คิดว่าคนส่วนใหญ่คงเห็นด้วยว่า ตอนทำประกันรถยนต์น่ะง่าย แต่ตอนเคลมประกันเนี่ยทำไมมันยากเย็นเหลือเกิน วันนี้เรามาดูปัญหายอดฮิตเกี่ยวกับ การเคลมประกันรถยนต์ กันค่ะ

1. วิธีการเคลม

วิธีการเคลมทั้งหมดมี 2 แบบนะคะ คือ การเคลมสด และ การเคลมแห้ง
    ➢ การเคลมสด คือ การเคลมประกันที่จะต้องมีพนักงานเคลมจากบริษัทประกันมาตรวจ ณ ที่เกิดเหตุ มีคู่กรณี มีผู้ได้รับบาดเจ็บ หรือรถคันเอาประกันและคันคู่กรณีได้รับความเสียหายอย่างมากค่ะ ➢ การเคลมแห้ง คือ การเคลมประกันที่ไม่จำเป็นจะต้องเรียกพนักงานเคลมจากบริษัทประกันมาตรวจ ณ ที่เกิดเหตุ อาจจะมีความเสียหายเพียงเล็กน้อย หรือสามารถตกลงกันระหว่างคู่กรณีได้เอง หรือไม่มีคู่กรณี

2. ซ่อมอู่ ซ่อมห้าง

ปกติแล้วการซ่อมรถไม่ได้จำเป็นจะต้องเลือกซ่อมกับอู่ หรือห้าง (ศูนย์) ที่เป็นคู่สัญญากับบริษัทประกันนะคะ
    ➢ การซ่อมอู่ คือ การที่เรานำรถยนต์เข้าซ่อมกับอู่ในเครือของบริษัทประกัน โดยเราจะได้รับความสะดวกสบายในการติดต่อ การอนุมัติราคาค่าซ่อม ค่าอะไหล่ ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ด้านเอกสาร และการรับประกันคุณภาพการซ่อมการบริการ ➢ การซ่อมห้าง คือ การที่เรานำรถยนต์เข้าซ่อมกับศูนย์ (ห้าง) โดยตัวผู้เอาประกันจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบส่วนต่างราคาค่าซ่อม ค่าอะไหล่ ค่าบริการต่างๆ ด้วยตัวเอง เพราะอู่นั้นไม่ได้เป็นคู่สัญญาหรืออยู่ในเครือสัญญาของบริษัทประกันนั่นเองค่ะ

3. ค่า Excess ค่า Deductible

ค่า Excess หรือค่า Deductible คือ ค่าเสียหายส่วนแรก ซึ่งจะระบุเป็นจำนวนเงินที่ผู้เอาประกันยินยอมรับผิดชอบความเสียหายส่วนแรกนี้เอง โดยมีจำนวนระบุไว้ในกรมธรรม์ ระหว่าง 2,000 - 5,000 บาท โดยส่วนที่เกินจากจำนวนนี้ทางบริษัทประกันภัยจะเป็นผู้รับผิดชอบให้ โดยจะต้องไม่เกินวงเงินคุ้มครองตามที่ตกลงกันไว้ในกรมธรรม์
    ➢ ส่วนค่าส่วนร่วมทำสี กรณีนี้เป็นการพิจารณาร่วมรับผิดชอบระหว่างผู้เอาประกัน และบริษัทประกัน โดยตรวจสอบจากความเหมาะสม จากลักษณะความเสียหายที่เกิดขึ้น และจากประวัติของผู้เอาประกัน เพื่อให้มีการพิจารณาอย่างมีหลักการและเป็นธรรม

4. กรณีรถคันเอาประกันเสียหาย โดยไม่มีคู่กรณี

กรณีที่รถคันเอาประกันเสียหาย โดยผู้เอาประกันอาจจะไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ทำให้เสียหาย ไม่มีคู่กรณี หรือคู่กรณีหลบหนี ผู้เอาประกันไม่สามารถจำรายละเอียดได้ ทางผู้ขับขี่หรือผู้เอาประกันจะต้องไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบ ติดตามเพื่อดำเนินคดี แต่ว่าหากยังไม่สามารถระบุให้บริษัทประกันทราบได้ ทางผู้เอาประกันก็จะต้องรับผิดชอบค่า Excess หรือค่า Deductible ตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ในทุกกรณีไปค่ะ

5. เปลี่ยนอะไหล่

หากเราต้องการเปลี่ยนอะไหล่รถยนต์ มีข้อกำหนดว่าอะไหล่รถยนต์ชิ้นดังกล่าวจะต้องมีความเสียหายมมากกว่า 50% ขึ้นไป และหลักการพิจารณาของบริษัทประกันมีดังต่อไปนี้
    ➢ รถยนต์อายุไม่เกิน 2 ปี จะทำการเปลี่ยนอะไหล่ของแท้ให้ใหม่ ➢ หากรถยนต์คันเอาประกันเกิดอุบัติเหตุหลายครั้งภายใน 2 ปี อาจจะต้องพิจารณาเป็นรายการ โดยบางรายการอาจจะสามารถเปลี่ยนเป็นอะไหล่แท้เก่า ➢ กรณีมีความเสียหายมาก และเป็นการเหมาซ่อมทั้งคัน รวมค่าแรง ค่าอะไหล่ จะพิจารณาตามความเหมาะสมเป็นกรณีไป โดยอู่จะเป็นผู้รับผิดชอบงานซ่อมจนเสร็จสมบูรณ์ ➢ การเปลี่ยนอะไหล่จะต้องเลือกใช้อะไหล่แท้เท่านั้นเพราะว่ามีความเกี่ยวเนื่องกับความปลอดภัยของการใช้งานรถยนต์โดยตรง ➢ กรณีอะไหล่นำเข้า ทางบริษัทประกันจะรับผิดชอบค่าขนส่งทางเรือให้เท่านั้น หากเป็นการนำเข้าด้วยวิธีอื่นๆ ผู้เอาประกันจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง

6. การร่วมรับผิดชอบค่าเสื่อมสภาพ

กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ไม่มีการคุ้มครองการเสื่อมสภาพและการสึกหรอของรถยนต์เนื่องจากการใช้งาน แต่ยังมีข้อยกเว้นบางประการที่บริษัทประกันจะพิจารณาร่วมรับผิดชอบได้ ดังนี้
    ➢ กรณีรถคันเอาประกันมีชิ้นส่วนผุกร่อน แล้วเกิดอุบัติเหตุโดยเป็นการเคลมสด (มีคู่กรณี) ผู้เอาประกันจะต้องรับประกันกรณีผุกร่อน ส่วนทางบริษัทประกันจะรับผิดชอบค่าทำสีให้เท่านั้น ➢ กรณีอะไหล่เสื่อมจากการใช้งาน คือ แม้ไม่เกิดอุบัติเหตุผู้เอาประกันก็ต้องเปลี่ยนอะไหล่ตามตารางบำรุงรักษารถ ➢ หากเป็นการเปลี่ยนอะไหล่แท้ใหม่ จะต้องมีการหักส่วมเสื่อมสภาพตามจริง หากเกิดอุบัติเหตุยางรถยนต์แตก ถ้าบริษัทประกันรับผิดชอบเป็นเปอร์เซ็นต์ ทางผู้เอาประกันไม่ต้องร่วมรับผิดชอบในส่วนเสื่อมสภาพ แต่หากเป็นการเปลี่ยนยางใหม่ บริษัทประกันจะรับผิดชอบค่ายาง 50% และผู้เอาประกันจะต้องรับผิดชอบส่วนที่เหลือ ➢ หากเป็นส่วนประกอบที่เป็นน้ำมันหล่อลื่น บริษัทประกันจะร่วมรับผิดชอบ 50%

7. กรณีกระจกแตก

กรณีเกิดอุบัติเหตุและกระจกแตก กรมธรรม์ประกันภัยจะรับผิดชอบค่าเสียหายสำหรับกระจกและฟิล์มตามประเภทและรุ่นที่ติดตั้งไว้ตอนทำประกัน จะต้องมีเอกสารรับรองที่ถูกต้องด้วย โดยผู้เอาประกันสามารถนำรถคันเอาประกันเข้าเปลี่ยนกระจกที่ร้านในเครือของบริษัทได้ตลอด โดยจะดำเนินการเหมือนกับกรณีเคลมแห้งนั่นเอง

8. ทำสีรอบคัน

กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์จะให้ความคุ้มครองกรณีที่รถคันเอาประกันเกิดอุบัติเหตุเท่านั้น โดยจะไม่รับผิดชอบการเสื่อมสภาพจากการใช้งาน หากผู้เอาประกันแจ้งทำสีรอบคัน บริษัทประกันจะทำการตรวจสอบดังต่อไปนี้
    ➢ ตรวจสอบความเสียหาย ว่าเกิดจากอุบัติเหตุหรือไม่ เชื่อถือได้แค่ไหน ➢ หากเป็นกรณีประนีประนอม จะตรวจสอบประวัติผู้เอาประกันว่าทำประกันมาแล้วกี่ปี เคลมมากี่ครั้ง ตรวจสอบบาดแผลที่ตัวรถว่าเกิดจากเหตุจริง หรือเป็นการแจ้งซ่อมเพราะต้องการปรับปรุงสีใหม่ ➢ หากทำประกันปีแรกแล้วจะแจ้งซ่อมจะมีการเรียกเก็บค่ารับผิดชอบร่วมอย่างน้อย 50% ของค่าซ่อมทั้งหมด ➢ หากทำประกันมาแล้วหลายปี มักจะเป็นกรณีประนีประนอมร่วมรับผิดชอบความเสียหาย โดยจะต้องมีการตรวจสอบประวัติการเคลมของผู้เอาประกันเป็นหลัก โดยทางพนักงานบริษัทประกันจะแจ้งราคาส่วนร่วมรับผิดชอบนี้แก่ผู้เอาประกันหลังจากได้พิจารณาจากปัจจัยอย่างเหมาะสมและยุติธรรม

9. รถยนต์มีความเสียหายก่อนทำประกัน

หากรถยนต์มีแผลเก่าที่เกิดขึ้นก่อนการทำประกัน กรณีนี้ ถ้าเป็นการแจ้งซ่อมหรือเคลมแห้ง ทางบริษัทประกันจะไม่สามารถรับผิดชอบได้เพราะว่าเป็นแผลที่เกิดนอกเหนือช่วงเวลาการทำประกันนั่นเองค่ะ แต่หากเป็นแผลที่เกิดตอนเคลมสด ซ้ำแผลเดิม และมีความเสียหายมากกว่า ก็อาจจะตกลงแบ่งความรับผิดชอบกัน 50% ระหว่างผู้เอาประกัน และบริษัทประกัน แต่หากความเสียหายมากต้องมีการเปลี่ยนอะไหล่ ทางบริษัทประกันจะรับผิดชอบค่าเปลี่ยนอะไหล่ แต่ค่าทำสีทางผู้เอาประกันจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ หรือร่วมรับผิดชอบ 50% แล้วแต่ความเสียหายของแต่ละกรณีไปค่ะ

10. ประกันรถยนต์กับอุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์

ประกันภัยรถยนต์จะให้ความคุ้มครองอุปกรณ์ตกแต่งมาตรฐานที่มีมากับตัวรถคันเอาประกันเท่านั้น หากเราต้องการตกแต่งรถยนต์เพิ่มเติม เราจะต้องทำการแจ้งให้บริษัทประกันทราบก่อนนะคะ หากไม่ได้แจ้งไว้ ทางบริษัทก็จะสามารถชดใช้ให้ได้ไม่เกินมูลค่ามาตรฐานชุดตกแต่งที่ติดมากับตัวรถตอนทำประกันเท่านั้นค่ะ อย่างไรก็ตาม ฝ่ายบริษัทประกันภัย จะมีการกำหนดความคุ้มครองไว้ไม่เกิน 10% ของทุนประกัน สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาทค่ะ

11. การเบิกเงินค่าซ่อมรถ

ปกติแล้ว หากเรานำรถยนต์คันเอาประกันไปซ่อมกับอู่ในเครือของบริษัทประกัน ทางอู่จะดำเนินการด้านเอกสารให้ทั้งหมด เพราะว่าเป็นคู่สัญญากับบริษัทประกัน แต่หากเป็นกรณีที่ผู้เอาประกันสำรองจ่ายค่าซ่อม หรือค่าใช้จ่ายบางอย่างไป หรือเป็นการนำรถคันเอาประกันเข้าซ่อมกับอู่นอกเครือ ทางผู้เอาประกันสามารถเบิกค่าซ่อมคืนได้ค่ะ นำรถคันเอาประกันพร้อมเอกสารรายละเอียดการซ่อม การอนุมัติราคา พร้อมเอกสารประจำตัวผู้เอาประกันไปติดต่อที่สาขาของบริษัทประกันด้วยตัวเองเพื่อดำเนินการ หรือหากเป็นการมอบอำนาจให้ผู้อื่นไปดำเนินการแทน จะต้องนำเอารถคันเอาประกันไปติดต่อที่สำนักงาน หรือสาขาของบริษัทพร้อมเอกสารต่อไปนี้ค่ะ
    ➢ สำเนาบัตรประชาชนผู้เอาประกัน ➢ สำเนาใบขับขี่ ผู้ขับขี่รถยนต์คันเอาประกัน ➢ หนังสือมอบอำนาจ ➢ สำเนาบัตรประชาชนผู้รับมอบอำนาจ ➢ สำเนาทะเบียนรถ ➢ สำเนากรมธรรม์ (กรณีเป็นรถยนต์คู่กรณี) ➢ ภาพถ่ายความเสียหาย ➢ ภาพถ่ายขณะซ่อมแซม ➢ ภาพถ่ายซากอะไหล่ ➢ ภาพถ่ายเมื่อซ่อมเสร็จ
โดยจะมีกำหนดระยะเวลาในการเบิกค่าใช้จ่ายคืนดังต่อไปนี้
    ➢ ค่าซ่อม จ่ายคืนอู่ ภายใน 34 วัน ➢ ค่าใช้จ่ายต่างๆ จ่ายคืนผู้เอาประกัน หรือชื่อบุคคล ภายใน 15 วันทำการ
กรณีที่ค่าซ่อมต่ำกว่า 5,000 บาท ผู้เอาประกันหรือเจ้าของรถยนต์สามารถเบิกค่าซ่อมคืนเป็นเงินสดได้ โดยดำเนินการเหมือนกับวิธีการข้างต้น เปลี่ยนแค่เป็นการจ่ายคืนผู้เอาประกันหรือเจ้าของรถยนต์เท่านั้นค่ะ และหากเป็นกรณีมอบอำนาจก็ต้องระบุให้ละเอียดในหนังสือมอบอำนาจว่าสามารถรับเป็นเงินสดได้ด้วยค่ะ

12. ค่าลากรถคันเอาประกัน

กรณีที่เกิดอุบัติเหตุ และรถคันเอาประกันมีความเสียหายมาก ต้องทำการยกลากเข้าอู่ ผู้ขับขี่สามารถสำรองจ่ายค่ายกลากไปก่อน แล้วทำเรื่องเบิกคืนจากบริษัทประกันได้ โดยจะต้องมีจำนวนไม่เกิน 20% ของค่าซ่อม สาเหตุที่ต้องกำหนดตามนี้ก็เพื่อสร้างความชัดเจนในกรณีที่มีการยกลากรถยนต์คันเอาประกันโดยไม่จำเป็น

13. ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์

กรณีที่รถยนต์คันเอาประกันเสียหายมาก หรือต้องนำรถคันเอาประกันเข้าซ่อม ประกันภัยรถยนต์จะไม่มีการคุ้มครองค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ หากผู้เอาประกันเป็นฝ่ายถูกในอุบัติหตุครั้งนั้นๆ ผู้เอาประกันสามารถใช้สิทธิ์ทางกฎหมายเพื่อทำการเรียกร้องค่าเสียหายจากคู่กรณีได้โดยตรง โดยจะต้องเป็นค่าเสียหายที่สามารถพิสูจน์ได้และสามารถประเมินเป็นจำนวนเงินได้เท่านั้น

14. ค่ารักษาพยาบาล

กรมธรรม์ประกันรถยนต์ให้ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลทั้งในส่วนของผู้บาดเจ็บในรถคันเอาประกัน และบุคคลภายนอกรถคันเอาประกัน หรือบุคคลภายในรถคันคู่กรณีด้วยในกรณีที่รถคันเอาประกันเป็นฝ่ายผิดในอุบัติเหตุครั้งนั้นๆ โดยให้ความคุ้มครองสูงสุดตามที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ ผู้เสียหายสามารถใช้สิทธิ์ตามกฎหมายในการเรียกร้องค่าเสียหายอื่นๆ เพิ่มเติมนอกเหนือจากค่ารักษาได้ โดยทางบริษัทประกันจะจัดเจ้าหน้าที่ ทนายความ เพื่อร่วมทำการเจรจา และรับผิดชอบค่าเสียหายดังกล่าว แต่จะต้องเป็นค่าเสียหายที่สามารถพิสูจน์ได้ และสามารถประเมินเป็นจำนวนเงินได้เท่านั้น

15. การเบิกค่ารักษาพยาบาลจากอุบัติเหตุ

การเบิกค่ารักษาพยาบาลจากอุบัติเหตุ แบ่งออกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน โดยจำนวน 50,000 บาทแรก จะได้รับความคุ้มครองจากกรมธรรม์ภาคบังคับ หรือ พ.ร.บ. และส่วนที่นอกเหนือจากนั้น จะได้รับความคุ้มครองจากรมธรรม์ภาคสมัครใจที่ผู้เอาประกันซื้อไว้นั่นเอง เมื่อมีผู้ได้รับบาดเจ็บเนื่องจากอุบัติเหตุ และมีการเข้ารับการรักษาพยาบาล ทางโรงพยาบาลจะเบิกค่ารักษาเบื้องต้นจำนวน 15,000 บาทจากบริษัทประกันที่รับประกัน พ.ร.บ. โดยอัตโนมัติ ส่วนที่เกินจากจำนวนนี้ทางผู้บาดเจ็บจะต้องทำการรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลด้วยตัวอง แต่หากผลคดีชัดเจนว่าผู้เอาประกันเป็นฝ่ายผิด จะต้องรับผิดชอบค่ารักษานี้โดยไม่เกินวงเงินความคุ้มครองสูงสุดตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ กรณีที่ผู้เอาประกัน หรือผู้บาดเจ็บทำการสำรองค่าใช้จ่ายค่ารักษาพยาบาลไปก่อน สามารถดำเนินการเบิกคืนได้ โดยแนบสำเนาใบบันทึกประจำวัน และใบรับรองแพทย์ เพิ่มเติมจากเอกสารเคลมประกัน ขอบคุณข้อมูล จาก : Rabbit Finance

บทความโดย : TerraBKK เคล็ดลับการลงทุน TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก