เศรษฐกิจไทยเปราะบาง จาก "หนี้ครัวเรือน" ที่เพิ่มสูงขึ้น
ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่ดูจะสิ้นหวัง รัฐบาลได้ออกแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งการอัดฉีดเงินผ่านกองทุนหมู่บ้าน เพื่อกระตุ้นการลงทุนโครงการขนาดเล็ก เพื่อให้คนมีกำลังจับจ่ายใช้สอย นอกจากนี้ยังออกนโยบายเพื่อกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยจะช่วยเปิดโอกาสให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถขอสินเชื่อได้ง่ายขึ้น ลดค่าธรรมเนียมการโอนจาก 2% เหลือ 0.01% ลดค่าจดจำนองจาก 1% เหลือ 0.01% และมาตรการอื่นๆอีกมาก ที่จะช่วยกระตุ้นให้ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กลับมาฟื้นตัวอีกครั้งหนึ่ง และมาตรการนี้เองก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากบรรดาผู้ประกอบการ ที่ปัจจุบันยังคงมีบ้านและคอนโดเหลือขายอีกเป็นจำนวนมาก ทั้งโครงการที่เปิดใหม่และสะสมมาจากปีก่อนๆ นโยบายนี้จึงถือเป็นแรงกระตุ้นที่ให้ผู้ประกอบการเร่งพัฒนาโครงการใหม่ๆออกสู่ตลาด แต่ในอีกด้านหนึ่งถ้าผู้ซื้อไม่ได้ซื้อบ้านด้วยเงินสด นโยบายนี้ก็อาจจะเป็นตัวผลักดันเพิ่มหนี้ครัวเรือนให้เพิ่มสูงขึ้นไปอีก
ภาพจาก : Bangkokpost
หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นสูงเป็นสามเท่าตั้งแต่ปี 2548ในปี 2548 ประเทศไทยมีหนี้ครัวเรือนประมาณ 3.4 ล้านล้านบาท และเพิ่มขึ้นมา 3 เท่าในปี 2558 ทำให้ปัจจุบันประเทศไทยมีหนี้ครัวเรือนทั้งสิ้น 10.7 ล้านล้านบาท เมื่อย้อนกลับไปมองหนี้ครัวเรือนของปีที่ผ่านๆมาตั้งแต่ปี 2548-2557 พบว่าหนี้ครัวเรือนมีอัตราการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 13.4% ถือเป็น 2 เท่าตัวของอัตราการเพิ่มขึ้นของ GDP
ปัจจุบันสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 80% อาจจะดูว่าเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง ลองสำรวจประเทศเพื่อนบ้านของเราในอาเซียน เริ่มต้นที่อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ที่มีหนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ 9.9% และ 7.1% ตามลำดับ แต่ที่น่าแปลกใจคือมาเลเซีย ที่มีตัวเลขหนี้ครัวเรือนต่อ GDP สูงถึง 85%
แล้วปัจจัยอะไรที่ทำให้หนี้ครัวเรือนสูง? มีที่มาจากหลายปัจจัยด้วยกัน ทั้งต้นทุนการกู้ยืมที่ต่ำและอายุเฉลี่ยของประชากร (เนื่องจากคนวัยหนุ่มสาวมีโอกาสกู้ยืมได้มากกว่า) แต่เชื่อว่าปัจจัยหลักที่ประเทศไทยและมาเลเซียพบเจอก็ คือ "นโยบายรัฐบาลที่กระตุ้นการซื้อ และเพิ่มอำนาจในการซื้อของผู้บริโภค" นั่นเอง
แผนการกระตุ้นเศรษฐกิจจากพื้นฐานการบริโภคดังที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า แผนการกระตุ้นเศรษฐกิจจะมีผลให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อมากขึ้น แม้กระทั่งผู้มีรายได้น้อย ดังนั้นนี่จึงเป็นวิธีที่ได้ผลมากที่สุดในระยะสั้น แต่เมื่อหมดสิ้นระยะเวลาของมาตรการนี้แล้ว ก็ถึงเวลาที่จะได้เห็นผลของมันที่แม้ว่าการบริโภคจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ก็มาพร้อมๆกับยอดหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าตกใจเช่นกัน หากยังไม่เห็นภาพ เราขอแนะนำให้ท่านลองกลับไปมองถึงนโยบายรถคันแรกเมื่อครั้งปี 2555 ว่าเกิดผลกระทบอะไรตามมาบ้าง?
ประเทศมาเลเซียเองก็มีนโยบายบ้านหลังแรกเช่นกันในปี 2554 อันเป็นผลให้ราคาบ้านตั้งแต่ปี 2551-2557 เพิ่มขึ้นสูงถึง 67% แต่ในขณะเดียวกัน หนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของประเทศมาเลซียเพิ่มสูงขึ้นจนถึง 80% จากเดิม 52%
แม้ว่าหากมองอย่างผิวเผิน นโยบายเหล่านี้อาจจะไม่มีผลอะไรกับหนี้ครัวเรือนโดยตรงนัก แต่นักวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ Daniel Aaronson, Sumit Agarwal และ Eric French พบว่าจากนโยบายการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำของสหรัฐฯ ในปี 2555 ทำให้ผู้คนเริ่มอยากจะใช้จ่ายมากขึ้น (มากเกินกว่าค่าแรงที่เพิ่มขึ้นมา) อันเป็นเหตุให้มีการกู้ยืม และเกิดเป็นยอดหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นนั่นเอง เหตุการณ์นี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับประเทศไทยในปี 2555 เมื่อครั้งที่มีการเพิ่มขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ซึ่งในจังหวัดที่ถูกเลือกให้เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ กลับมีอัตราหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น 17%
วิกฤตการณ์หนี้ครัวเรือนส่งผลให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมีประสิทธิภาพน้อยลงจากงานวิจัยของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ แสดงให้เห็นว่าหนี้ครัวเรือนไม่ใช่รากของวิกฤติทั้งหมด แต่เป็นเหมือนตัวส่งผล เพราะครัวเรือนที่เป็นหนี้สูงจะต้องเสี่ยงกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น รายได้และสินทรัพย์ลดลง
นอกจากนี้งานวิจัยยัง พบว่า อัตราหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นจะแปรผกผันกับประสิทธิผลของมาตรการรัฐบาล กล่าวคือหากอัตราหนี้ครัวเรือนต่อ GDP สูง 50-60% นั่นหมายความว่าแผนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลนั้นแทบไม่มีประสิทธิผลอะไรเลย สินเชื่อเพื่ออสังหาริมทรัพย์ VS สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อรถยนต์
องค์ประกอบของหนี้ครัวเรือนในประเทศไทยและมาเลเซียดูจะน่าเป็นห่วงกว่าประเทศอื่น จากกราฟจะเห็นได้ว่าในประเทศที่พัฒนาแล้ว อัตราหนี้ครัวเรือน 3 ใน 4 จะเป็นหนี้ครัวเรือนในรูปแบบของการจำนอง (สินเชื่อเพื่ออสังหาริมทรัพย์) แต่เมื่อย้อนกลับมาดูของประเทศไทยและมาเลซีย องค์ประกอบของหนี้ครัวเรือน 3 ใน 4 คือสินเชื่อบัตรเครดิต, สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อรถยนต์ ซึ่งสินทรัพย์เหล่านี้เป็นสินทรัพย์ที่มูลค่าลดลงอย่างรวดเร็ว ต่างจากอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นอยู่ทุกวัน นั่นก็ถือเป็นสินเชื่อเพื่อการลงทุนอย่างหนึ่งนั่นเอง
ดังนั้น การเป็นหนี้มีสองแบบคือ เป็นหนี้แล้วทำให้จนลง กับ เป็นหนี้แล้วรวยขึ้น ซึ่งน่าเสียดายว่าประเทศไทยและมาเลเซียเป็นแบบแรก
สุดท้ายแล้ว เราไม่ได้จะบอกว่ารัฐบาลไม่ควรออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่ขาลง เพราะเมื่อมองออกเป็น 2 ด้าน คือ งบประมาณของรัฐบาล ผ่านการออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ และการใช้จ่ายของประชาชนหรือการก่อหนี้ครัวเรือน จะต้องถูกจัดสรรอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัวอย่างเช่นที่เราเป็นอยู่ทุกวันนี้
ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : Bangkok Post แปลโดย TerraBKK.com