“การว่างงาน” คือสิ่งที่หลายๆ คนกลัว โดยเฉพาะในสังคมที่บูชาความมั่งคั่ง และตัดสินคนที่การงาน อาชีพ หน้าตาทางสังคม “การว่างงาน” จึงเหมือนเป็นคำสาบ ที่แทบจะไม่อยากตอบใครที่ถามเราเลยว่า “ทำงานอะไรอยู่”
สิ่งที่แย่ที่สุดของการว่างงานคือ วงจรของการปฏิเสธอย่างไม่รู้จบ การถูกปฏิเสธการสมัครงาน การสัมภาษณ์ ทำให้เป็นการบ่อนทำลายความมั่นใจของเราลงไปเรื่อยๆ ทีละเล็ก ทีละน้อย และยิ่งว่างงานนานๆ ไป ก็จะยิ่งรู้สึกว่าจะไม่มีใครจ้างเราอีก แม้ว่าเศรษฐกิจจะเริ่มดีขึ้น แต่คนรุ่นนี้ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ๆ ยังคงตกงาน ว่างงาน และหางานกันอยู่ ซึ่งพวกเขาดูเหมือนจะพบความยากลำบากในการหางานมากกว่าคนรุ่นพ่อแม่เขาเสียอีก แต่ถ้าคุณคือหนึ่งคนในนั้น และกำลังจะหมดหวัง อย่าพึ่งท้อ เพราะ “การถูกปฏิเสธ” แต่ละครั้งๆ ที่ผ่านมาของคุณนั่นแหละที่ทำให้คุณแข็งแรงขึ้น จำไว้ว่า คุณค่าของคุณไม่ได้ถูกวัดที่งานที่คุณทำ หรือ เงินที่คุณหาได้ ชีวิตคนเรามันมีลง ก็ต้องมีขึ้น และสิ่งเดียวที่จะทำได้เพื่อการันตีความสำเร็จคือ การพุ่งชนทุกปัญหาและอุปสรรคอย่างไม่ย้อท้อ แม้มันจะถาโถมแค่ไหนก็ตาม
การยืนหยัดเพื่อสู้ คือ กุญแจสู่ความสำเร็จ
ความสำเร็จ ไม่เคยตกลงมาตรงหน้าใครง่ายๆ คนที่ประสบความสำเร็จหลายคนบนโลกใบนี้ ต่างต้องเจอกับอะไรมามากมายกว่าจะมาถึงวันนี้ ชายที่รวยที่สุดในเอเชียอย่าง Jack Ma เคยลำบากมาก จนแม้การสมัครงานทำที่ KFC ยังถูกปฏิเสธ ซึ่งนั่นทำให้เรารู้ว่า แม้แต่เจ้าของ Alibaba อย่างเขา ยังคุ้นเคยกับการถูก “ปฏิเสธ” มาเป็นอย่างดี ก่อนเรื่องราวของ KFC เขาสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ติด เขาถูกโรงพักในท้องถิ่นที่เขาอยู่ปฏิเสธเมื่อตอนที่เขาพยายามสมัครงาน แต่สิ่งที่เขาทำคือ “ยืนหยัด”​ ต่อสู้ต่อไป เขารู้สึกว่าเขาต้องพัฒนาตนเอง เพื่อที่เขาจะได้มีงานทำ และบรรลุเป้าหมายในชีวิต เขามีความต้องการที่จะเก่งภาษาอังกฤษ เขาถึงขั้นต้องขี่จักรยานกว่า 45 นาที เพื่อไปเรียนภาษาอังกฤษที่โรงแรม ด้วยการฝึกพูดกับฝรั่ง และจบลงด้วยการที่เขาเสนอนำเที่ยวแก่ฝรั่งฟรี เพื่อที่จะทำให้เขามีโอกาสได้พูดภาษาอังกฤษมากที่สุด และจนกระทั่ง เขาก็ทำสำเร็จสิ่งแรกคือ เก่งภาษาอังกฤษ และเก่งพอที่เขาจะได้งานเป็นครูสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนในท้องถิ่น และความพยายามของเขาก็ถึงจุด เมื่อเขาได้งานเป็น “นักแปล” และทำให้เขาได้เดินทางไปทำงานที่สหรัฐฯ ในปี 1995 และการได้มาอยู่ในอเมริกานั้นทำให้เขาได้รู้จักกับสิ่งที่เรียกว่า “คอมพิวเตอร์” และเป็นจุดเริ่มต้นของไอเดีย “Alibaba” และหลังจากนั้นเขาก็สร้างประวัติศาสตร์ให้เกิดขึ้น… ถึงตอนนี้เขาจะมีทรัพย์สินกว่า 22,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่เขาก็คงไม่มาถึงวันนี้ถ้าเขาไม่หยืนหยัดสู้ เขาเดินทางจากการเป็นครูสอนภาษาอังกฤษยากจน มากลายเป็นมหาเศรษฐีที่ทุกคนยอมรับ เขาเจอการว่างงานมากมาก การปฏิเสธมานับไม่ถ้วน ความยากจน แต่เขายังยืนหยัดฝึกทักษะที่จำเป็นต่างๆ นานา เพราะเชื่อว่าวันหนึ่งเขาจะสำเร็จ
จงสอนตัวเองให้แกร่ง และไม่ล้มเลิกอะไรง่ายๆ
Angela Lee Duckworth ศาสตราจารย์จิตวิทยาคนหนึ่งเคยพูดไว้ว่า ความสำเร็จจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าเราไม่แกร่งพอ และความสำเร็จนั้น ไม่เกิดขึ้นชั่วข้ามวัน คืน หรือเดือน แต่เป็นปีๆ มันเข้าใจได้ว่า เวลาที่เรายากลำบาก และไม่มีงานทำ มันอาจทำให้เราอยากเดินทางลัด ทางที่สบาย แต่ความสำเร็จ ไม่เคยโผล่มาในชีวิตคนที่เลือกเดินทางลัด หรือทางที่สบายหรอก จำไว้ว่า การตัดสินใจที่เราคิดตัดสินใจตอนเรากลัว และไม่คิดหน้าคิดหลังดีๆ มันมักจะไม่ดีเสมอ “ความสำเร็จ” ต้องการความอดทน ความแข็งแกร่ง และถึงแม้คำว่า “Never give up” หรือที่แปลว่าไม่เคยยอมแพ้ หรือ อย่ายอมแพ้ นั้น อาจจะดูพูดง่าย แต่เราก็เห็นตัวอย่างกันมากมายแล้วของคนที่ประสบความสำเร็จ สิ่งที่เราทำคือ ตื่นมาทุกวันพร้อมกับเป้าหมายในชีวิตที่ชัดเจน และตั้งเป้าว่าเราจะทำอะไรบ้างเพื่อไปถึงจุดนั้น ไม่ว่าจะต้องเจอเรื่องราวของการ “ปฏิเสธ” มากี่ครั้งต่อกี่ครั้ง และจะต้องเจออีกกี่ครั้งก็ตาม เราต้องมองหาแรงบันดาลใจอื่นๆ ที่มากกว่าเรื่องเงินๆ ทองๆ อาจจะเป็นการปลดล็อกความสามารถใหม่ๆ ของเราที่เราไม่เคยทำได้มาก่อน การสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ตัวเองและสังคม อย่างที่ Jack Ma ประสบมานั้น เขาเริ่มจากการตั้งเป้าว่า แรงบันดาลใจคือการอยากเรียน อยากเก่งภาษาอังกฤษ เป็นต้น
สิ่งหนึ่งที่หลายๆ คนเข้าใจผิดก็คือ คนเราต้องสู้ด้วยตนเอง แต่หารู้ไม่ว่า คนเราควรรู้จักที่จะยอมรับความช่วยเหลือเมื่อถึงคราวจำเป็น Jack Ma ก็เช่นกัน การก่อตั้ง Alibaba ได้นั้น เขาได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนและเงินจำนวน 60,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ นั่นเอง
เพราะฉะนั้น บทสรุปของเรื่องราวในวันนี้คือ อย่าคิดว่า “การถูกปฏิเสธ” จะหมายความว่าคุณไม่มีค่า เราทุกคนมีโอกาสที่จะเรียนรู้และสู้เพื่ออนาคตของเราเสมอถ้าเรายืนหยัด และแข็งแกร่ง นั่นเอง!

หมายเหตุ : ภาพประกอบบทความ บางภาพไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อหาแต่อย่างใด

ขอบคุณข้อมูลจาก : ศาสตร์การไม่ยอมแพ้ “การถูกปฏิเสธ” จะไปสู่ความสำเร็จได้อย่างไร?