กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ร่วมมือกับ สถาบัน เอพี อะคาเดมี่ (ศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านอสังหาริมทรัพย์แห่งแรกในประเทศไทย) จัดอบรมพิเศษหัวข้อ "รอบด้านงานช่างไฟฟ้ากับการรับรองฝีมือแรงงาน" ณ โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว บางกอก ฟอร์จูน (วันที่ 31 พฤษภาคม 2559) เพื่อเดินหน้ายกระดับฝีมือแรงงานช่างไฟฟ้าในประเทศไทย เสริมทักษะความรู้ ความเข้าใจ และขั้นตอนการได้มาซึ่งหนังสือรับรองความสามารถให้แก่บุคคลทั่วไปที่ประกอบวิชาชีพช่างไฟฟ้า ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน พ.ศ. 2545 และแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2559 เป็นต้นไป

ตามประกาศกระทรวงแรงงาน ที่กำหนดให้ สาขาอาชีพช่างไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์, สาขาช่างไฟฟ้าภายในอาคาร เป็นสาขาอาชีพที่อาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะ โดยผู้ที่ดำเนินการในอาชีพดังกล่าวจะต้องมีหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน พ.ศ.2545 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2559 เป็นต้นไป ซึ่งสถาบัน เอพี อะคาเดมี่ และ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ได้ตระหนักถึงความสำคัญ โดยอยากเห็นการพัฒนาบุคคลากรในสาขาวิชาชีพดังกล่าวมีมาตราฐานตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการเอกชน และเพื่อเป็นการยกระดับฝีมือแรงงานช่างไฟฟ้าของประเทศไทย จึงได้มีการจัดอบรมพิเศษให้แก่บุคคลทั่วไป ในหัวข้อเรื่อง รอบด้านงานช่างไฟฟ้ากับการรับรองฝีมือแรงงาน เพื่อเป็นการสนับสนุน และผลักดัน ช่างไฟฟ้าทุกคนในประเทศไทยได้รับการรับรองความรู้ความสามารถตามนโยบายที่ทางกระทรวงแรงงานประกาศไว้

สำหรับหัวข้อในการอบรมเรื่อง "รอบด้านงานช่างไฟฟ้ากับการรับรองฝีมือแรงงาน" ผู้เข้ารับการอบรมจะได้รับความเข้าใจเกี่ยวกับใบรับรองความรู้ความสามารถช่างไฟฟ้าตามพระราชบัญญัติฯ, หลักการช่างไฟฟ้า, เจาะลึกวงจรไฟฟ้าสำหรับอาคาร, การทดสอบมาตรฐานแรงงาน และขั้นตอนในการ ขอหนังสือรับรอง โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ซึ่งผู้เข้าอบรมในวันนี้สามารถนำใบประกาศนี้ไปใช้ในการสะสมชั่วโมงเพิ่มเติม เพื่อเป็นคะแนนสำหรับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาช่างไฟฟ้าภายในอาคาร

รายละเอียด การทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาช่างไฟฟ้าภายในอาคาร ซึ่งอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 22 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545 คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน กำหนดคุณสมบัติผู้เข้ารับการทดสอบสาขาอาชีพช่างไฟฟ้าภายในอาคาร ไว้ดังนี้

  1. มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ (นับถึงวันยื่นสมัครขอทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน)
  2. มีประสบการณ์การทำงานหรือปฏิบัติอาชีพเกี่ยวกับสาขาอาชีพช่างไฟฟ้าภายในอาคารไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือ
  3. ผ่านการฝึกฝีมือแรงงานหรือฝึกอาชีพในสาขาอาชีพช่างไฟฟ้าในอาคารไม่น้อยกว่า 540 ชั่วโมง หรือมีประสบการณ์จากการฝึก หรือปฏิบัติงานในกิจการในสาขาที่เกี่ยวข้องไม่น้อยกว่า 250 ชั่วโมง
  4. เป็นผู้ที่จบการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.3) ในสาขาที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ งานใช้อุปกรณ์ป้องกันกระแสเกิน เช่น อุปกรณ์ตัดวงจรอัตโนมัติ (Circuit breaker) และฟิวส์, งานเดินสายไฟฟ้าด้วยเข็มขัดรัดสาย, งานเดินสายไฟฟ้าด้วยท่อร้อยสายไฟฟ้า, งานติดตั้งและต่อวงจรไฟฟ้าสำหรับบริภัณฑ์ไฟฟ้า, งานต่อตัวนำแบบต่างๆ, งานตรวจสอบการทำงานของวงจรไฟฟ้า

โดยเกณฑ์การประเมิน ผู้เข้ารับการประเมินจะต้องมีคะแนนการประเมินตั้งแต่ 85 คะแนนขึ้นไปจากคะแนนรวมทั้งหมด 100 คะแนน ซึ่งสามารถแบ่งการเกณฑ์การประเมินได้ดังนี้

  1. ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ 50 คะแนน
  2. มีประสบการณ์การทำงาน / คุณวุฒิทางการศึกษา / ประสบการณ์การทำงาน / การอบรม / สัมมนา 25 คะแนน
  3. คุณลักษณะส่วนบุคคล 25 คะแนน

ข้อควรรู้

ข้อระมัดระวังและการบำรุงรักษาวัตต์มิเตอร์
  1. ควรศึกษาการใช้วัตต์มิเตอร์ให้เข้าใจเป็นอย่างดีเสียก่อน
  2. ต้องคำนึงถึงขั้วการวัด
  3. การวัดต้องคำนึงถึงย่านวัด
  4. การปรับย่านวัดแต่ละครั้ง ควรนำสายออกจากจุดวัดเสมอ
  5. ป้องกันไม่ให้มิเตอร์ได้รับการกระทบกระเทือน
  6. ในการวัดแต่ละครั้งระวังอันตรายจากไฟฟ้าดูด

หลักการเบื้องต้นในการออกแบบและเขียนแบบไฟฟ้า

การออกแบบไฟฟ้า หมายถึง การพัฒนาแบบวิธีการเพื่อจ่ายกำลังไฟฟ้า สัญญาณไฟฟ้าไปยังอุปกรณ์ปลายทาง การออกแบบเป็นงานที่มีความกล้างมาก ต้องใช้ข้อมูลมากมายในการตัดสินใจเลือกใช้อุปกรณ์ให่เหมาะสมเพื่อให้ได้ระบบที่ดี ถูกต้อง และปลอดภัย และการเลือกใช้สัญลักษณ์ที่ใช้ในการเขียนแบบไฟฟ้าทั่วไปได้ถูกต้อง การออกแบบระบบไฟฟ้า ภายในสำหรับบ้านพักอาศัยนั้นต้องการข้อมูลที่จำเป็นเบ้องต้นในการออกแบบดังนี้

  1. แบบบ้าน
  2. ตำแหน่งเครื่องใช้และอุปกรณ์ไฟฟ้า
ขั้นตอนการออกแบบแบ่งได้ดังนี้
  1. กำหนดตำแหน่งเครื่องใช้และอุปกรณ์ไฟฟ้าตามแบบทั่วไปของบ้านและจากการสำรวจความต้องการของเจ้าของบ้านและจากการประมาณความต้องการของโหลดในอนาคต
  2. แบ่งวงจรย่อย คำนวณขนาดของวงจรย่อย เลือกขนาดของเซอรืกิตเบรกเกอร์ และขนาดของวงจรย่อย
  3. คำนวณสายป้อนสำหรับวงจรย่อย (ถ้ามี) เลือกขนาดเวอร์กิตเบรกเกอร์และขนาดสายป้อน
  4. คำนวณสายเมนเข้าอาคาร เลือกขนาดเซอร์กิตเบรกเกอร์ และขนาดสายเมน
  5. เลือกขนาดสายดิน และติดตั้งสายดิน
  6. เขียนแบบการเดินสายและแบบวงจรไฟฟ้า
ขอบคุณข้อมูลจาก : AP ACADEMY และ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน