขยายตัวสอดรับกันมากขึ้นในปี 2559 (หลังจากที่ผ่านพ้นจุดต่ำสุดในปี 2558 ไปแล้ว) อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงมีมุมมองเชิงระมัดระวัง และประเมินกรอบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2559 ในเบื้องต้นไว้ที่ประมาณร้อยละ 2.5-3.5 (ค่ากลางกรณีพื้นฐานที่ร้อยละ 3.0) เนื่องจากเส้นทางการฟื้นตัวที่ยังเปราะบางของเศรษฐกิจโลก และข้อจำกัดเชิงโครงสร้างในภาคการผลิต (ซึ่งยังต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยน) อาจทำให้การฟื้นตัวของภาคการส่งออกยังคงอยู่ในกรอบที่ค่อนข้างจำกัด ขณะที่ ปัญหาภัยแล้งที่น่าจะลากยาวข้ามปีจะยังคงเพิ่มแรงกดดันต่อผลผลิตและรายได้ในภาคการเกษตร ทั้งนี้ คงต้องติดตามอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และความต่อเนื่องของการใช้จ่ายเม็ดเงินในส่วนของภาครัฐ ที่อาจช่วยเสริมจังหวะการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงต้นปี 2559 ให้มีภาพที่ชัดเจนขึ้น ซึ่งสัญญาณบวกในส่วนนี้ จะมีความสำคัญในการสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการใช้จ่ายของภาคเอกชนให้สามารถประคองเส้นทางการฟื้นตัวขึ้นตามลำดับ
ขอบคุณข้อมูล จาก : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย