ตามธรรมเนียมเก่าแก่ในเรื่องของการแต่งกายไว้ทุกข์ เนื่องด้วยพระมหากษัตริย์สวรรคตนั้น เดิมทีมีระเบียบแบบแผนที่ยึดปฏิบัติกันมาช้านาน แต่ปัจจุบันถูกปรับเปลี่ยนไปตามกาลเวลา และค่านิยมจากตะวันตก... โดย อ.ดร.อาชว์ภูริชญ์ น้อมเนียน อาจารย์ภาควิชามนุษยศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ว่า แรกเริ่มเดิมทีนั้น ตามธรรมเนียมโบราณในเรื่องการแต่งกายไว้ทุกข์ของพสกนิกรไทย มีรายละเอียดต่างๆ อยู่หลายประการ โดยสีของเสื้อผ้าจะเป็นเครื่องบ่งบอกสถานะ และความสัมพันธ์ระหว่างผู้เสียชีวิตและผู้แต่งกาย หากบุคคลนั้นๆ มีอายุมาก หรือศักดิ์สูงกว่าผู้ตาย บุคคลนั้นจะต้องแต่งกายด้วยสีดำ... ในทางกลับกัน หากบุคคลนั้นๆ มีอายุน้อยหรือศักดิ์ต่ำกว่าผู้ตาย บุคคลนั้นจะต้องแต่งกายด้วยสีขาว ต่อมา ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 วัฒนธรรมตะวันตกเริ่มเข้ามามีบทบาทในประเทศไทยเป็นวงกว้าง การแต่งกายไว้ทุกข์จึงเปลี่ยนเป็นสีดำ หรือสีขาวดำ ซึ่งวัฒนธรรมดังกล่าว ถูกใช้เรื่อยมาจวบจนปัจจุบัน

อ.ดร.อาชว์ภูริชญ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อธรรมเนียมที่ยึดปฏิบัติสืบต่อกันมาเปลี่ยนไป ประชาชนคนไทยก็ควรแต่งกายให้เหมาะสม และยึดถือตามหลักคำสอนของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 นั่นก็คือ "ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" กล่าวคือ คนไทยไม่ควรใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย เพื่อหาซื้อเสื้อผ้าสวยงามมาแต่งกายไว้ทุกข์ แต่ประชาชนคนไทยควรใช้จ่ายแต่ตามพอดี แต่งกายไว้ทุกข์ตามกาลเทศะด้วยความเหมาะสม เพื่อไม่ให้ขัดต่อคำสอนของพ่อหลวง รัชกาลที่ 9 ทั้งนี้ หลักปฏิบัติที่ อ.ดร.อาชว์ภูริชญ์ เน้นย้ำ มีดังต่อไปนี้ 1. ประชาชนทั้งชายและหญิง ควรแต่งกายด้วยสีสุภาพ เช่น ขาว, ดำ, เทา และไม่ควรมีลวดลาย 2. อย่านำเครื่องประดับที่เป็นตราสัญลักษณ์ประจำพระองค์ของพระบรมวาศานุวงศ์ที่ยังมีชีวิตมาติดประดับบนเสื้อผ้า เช่น เข็มอักษรพระนาม, เข็มกลัดตราสัญลักษณ์ประจำพระองค์ เป็นต้น เพราะการกระทำเช่นนี้ นับว่าเป็นสิ่งไม่สมควร ซึ่งสิ่งของอันเป็นมงคลไม่ควรอยู่กับสิ่งของที่ไม่เป็นมงคล 3. ในกรณีที่ประชาชนจะร่วมถวายสักการะพระบรมศพนั้น เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายควรยึดตามหลักสากล โดยผู้หญิงไม่ควรนุ่งกางเกง แต่ควรสวมใส่กระโปรงยาวเลยแข้ง ไม่รัดรูป ไม่แขนกุด ไม่แฟชั่น ส่วนชายควรสวมใส่เสื้อเชิ้ตสีขาว เนคไทดำ กางเกงดำ

อย่างไรก็ตาม สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ออกประกาศเรื่องแนวทางเรื่องการแต่งกายไว้ทุกข์เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสวรรคต โดยระบุว่า ตามที่ได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร สวรรคต ลงวันที่ 13 ตุลาคม 2559 และรัฐบาลได้กำหนดให้ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และเจ้าหน้าที่ของรัฐไว้ทุกข์มีกำหนด 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2559 เป็นต้นไป เพื่อให้การแต่งกายไว้ทุกข์เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สวรรคต เป็นไปด้วยความเหมาะสม และสอดคล้องกับระเบียบการแต่งกายไว้ทุกข์ในงานศพ พุทธศักราช 2484 จึงเห็นสมควรกำหนดการแต่งกายของข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และเจ้าหน้าที่ของรัฐไว้ ดังนี้ 1. กรณีไปร่วมงานพระราชพิธีพระบรมศพ
ให้ข้าราชการแต่งเครื่องแบบตามหมายรับสั่ง หรือหมายกำหนดการของพระราชวัง โดยให้ใช้ผ้าสักหลาด หรือผ้าโปร่งสีดำ ขนาดกว้างระหว่าง 7 ถึง 10 เซนติเมตร พันแขนเสื้อเบื้องบน 2. กรณีไม่ได้ร่วมงานพระราชพิธีพระบรมศพ
 2.1 กรณีแต่งเครื่องแบบปฏิบัติราชการ (เครื่องแบบสีกากีคอพับ และเครื่องแบบสีกากีคอแบะ) การแต่งเครื่องแบบ ไม่ต้องใช้ผ้าสักหลาด หรือผ้าโปร่งสีดำดังกล่าวพันแขนเสื้อซ้ายเบื้องบน


2.2 กรณีการแต่งกายทั่วไป ในการปฏิบัติราชการ
 2.2.1 ข้าราชการชาย ให้แต่งด้วยเสื้อเชิ้ตสีขาวหรือสีดำ ผูกเนคไทสีดำ หากจะสวมเสื้อสูท หรือเสื้อคลุม ให้ใช้สีดำ โดยอาจใช้ผ้าสักหลาดหรือผ้าโปร่งสีดำดังกล่าว พันแขนเสื้อเบื้องบนได้ตามสมควร 
2.2.2 ข้าราชการหญิง ให้แต่งกายสุภาพตามรัฐพิธี โดยให้ใช้เครื่องดำล้วน
3. กรณีข้าราชการที่มีกฎหมายกำหนดไว้อย่างอื่นเป็นการเฉพาะให้แต่งกายตามนั้น 4. กรณีการแต่งกายของพนักงานรัฐวิสาหกิจ และเจ้าหน้าที่ของรัฐอื่น ให้อนุโลมตามข้อ 1. และข้อ 2.

หมายเหตุ : ภาพประกอบบทความ บางภาพไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อหาแต่อย่างใด

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : ไทยรัฐออนไลน์ จากหัวข้อข่าว พสกนิกรควรรู้! จากโบราณสู่ปัจจุบัน แต่งกายไว้ทุกข์ อย่างไรให้เหมาะสม?