สมาคมสถาปนิกสยามฯ เปิดกิจกรรม งานสถาปนิก 2559 “ASA Back to Basic | อาษาสู่สามัญ” มุ่งเน้นให้สถาปนิก คิดถึงพื้นฐานด้านสถาปัตยกรรม สู่การออกแบบอย่างยั่งยืน พร้อมพบกับสุดยอดเทคโนโลยีการออกแบบสถาปัตยกรรมและวัสดุก่อสร้างที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาเซียน ระหว่างวันที่ 26 เมษายน – 1 พฤษภาคม 2559 ณ ชาเลนเจอร์ฮอลล์ 1—3 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี

นายพิชัย วงศ์ไวศยวรรณ นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดงานสถาปนิก 2559 ซึ่งนับเป็นการจัดงานครั้งที่ 30 ในวันอังคารที่ 26 เมษายน 2559 ถึงวันอาทิตย์ที่ 1 พฤษภาคม 2559 ณ อาคารชาเลนเจอร์ 1-3 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี เพื่อแสดงตัวตนและความเป็นเลิศทางด้านการออกแบบของสถาปนิกไทยในทุกสาขาวิชาชีพให้นานาชาติได้รับรู้และการนำเสนอผลงาน ความก้าวหน้าทางด้านวิชาชีพ นิทรรศการทางด้านสถาปัตยกรรม การอบรมสัมมนาในระดับนานาชาติ รวมทั้งการให้บริการต่างๆ ให้แก่สมาชิกและประชาชนทั่วไป ซึ่งการจัดงานสถาปนิกในแต่ละปีมุ่งสะท้อนให้สังคม มีความเข้าใจในวิชาชีพสถาปนิกในขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมองค์ความรู้ด้านวิชาชีพให้กับสถาปนิกและวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนเป็นเวทีให้สถาปนิกไทยได้จัดแสดงผลงานและเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ระหว่างกัน ซึ่งจะทำให้สถาปนิกไทยแข่งขันได้ในเวทีนานาชาติ ทั้งนี้เชื่อมั่นว่า การจัดงานสถาปนิก 2559 ในครั้งนี้จะทำให้วิชาชีพสถาปนิก และวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประชาชนทั่วไปได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วมชมงานที่จะจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 26 เมษายน – 1 พฤษภาคม 2559 ณ ชาเลนเจอร์ฮอลล์ 1-3 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี

รศ.ดร.ต้นข้าว ปาณินท์ ประธานจัดงานสถาปนิก 2559 กล่าวว่า การจัดงานสถาปนิก 2559 ในปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “ASA Back to Basic | อาษาสู่สามัญ” โดยเน้นการกลับไปคิดถึงพื้นฐานด้านสถาปัตยกรรม (Re-thinking Architectural Basics) ในทุกมิติของการออกแบบ เพื่อพัฒนางานออกแบบให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม วัฒนธรรม การอยู่อาศัย การใช้งานได้อย่างลงตัวและสมดุล โดยให้ความสำคัญกับความเป็นไปได้ในทุกมุมมอง ซึ่งการจัดงานในปีนี้จะให้ความสำคัญกับทุกส่วน ทุกองค์ประกอบคือไฮไลต์ของการจัดงาน โดยมีกิจกรรมที่น่าสนใจจำนวนมาก อาทิ

BASIC OF THE PAST

ซึ่งประกอบไปด้วย นิทรรศการอนุรักษ์ เป็นนิทรรศการที่เล่าเรื่องน่าประทับใจในอดีต แบ่งเป็นนิทรรศการย่อยๆ จัดแสดงภาพถ่ายอาคารซึ่งมีคุณค่าควรแก่การอนุรักษ์ รวมทั้งนิทรรศการรางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี 2559 นิทรรศการส่วนกรรมาธิการไทยประเพณี และนิทรรศการเครือข่ายอนุรักษ์ นิทรรศการ Vernadoc เป็นนิทรรศการเล่าเรื่องชุมชนและอาคารในย่านชุมชมเก่า เพื่อสร้างความตระหนักแก่ผู้อยู่อาศัย และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ให้เห็นถึงความสำคัญ และช่วยกันอนุรักษ์และพัฒนาย่านชุมชนเก่าที่เน้นกระบวนการทำงานร่วมกันระหว่างอาสาสมัคร นักวิชาการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาครัฐ เอกชน ผู้อยู่อาศัยในชุมชน และเครือข่ายผู้สนใจประวัติศาสตร์

BASIC OF THE PRESENT

นิทรรศการ Basic of the Present เป็นนิทรรศการที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมในปัจจุบัน ทั้งทางด้านแนวความคิด ที่มา กระบวนการ และลักษณะทางกายภาพที่ปรากฏเป็นอาคาร โดยนำเสนอผลงานออกแบบสถาปัตยกรรมที่ได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่น คัดเลือก โดยสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ นิทรรศการ Photo Essay นิทรรศการเล่าเรื่องสถาปัตยกรรม ผ่านภาพถ่าย ในแง่มุมต่างๆ เพื่อนำเสนอมิติของงานสถาปัตยกรรม ที่เราอาจไม่มีโอกาสได้พบเห็นในชีวิตประจำวัน รวมทั้งเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างงานสถาปัตยกรรมกับวิถีชีวิต ระบบสังคมวัฒนธรรมในปัจจุบัน นิทรรศการสถาปนิกชุมชน ร่วมเรียนรู้เสน่ห์ของการออกแบบอย่างมีส่วนร่วมกับผลงานสถาปนิกชุมชน และกลุ่มคนรุ่นใหม่ ในรอบ 1 ปี ที่ผ่านมาด้วยความร่วมมือจากสถาบันการศึกษา หน่วยงานราชการ กลุ่มวิชาชีพสถาปัตยกรรม นิทรรศการสถาปัตยกรรมดีเด่น’59 นำเสนอผลงานออกแบบสถาปัตยกรรมที่ได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่น คัดเลือกโดยสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในปี พ.ศ. 2559 นิทรรศการ Universal Design นำเสนอแง่มุมของการดำรงชีวิตร่วมกันในสังคมอย่างเท่าเทียม เพื่อสร้างทัศนคติใหม่ของการออกแบบอาคารเพื่อ ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็น เด็ก คนชรา คนพิการ และคนทั่วไป

BASIC OF THE FUTURE

นิทรรศการ Basic of the Future เป็นนิทรรศการที่สะท้อนมุมมองต่องานสถาปัตยกรรมและเมืองในอนาคต โดยจะเป็นการรวบรวมแนวความคิดจากผู้คนในวงการออกแบบและสร้างสรรค์แขนงต่างๆ ที่จะมาร่วมนำเสนอวิสัยทัศน์สู่อนาคต ผ่านสื่อหลากหลาย นิทรรศการ Future of the River เป็นนิทรรศการที่บอกเล่า ความเป็นมา ความสำคัญ และความหมายของแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อวิถีชีวิตของผู้คนในเมือง ตลอดจนแนวทางการพัฒนาสถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตยกรรม และสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ที่สัมพันธ์กับแม่น้ำ โดยกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่มีความสนใจและทำงานอย่างต่อเนื่องในการค้นหาแนวทางการพัฒนาสถาปัตยกรรมแห่งแม่น้ำ ฯลฯ

นอกจากนี้ยังมี นิทรรศการที่น่าสนใจอาทิ 100 Selected Project 2016 เป็นนิทรรศการหลัก เพื่อแสดงศักยภาพของสถาปนิกไทย มีจุดประสงค์เพื่อสร้างภาพรวม และการแสดงตัวตน ครั้งใหญ่ของสถาปนิกทั้งประเทศ ให้เกิดความเคลื่อนไหวแบบก้าวกระโดดในวงการสถาปนิกไทย นิทรรศการ ASA International Design Competition นิทรรศการแสดงผลงานการประกวดแบบในระดับนานาชาติ ASA International Design Competition ภายใต้หัวข้อ What Is the New ‘Basic’? นิทรรศการสถาบันการศึกษา เป็นนิทรรศการที่มุ่งหมายให้เป็นที่แสดงฝีมือของเหล่านิสิต นักศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันการศึกษาต่างๆ เพื่อยกระดับแสดงความเป็นเลิศในหลายทิศทางของนิสิต นักศึกษา นิทรรศการผลงานสมาคมวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง ,นิทรรศการสมาคมต่างประเทศ ฯลฯ

นายชาตรี มรรคา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีทีเอฟ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้จัดงาน กล่าวว่า การจัดงานสถาปนิก 2559 ในส่วนของการจัดแสดงเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศในการเข้าร่วมจัดแสดงกว่า 800 ราย ทั้งไทยและต่างประเทศ บนพื้นที่ 75,000 ตารางเมตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้พื้นที่ส่วนแสดงสินค้าของผู้ประกอบการต่างชาติมีเพิ่มขึ้นกว่าทุกปี โดยพื้นที่จัดแสดงสินค้าจากต่างประเทศโซน International Pavilion ที่ 2,500 ตารางเมตร เพิ่มขึ้นจากงานครั้งก่อนประมาณ 23.44% โดยมีผู้จัดแสดงสินค้าที่น่าสนใจ อาทิ

  • สาธารณรัฐเชค (Czech Republic) ครั้งแรกของประเทศจากแถบยุโรปตะวันออกในงานสถาปนิก ที่นำผลิตภัณฑ์แชนเดอร์เลียร์จากแก้วคริสตัลคุณภาพระดับพรีเมี่ยมในดีไซน์ Modern มาโชว์
  • เกาหลีใต้ (South Korea) ที่เข้าร่วมงานสถาปนิกครั้งแรก กับการเสนอนวัตกรรม All-in-One โครงสร้างดาดฟ้าของอุตสาหกรรมใหญ่ พร้อมการนำเสนอกิจกรรมผสานวัฒนธรรมเกาหลีเข้ากับงานออกแบบและผลิตภัณฑ์

นอกจากนี้ สิ่งที่พิเศษเป็นอย่างยิ่งสำหรับการจัดงานสถาปนิก’59 ในโซนจัดแสดงผลิตภัณฑ์และวัสดุก่อสร้างสำหรับอาคารเขียว (Green Building Materials) ที่รวบรวมผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีที่คำนึงถึงการประหยัดพลังงานจากผู้จัดแสดงจำนวน 18 ราย อาทิ

  • ไม้ Biowood นวัตกรรมใหม่ของไม้รักษ์โลก ที่มีตัวกันความร้อน ช่วยประหยัดพลังงานและมีคุณสมบัติฟอกอากาศ
  • ถังกรองน้ำระบบชีวภาพ สามารถบำบัดน้ำเสียและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ช่วยลดค่าไฟฟ้า ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ
  • บ้านโซลาร์ประหยัดพลังงาน ต้นแบบของบ้านที่ช่วยผลิตพลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์

และครั้งแรกในระดับภูมิภาคอาเซียนและในกลุ่มประเทศ AEC ที่มีการริเริ่มและรณรงค์ทั้งในส่วนผู้จัดงานและผู้แสดงสินค้าในเรื่องการผสานการออกแบบพื้นที่จัดแสดงตามแนวคิด “การออกแบบเพื่อคนทั้งมวล” หรือ “Universal Design Concept” ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และหวังให้เป็นต้นแบบให้กับงานแสดงสินค้าในเขตภูมิภาคนี้เช่นกัน

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมอื่นๆ ที่น่าสนใจ อาทิ การประกวดออกแบบบูธและนวัตกรรมจากผู้จัดแสดง แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) บูธสีเขียว (Green Booth) และการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล (Universal Design) Exhibitor Forum สัมมนาจากผู้จัดแสดงสินค้ากับการเสนอข้อมูลเชิงลึก และกิจกรรมต่างๆ จากผู้จัดแสดงสินค้า การประกวดเพ้นท์สุขภัณฑ์ ครั้งที่ 6 กิจกรรมส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และการใช้ไอเดียต่างๆ สร้างแรงบันดาลใจในการออกแบบ โดยทีมเข้าร่วมประกวดทั้งประเภทบุคคลทั่วไปและสถาบันการศึกษา โดยชิ้นงานที่ร่วมประกวดจะมอบให้กับ “มูลนิธิกระจกเงา” Business Matching พื้นที่สำหรับการเจรจาธุรกิจที่เปิดโอกาสให้ผู้สนใจพบปะแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงธุรกิจกับผู้ประกอบการที่จัดแสดง

และเพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ชมงาน มีรถรับ-ส่ง (Mini Van) บริการฟรี จากสถานีรถไฟฟ้า BTS และสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ถึงอิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยให้บริการเวลา 10.00 – 20.00 น. และดูข้อมูลรายละเอียดต่างๆ ของงานได้อย่างง่ายดายด้วย ArchitectExpo Application โดยสามารถดาวน์โหลดได้ทั้ง IOS และ Android สำหรับสถาปนิกที่มาชมงานสามารถลงทะเบียนเข้าชมงานได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้นกับช่องลงทะเบียนพิเศษสถาปนิก (Architect Only Lane) บริเวณเคาน์เตอร์ C8 และ C9 อาคารชาเลนเจอร์ 2

ขอบคุณข้อมูล จาก : ww.architectexpo.com