ในโลกนี้คงไม่มีใครที่ไม่เคยโกหกหรือไม่เคยถูกโกหก การโกหกให้แนบเนียนนั้นเป็นเรื่องยากและเป็นความสามารถเฉพาะตัว เพราะในการโกหกนั้นย่อมมีสัญญาณบางอย่างที่แสดงออกให้เห็นว่า “คุณกำลังโกหก” ไม่ว่าด้วยสีหน้า ท่าทาง หรือแววตาที่จริงๆ แล้วดูออกได้ไม่ยากเลย ศาสตราจารย์ Paul Ekman ผู้เชี่ยวชาญด้าน “การโกหก” เจ้าของผลงานการวิเคราะห์เกี่ยวกับการจับโกหกที่รายการโทรทัศน์ Lie to Me ได้นำงานวิจัยของเขาไปเป็นข้อมูลพื้นฐานในการสร้างซีรี่ส์ และเป็นที่ปรึกษาภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่องเยี่ยม Inside Out ได้มาเปิดเผยเกี่ยวกับ “เรื่องไม่จริง 8 ข้อเกี่ยวกับการโกหก” เรื่องที่ 1 ทุกคนโกหกตลอด จริงๆ แล้วทุกสิ่งที่มนุษย์พูดไม่เรียกว่าเป็น “การโกหก” ไปเสียทุกอย่าง หลายครั้งที่เราแค่หลอกในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เพื่อที่จะทำให้คนอื่นสบายใจ และหลายครั้งที่เราเชื่อในสิ่งที่พูดจริงๆ จึงไม่มีใครที่โกหกอยู่ตลอดเวลา เพราะโลกนี้ยังมีการโกหกในเรื่องใหญ่ๆ สำคัญๆ ที่อาจนำไปสู่การจบความสัมพันธ์ การตกงาน หรือแม้กระทั่งอาชญากรรม เรื่องเล็กน้อยหลายเรื่องจึงไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นการโกหกอย่างแท้จริง เรื่องที่ 2 ไม่มีใครโกหก ในความเป็นจริงแล้วทุกคนต้องพูดโกหกบ้าง อย่างเช่นการสวดมนต์หรือการอวยพรคนอื่น เพราะในสถานการณ์แบบนั้นคงไม่มีใครต้องการฟังความจริง เรื่องที่ 3 ผู้หญิงสามารถจับโกหกได้เก่งกว่าผู้ชาย ไม่มีเพศไหนสามารถจับโกหกได้เก่งกว่าเพศอื่นๆ เพราะทุกคนล้วนไม่เก่งกาจในด้านการค้นหาความจริง และส่วนใหญ่แล้วผู้หญิงกลับเป็นเพศที่ถูกผู้ชายหลอกซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพราะพวกเธออยากที่จะเชื่อในคำโกหกนั้น หลายครั้งที่คนเราเต็มใจเชื่อคำโกหกเพราะความจริงเป็นสิ่งที่เจ็บปวดเกินไป เรื่องที่ 4 คนบ้าโกหกเก่ง คนบ้าหรือคนโรคจิตไม่ได้เป็นนักโกหกที่เก่งกาจไปกว่าคนอื่นๆ แต่เมื่อพวกเขาพูดแล้วมันดูน่าสงสารและน่าเชื่อถือกว่าคนทั่วไป ดังนั้นคนส่วนใหญ่จึงมีแนวโน้มที่จะหลงเชื่อพวกเขา เรื่องที่ 5 การมองไปด้านบนหรือด้านข้างคืออาการของการโกหก จากผลงานวิจัยพบว่าการมองไปทางไหนก็ตามก่อนพูดนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับความจริงของสิ่งที่พูดเลย
เรื่องที่ 6 การวิเคราะห์การแสดงออกทางสีหน้าอย่างใกล้ชิดสามารถจับโกหกได้ การวิเคราะห์สีหน้าท่าทางอย่างใกล้ชิดสามารถใช้พิจารณาการปกปิดอารมณ์ความรู้สึกได้ แต่สิ่งที่ต้องทำในการจับโกหกก็คือค้นหาว่าอารมณ์อะไรที่เขาปกปิดไว้ไม่ใช่แค่เพียงทราบว่าตอนนี้เขากำลังปกปิดอะไรบางอย่างอยู่ เรื่องที่ 7 เครื่องจับเท็จนั้นเชื่อถือได้ ปัจจุบันวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถค้นพบเทคโนโลยีการจับเท็จที่สามารถใช้กับ “ทุกคน” ได้ การทำงานของเครื่องจับเท็จเพียงแค่เพิ่มโอกาสและประสิทธิภาพในการค้นพบการแสดงออกที่แตกต่างออกไปจากปกติ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะพบในคนที่กำลังโกหก และบางทีการแสดงออกที่แตกต่างไปนั้นอาจมาจากความวิตกกังวลหรือความเครียดเท่านั้น เรื่องที่ 8 การจับโกหกจากการกระทำของผู้คนเป็นเรื่องยาก จริงๆ แล้วในขณะที่กำลังโกหก คนเราจะมีรูปแบบการแสดงออกทั้งทางสีหน้าและท่าทางที่สามารถบ่งบอกได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการยักไหล่ สายตา วิธีการเลือกใช้คำ หรือการส่ายศีรษะนิดๆ ในขณะที่กำลังตอบว่า “ใช่” มาลองทดสอบกันดีกว่า ภาพถ่ายของดาราสาว จูเลีย โรเบิร์ต สองภาพนี้ ภาพไหนเธอกำลังโกหกด้วยรอยยิ้ม
คำตอบก็คือ…ภาพทางซ้ายมือ การยิ้มที่แท้จริงนั้นดวงตาต้องยิ้มไปด้วย ซึ่งแน่นอนว่ามันจะทำให้ตาเล็กลงและเกิดรอยตีนกา การแสดงออกทางสีหน้า การแสดงออกทางสีหน้าที่แตกต่างกันสามารถบ่งบอกถึงอารมณ์ต่างๆ ได้ ทั้งโกรธ โมโห เศร้า ดีใจ เสียใจ หรือตกใจ แล้วในแต่ละภาพต่อไปนี้ชายคนนี้กำลังรู้สึกอย่างไรบ้าง ลองทายกันดู
คำตอบก็คือ โกรธ รังเกียจ กลัว มีความสุข เศร้า และประหลาดใจ และนี่คือวิธีการแยกแยะการแสดงออกทางสีหน้าที่เผยแพร่ในรายการ Lie to Me เศร้า : หนังตาด้านบนจะตก ดวงตาไม่โฟกัส มุมปากตกเล็กน้อย
โกรธ : คิ้วขมวด สายตาแข็งกร้าว เม้มริมฝีปาก
ดูถูกเหยียดหยาม : มีการเม้มมุมปากข้างใดข้างหนึ่งแล้วยกขึ้นเล็กน้อย
รังเกียจ : ย่นจมูก ยกริมฝีปากบน
ประหลาดใจ : เลิกคิ้ว(เพียงชั่วครู่) เบิกตากว้าง อ้าปาก
กลัว : คิ้วจะยกขึ้นและขมวด เปลือกตาบนและล่างยกขึ้น ใต้ตามีการเกร็ง อ้าปากและเหยียดออกเล็กน้อย
ลองสังเกตสีหน้าท่าทางของผู้คนแล้วนำมารวมกับความน่าเชื่อถือของเรื่องที่พวกเขากำลังพูด เมื่อฝึกฝนบ่อยๆ ความสามารถในการจับโกหกของคุณอาจจะเพิ่มขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ

ที่มา: BusinessInsider หมายเหตุ : ภาพประกอบบทความ บางภาพไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อหาแต่อย่างใด

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : 8 ความจริงเกี่ยวกับ "การโกหก" มาดูกันว่าคุณ ”อ่านสีหน้า” ของผู้คนได้หรือไม่!?