ทำไมเราต้องมี “เงินสำรองฉุกเฉิน”?
ในสถานการณ์ที่ใครๆต่างก็หาวิธีลงทุนที่ได้ผลตอบแทนสูงที่สุด ไม่ว่าจะเป็นลงทุนในหุ้น ทองคำ และอสังหาริมทรัพย์ เหล่านักลงทุนบางคนต่างก็หลงลืมไปว่าควรจะมีเงินเก็บอีกก้อนหนึ่ง ที่อยู่ในรูปแบบที่มีสภาพคล่องสูงที่สุด เพื่อเป็น “เงินสำรองฉุกเฉิน” หลายคนมักไม่เห็นความสำคัญของเงินก้อนนี้ บ้างก็มองว่าเป็นเรื่องที่เสียประโยชน์เปล่าๆ วันนี้ TerraBKK Research จะมาบอกเล่าเกี่ยวกับความสำคัญของเงินก้อนนี้ และวิธีที่ควรจะเก็บเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินนี้ให้ละเอียดมากยิ่งขึ้น
เหตุผลที่ต้องมี “เงินสำรองฉุกเฉิน”
เริ่มจากความสำคัญของเงินก้อนนี้ก่อนว่า ทำไมเราจึงไม่ควรทำเงินเก็บหรือเงินออมของเราทั้งหมดไปลงทุนให้งอกเงย ทั้งนี้เงินเก็บสำรองฉุกเฉินก็เป็นไปตามชื่อของมันคือ สามารถหยิบใช้ได้ทันทีที่เกิดกรณีต้องใช้เงิน ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะมีเหตุผล ดังนี้
1. กรณีตกงาน และยังต้องเลี้ยงดูครอบครัว
2. ค่ารักษาพยาบาล กรณีเบิกไม่ได้แล้วหรือกำลังอยู่ในช่วงตกงาน
3. ค่าใช้จ่ายสำหรับหนี้สิน ในยามที่มีเงินไม่พอ
4. กรณีที่ต้องรีบใช้เงิน แต่เงินส่วนอื่นอยู่ในรูปแบบทรัพย์สินหรือหุ้น ที่ยังไม่สามารถนำออกมาใช้ได้ในทันที
5. ช่วยลดความเครียด และเพิ่มความมั่นใจเมื่อถึงเวลาที่จำเป็นจะต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก
จากเหตุผลทั้ง 5 ข้อจะเห็นได้ว่า เงินก้อนนี้ไม่ใช่เงินที่เก็บไว้ใช้ตอนเกษียณ แต่เป็นเงินที่สามารถหยิบมาใช้ได้ตลอดเวลา ทีนี้เราคงจะเห็นความสำคัญของเงินก้อนนี้กันบ้างแล้ว
ควรจะเก็บ “เงินสำรองฉุกเฉิน” ในรูปแบบใด?
จากเหตุผลข้างต้น คงจะเห็นแล้วว่าเงินก้อนนี้จะถูกนำมาใช้เมื่อยามฉุกเฉิน หรือเป็นเหตุการณ์ที่เราไม่ได้คาดคิดมาก่อน ดังนั้นเงินควรจะอยู่ในรูปแบบที่มีสภาพคล่องสูงที่สุด เช่น เงินสด หรือฝากธนาคารในรูปแบบออมทรัพย์ จะดีที่สุด แต่ห้ามเก็บในลักษณะของการซื้ออสังหาริมทรัพย์เด็ดขาด! เพราะเป็นทรัพย์สินที่สภาพคล่องต่ำที่สุด และไม่สามารถนำมาใช้ได้ทันทีเมื่อต้องการเงิน ดังนั้นพึงระลึกไว้เสมอว่า เงินสำรองฉุกเฉินไม่ได้คำนึงถึง “ดอกเบี้ยหรือกำไร” แต่คำนึงถึง “สภาพคล่อง” เป็นอันดับแรกเสมอ
ต้องเก็บ “เงินสำรองฉุกเฉิน” เป็นจำนวนเท่าไหร่?
จำนวนการเก็บเงินสำรองฉุกเฉินนั้น ขึ้นอยู่กับค่าใช้จ่ายรายเดือนของแต่ละคน บางคนใช้จ่ายมาก ก็ต้องมีเงินสำรองมาก นั้นเท่ากับว่าความเสี่ยงของแต่ละคนไม่เหมือนกัน และอัตราการเก็บก็ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับสถานะของแต่ละคน ซึ่ง TerraBKK Research จะขออธิบายเป็นกรณีไป ดังนี้
กรณี 1: เป็นโสด/แต่งงานแล้ว (ยังไม่มีบุตร) + ไม่มีหนี้สิน กรณีนี้ควรเก็บเงินสำรองฉุกเฉิน 3 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน
กรณี 2: เป็นโสด/แต่งงานแล้ว (ยังไม่มีบุตร) + มีหนี้สินอื่นๆ กรณีนี้ควรเก็บเงินสำรองฉุกเฉิน 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน
กรณี 3: แต่งงานแล้ว (มีบุตร)/ครอบครัวที่มีผู้เจ็บป่วยหรือผู้สูงอายุ กรณีนี้ควรเก็บเงินสำรองฉุกเฉิน 8 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน
ซึ่งวิธีคิดการเก็บเงินที่เป็นจำนวนเท่าตามข้างต้น มีวิธีคิดดังนี้
สมมตินาย A มีเงินเดือน 30,000 บาทต่อเดือน นาย A เป็นโสด และไม่มีหนี้สินอื่นๆ นอกจากค่าใช้จ่ายประจำวัน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 70% ของเงินเดือน หรือประมาณ 21,000 บาทต่อเดือน นั่นก็แปลว่านาย A จะต้องมีเงินสำรองฉุกเฉินทั้งหมด 3 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน หรือประมาณ 21,000 x 3 = 63,000 บาท
สมมตินาย B มีเงินเดือน 50,000 บาทต่อเดือน นาย B เป็นโสด แต่มีหนี้สินคือ ผ่อนคอนโด 1 ห้อง เมื่อคิดค่าใช้จ่ายประจำวันรวมกับหนี้สินแล้ว คิดเป็นสัดส่วน 80% ของเงินเดือน หรือประมาณ 40,000 บาทต่อเดือน นั่นแปลว่านาย B จะต้องมีเงินสำรองฉุกเฉินทั้งหมด 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน หรือประมาณ 40,000 x 6 = 240,000 บาท
ทีนี้คงจะพอเห็นภาพกันบ้างแล้วสำหรับวิธีการเก็บเงินสำรองฉุกเฉิน ซึ่งวิธีการเก็บของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะคิดเป็น % ของรายได้ บางคนอาจจะเก็บเป็นจำนวนเท่าๆกันทุกเดือนเป็นตัวเลขกลมๆ ขึ้นอยู่กับวิธีของแต่ละคนไป แต่ทั้งนี้พึงระลึกไว้เสมอว่า “เงินสำรองฉุกเฉินคือเงินที่ไว้ใช้ยามฉุกเฉินจริงๆ ไม่ใช่เงินที่ไว้ซื้อของ ช้อปปิ้ง หรือไปเที่ยว เพราะไม่อย่างนั้นแล้วต่อให้เก็บเท่าไหร่ก็คงไม่พอเมื่อต้องนำมาใช้ในยามฉุกเฉินจริงๆ” - เทอร์ร่า บีเคเค
บทความโดย : TerraBKK คลังความรู้
TerraBkk ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก