เปิด 8 โครงการ "ถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา" วงเงิน 35,835 ล้านบาท นำร่อง "ท่าน้ำนนท์" ชง ครม.ปีหน้า
เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2558 สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้จัดกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจร “โครงการศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ วิศวกรรม และสิ่งแวดล้อม ถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา” โดยนายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม และอดีตผู้อำนวยการ สนข. กล่าวถึงโครงการถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาว่าเพื่อส่งเสริมการใช้พื้นที่สาธารณะ เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจริมน้ำซึ่งจะเป็นทางสัญจรแบบไม่ใช้เครื่องยนต์ เช่น เดินเท้าและทางจักรยาน และอนาคตจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่เชื่อมต่อกับระบบคมนาคมอื่นๆด้วย
นายพีระพลกล่าวถึงกรอบการทำงานว่า สนข. จะสรุปผลการศึกษาทั้งหมดเสนอกระทรวงคมนาคมในไตรมาสแรกของปี 2559 และเสนอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งดำเนินโครงการ หลังจากนั้นจึงจะออกแบบรายละเอียดที่เป็นรูปธรรมชัดเจนมากขึ้น
ด้านนายกษิดิ วิชิตอักษรพงศ์ กรรมการบริหาร บริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าวว่า กรอบการศึกษาความเป็นไปได้และวางผังการพัฒนาพื้นที่เลียบแม่น้ำเจ้าพระยา แบ่งเป็น 8 พื้นที่ ระยะทาง 140 กิโลเมตร รวมทั้งเลือกพื้นที่นำร่อง 1 พื้นที่มาศึกษาออกแบบรายละเอียดเบื้องต้นตั้งแต่ 1 เมษายน 2558 – 31 ธันวาคม 2558 รวมระยะเวลา 9 เดือน ทั้งนี้จะมีรายงานฉบับสมบูรณ์, รายงานผังการพัฒนาพื้นที่เน้นรูปภาพที่ชัดเจน, แผนการพัฒนาโครงการ จะมีรายละเอียดงบประมาณ แนวทางที่จะการนำไปปฏิบัติจริง, รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น และรายละเอียดแบบโครงการเบื้องต้นของโครงการนำร่อง ซึ่งจะนำเสนอต่อ สนข. อย่างเป็นทางการในวันที่ 21 ธันวาคม 2558 นี้
อนุรักษ์วิถีชีวิต – 8 พื้นที่ 8 แนวคิด
สำหรับหลักการของทุกพื้นที่จะประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก 1) ทางสัญจร แบ่งเป็นทางริมน้ำกับการปรับปรุงทางเดิม เพื่อเชื่อมต่อกับระบบคมนาคมอื่นๆ และสร้างการเข้าถึง แต่ค่าใช้จ่ายไม่สูง 2) ศูนย์กลางกิจกรรม 3) สวนและลาน ซึ่งสัดส่วนจะแตกต่างไปในแต่ละโครงการ
นอกจากนี้ โครงการแต่ละแห่งจะมี “แนวคิด” แตกต่างกันไปตามพื้นที่ จากการลงพื้นที่ 8 ครั้ง มีการประชุมใหญ่ 2 ครั้ง รับฟังความเห็นประชาชนอีก 6 ครั้ง ชาวบ้านประมาณ 970 คน ปัญหาที่พบมี 3 ประเด็นใหญ่ 1) กังวลว่าถนนอาจจะสร้างอันตรายต่อบ้านตนเองเพราะโครงการผ่านตลอดแนวด้านติดแม่น้ำ ทางบริษัทได้แก้ไขปัญหาโดยออกแบบยืดถนนออกมาข้างนอกมากขึ้นไม่ให้ติดกับตัวบ้าน เพื่อให้เข้าถึงยากขึ้น 2) ถนนไม่มีคนดูแลจนกลายเป็นแหล่งมั่วสุมหรือก่ออาชญากรรม ตรงนี้ทางบริษัทได้เชิญท้องถิ่นมาหารือ โดยควรให้ท้องถิ่นดูแลหลังส่งมอบงาน ยกเว้นส่วนของสะพานที่กรมทางหลวงชนบทอาจจะต้องมาดูแล 3) แก้ไขปัญหาน้ำท่วมหลังแนวเขื่อน อันนี้อยู่นอกขอบเขตงานแต่ได้เสนอแนวแก้ไขทางวิศวกรรมไป
“จากการฟังเสียงชาวบ้านโดยตรง เขาบอกว่ามีปัญหาเรื่องน้ำเน่าเสีย น้ำท่วมหลังแนวเขื่อน เขาจึงบอกว่า ถ้าจะมาทำโครงการ อย่างแรกจะต้องเหมาะสมกับพื้นที่ ถนนไม่เอาแน่ๆ แต่ทางสัญจร บางคนอยากให้เราทำบางช่วงบางจุด บางคนอยากให้ทำตลอดแนว บางคนคัดค้านก็มีบ้าง แต่ฟังเสียงส่วนใหญ่แล้วอยากให้ทำ คัดค้านไม่เยอะมาก แล้วโครงการนี้เป็นการออกแบบเบื้องต้นเท่านั้น มีแนวเส้นทางที่ควรจะเป็น วงเงินลงทุนแบบคร่าวๆ เท่านั้น ส่วนตัวโครงการของจริงจะต้องจัดการออกแบบรายละเอียดอีก และต้องประชุมปรึกษาประชาชนอีก กว่าจะได้รายละเอียดโครงการทั้งหมด ดังนั้น ความกังวลว่าการสร้างถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาจะเปลี่ยนวิถีชีวิตริมน้ำจะไม่ค่อยมีเสียงคัดค้านมาก” นายกษิดิกล่าว
สำหรับ 8 โครงการ มีแนวคิดตามพื้นที่ดังนี้
18 ธันวาคม 2015
1.“เมืองสงบ น่าอยู่ อนุรักษ์วิถีชีวิตริมน้ำ” สำหรับเส้นทางปทุมธานี-สะพานนนทบุรี จะเชื่อมโยงกิจกรรมหลักและชุมชน 2 ฝั่งแม่น้ำด้วยการเดินทางโดยสะพานจักรยานและคนเดินเท้า, อนุรักษ์วิถีชีวิตริมน้ำด้วยการเน้นปรับปรุงถนนเดิมที่อยู่ใกล้แม่น้ำ รองรับทางจักรยาน, สร้างศูนย์กลางกิจกรรมริมน้ำของเมืองบริเวณหน้าตลาดเทศบาลเมืองปทุมธานี, เพิ่มเส้นทางเข้าถึงริมน้ำ, เชื่อมโยงพื้นที่เปิดโล่ง พื้นที่สีเขียว และแหล่งท่องเที่ยว, สร้างลานกิจกรรมสาธารณะริมน้ำ
2.“ชุมชนริมน้ำสะเทินน้ำสะเทินบก” สำหรับเส้นทางสะพานนนทบุรี-สะพานพระราม 4 จะสร้างแนวทางสัญจรแบบครบวงจร (LOOP) ระหว่างย่านที่พักอาศัย สะพานพระราม 4 และสะพานนนทบุรี ด้วยการเดินระหว่างชุมชน, สร้างทางสัญจรเลียบแม่น้ำ โดยเลือกรูปแบบลอยน้ำ เพื่ออนุรักษ์วิถีชีวิตริมน้ำ โดยออกแบบควบคู่กับการป้องกันตลิ่งกัดเซาะ, ปรับปรุงถนนเดิมให้รองรับทางจักรยาน โดยเฉพาะในทางลำน้ำแคบ ลดผลกระทบต่อการไหลของน้ำในแม่น้ำ, ปรับปรุงการเข้าถึง และจัดให้มีสวนและลานรูปแบบต่างๆ พักผ่อนตลอดแนวเส้นทาง
3.“แหล่งท่องเที่ยวเชิงวิถีชิวิต” สำหรับเส้นทางสะพานพระราม 4 – กรมชลประทาน จะมีการส่งเสริมการท่องเที่ยว “เกาะเกร็ด” ที่สะดวกด้วยการเดินทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม, อนุรักษ์วิถีชีวิตริมน้ำรอบเกาะเกร็ด, เชื่อมต่อเมืองปากเกร็ดกับระบบขนส่งมวลชนระบบราง, ปรับปรุงถนนเดิม เพื่อรองรับทางจักรยาน
4.“เชื่อมชุมชนพักอาศัยฝั่งตะวันตก สู่ระบบการเดินทางสาธารณะ” สำหรับเส้นทางกรมชลประทาน – สะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์ จะรักษาวิถีชีวิตชุมชนริมน้ำฝั่งตะวันตกเหนือสะพานพระนั่งเกล้า, สร้างแนวทางสัญจรเหนือ-ใต้ ฝั่งตะวันตก ตามแนวเขื่อนป้องกันน้ำท่วม เพื่อการเดินทางเชื่อมโยงระบบราง โดยออกแบบให้ต่ำว่าสันเขื่อนและมีการปรับภูมิทัศน์ให้เหมาะสม, เชื่อมโยงพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำสู่รถไฟฟ้าสายสีม่วงด้วยทางเดิน, ปรับปรุงถนนเดิม เพื่อรองรับทางจักรยาน, ส่งเสริมกิจกรรมริมน้ำหน้าสถานศึกษา, ปรับปรุงการเข้าถึงริมน้ำ จัดให้มีสวนและลานเพื่อการพักผ่อน
5.“ศูนย์กลางกิจกรรม นันทนาการ และการเดินทาง” สำหรับเส้นทางสะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์–สะพานพระราม 5 จะปรับปรุงพื้นที่ริมน้ำหน้าศาลากลางนนทบุรีเก่า ให้เป็นศูนย์กลางกิจกรรมสาธารณะของเมือง, สร้างทางสัญจรแนวเหนือ-ใต้ ฝั่งตะวันออก ตามแนวเขื่อนเดิมและโครงการเขื่อนป้องกันน้ำท่วม โดยออกแบบให้อยู่ระดับต่ำกว่าสันเขื่อน, สร้างทางสัญจรริมน้ำฝั่งตะวันออกและส่งเสริมการเข้าถึง เพื่อเป็นศูนย์กลางกิจกรรมพักผ่อน ออกกำลังกาย และนันทนาการ, สร้างสะพานจักรยานและคนเดินข้ามแม่น้ำ เพื่อเชื่อมโยงสองฝั่งแม่น้ำ, ปรับปรุงถนนที่ขนานแม่น้ำ เพื่อรองรับทางจักรยานและเชื่อมโยงกับระบบขนส่งทางราง
6.“แก้ปัญหาชุมชนหลังเขื่อน เชื่อมต่อระบบราง” สำหรับเส้นทางสะพานพระราม 5–สะพานพระราม 6 จะสร้างทางสัญจรแนวเหนือ-ใต้ ฝั่งตะวันตก ตามแนวเขื่อนป้องกันน้ำท่วม เพื่อการเดินทางเชื่อมโยงระบบราง โดยออกแบบให้ต่ำกว่าสันเขื่อนและมีการปรับภูมิทัศน์ให้เหมาะสม, สร้างทางสัญจรเลียบแม่น้ำฝั่งตะวันออก โดยออกแบบให้ลอยน้ำ เพื่อลดผลกระทบต่อชุมชนเก่า, ปรับปรุงสะพานพระราม 7 เชื่อมโยงย่านพักอาศัยฝั่งตะวันตกและเมืองฝั่งตะวันออกรวมทั้งรองรับทางจักรยาน, เชื่อมโยงโครงข่ายพื้นที่สีเขียวของสวนป่าพระราม 7 ทั้งสองฝั่ง, ปรับปรุงถนนเดิมรองรับทางจักรยาน, จัดสวนและลานตลอดแนวเส้นทาง
7.“กรุงเทพฯ สวรรค์แห่งความหลากหลายริมน้ำ” สำหรับเส้นทางสะพานพระราม 6–สุดเขต กทม. จะบูรณาการและเชื่อมโยงการวางผังแม่บทกับโครงการพัฒนาริมแม่น้ำเจ้าพระยาของกรุงเทพฯ และโครงการสำคัญที่เกี่ยวข้อง, ส่งเสริมการเชื่อมโยงความหลากหลายของกิจกรรม ชุมชน วัฒนธรรม สถาปัตยกรรมและภูมิทัศน์ริมน้ำตลอดแนว, ส่งเสริมให้สาธารณะสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากแม่น้ำได้อย่างสะดวกและปลอดภัย, สนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
8.“เชื่อมเมืองสู่ปอดของเมือง” สำหรับพื้นที่บางกระเจ้า จะรักษาพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม, สร้างทางสัญจรเลียบแม่น้ำทางด้านเหนือของบางกระเจ้าจากวัดบางกระเจ้านอกจนถึงท่าวัดบางน้ำผึ้ง เพื่อเป็นทางสัญจรทางเลือกรองรับการท่องเที่ยวและการเดินทางของคนในชุมชนในกรณีฉุกเฉินโดยออกแบบให้เป็นแบบลอยน้ำ เพื่อลดผลกระทบต่อภูมิทัศน์ธรรมชาติริมน้ำ, ปรับปรุงท่าเรือ เพื่อเชื่อมโยงพื้นที่บางพระเจ้า ปอดของกรุงเทพฯ กับศูนย์กลางเมืองกรุงเทพฯ ด้วยระบบขนส่งมวลชน เช่น ระบบรถโดยสารด่วนพิเศษ (BRT), BTS, MRT เป็นต้น, ปรับปรุงถนนและทางจักรยานเดิมในบางกระเจ้า เพื่อรองรับทางจักรยานที่จะหนาแน่นมากขึ้น
นำร่องโครงการท่าน้ำนนท์ – “ศูนย์กลางกิจกรรม นันทนาการ และการเดินทาง”
นายกษิดิกล่าวต่อว่า โครงการนำร่องที่บริษัทเลือกขึ้นมาคือ “โครงการ 5 – ท่าน้ำนนท์” เหตุผล
1) มีศูนย์กลางคือศาลากลางจังหวัดนนทบุรีเก่า ทางจังหวัดตั้งใจจะปรับปรุงอยู่แล้วด้วยงบประมาณ 800 ล้านบาท จะให้กรมศิลปากรมาดูเนื่องจากเป็นโบราณสถาน ส่วนโครงการฯ จะทำในส่วนพื้นที่โดยรอบ
2) มีการเดินทางข้ามฟากของประชาชนจากเทศบาลบางศรีเมืองมายังท่าน้ำนนท์สูง ประมาณ 2-3 หมื่นคนต่อวัน โดยประชาชนมีวิถีชีวิตคือมาที่ท่าน้ำนนท์แล้วข้ามฝากไปทำงานที่บางศรีเมือง ทางบริษัทจึงออกแบบให้ทำสะพานคนเดินและจักรยานข้ามเพื่อลดค่าใช้จ่ายการเดินทางของคน สร้างความปลอดภัยมากขึ้น และช่วยส่งเสริมให้มีการข้ามไปมาหาสู่กันด้วย
3) มีแหล่งท่องเที่ยวสวยงามในบริเวณนี้หลายแห่ง เช่น วัดสลักใต้, อุทยานเฉลิมกาญจนาภิเษก, และศาลากลางจังหวัด
4) แนวเส้นทางของโครงการนี้ตั้งแต่กรมราชทัณฑ์จนถึงท่าน้ำนนท์ เป็นส่วนราชการเกือบหมดเลย 1 กิโลเมตร
ขอขอบคุณข้อมูล จาก : thaipublica.org
รูปภาพหน้าปกจาก greennewstv.com
Discussion
Follow breaking news Investment property articles on Facebook, click here.