จากพระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ไ่ด้พระราชทานแก่บุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคลเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดาฯ พระราชวังดุสิต วันอาทิตย์ที่  4 ธันวาคม  2537 ใจความตอนหนึ่งว่า “...ทางราชการโดยกรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร ทางนายอำเภอ และผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี ได้ช่วยกันทำโครงการนี้ โครงการนี้ใช้เงินของมูลนิธิชัยพัฒนาส่วนหนึ่ง ใช้เงินของราชการส่วนหนึ่ง โดยวิธีขุดบ่อน้ำ เพื่อใช้น้ำนั้นมาทำการเพาะปลูก ตาม ทฤษฎีใหม่ ซึ่งทฤษฎีใหม่นี้ยังไม่เกิดขึ้น พอดีขุดบ่อน้ำนั้น เราก็เรียกว่า มือดี ขุดน้ำมีน้ำ  ข้างๆ ที่อื่นนั้นไม่มีน้ำ แต่ตรงนั้นมีน้ำ ลงท้ายก็สามารถปลูกข้าว แล้วก็ปลูกผัก ปลูกไม้ยืนต้นไม้ผล ต่อมาก็ได้ซื้อที่อีก 30 ไร่  ก็กลายเป็นศูนย์พัฒนา หลักมีว่า แบ่งที่ดินเป็นสามส่วน  ส่วนหนึ่งเป็นที่สำหรับปลูกข้าว อีกส่วนหนึ่งสำหรับปลูกพืชไร่ พืชสวน และก็มีที่สำหรับขุดสระน้ำ ดำเนินการไปแล้ว ทำอย่างธรรมดาอย่างชาวบ้าน  ในที่สุดได้ข้าวและได้ผัก ขายข้าวกับผักนี่มีกำไร 2 หมื่นบาทต่อปี หมายความว่า โครงการนี้ใช้งานได้  เมื่อใช้งานได้ก็ขยายโครงการ ทฤษฎีใหม่ นี้ โดยให้ทำที่อื่น  นอกจากมีสระน้ำในที่นี้แล้ว จะต้องมีอ่างเก็บน้ำที่ใหญ่กว่าอีกแห่งเพื่อเสริมสระน้ำ ในการนี้ก็ได้รับความร่วมมือจากบริษัทเอกชน ซื้อที่ด้วยราคาที่เป็นธรรม ไม่ใช่ไปเวนคืนและสร้างอ่างเก็บน้ำ” การปรับประยุกต์ ทฤษฎีใหม่ สู่การปฏิบัติตามภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เหมาะสมกับภูมิสังคม สู่แนวคิด "โคก หนอง นา โมเดล" โดยการเดินตามศาสตร์ของพระราชา เพื่อการทำเกษตรแนวใหม่ ที่ยึดหลักของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลัก ร่วมโดย อ.ยักษ์ วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยแนวคิดการจัดการน้ำ "โคก หนอง นา โมเดล" นี้เป็นการกักเก็บน้ำไว้ทั้งบนดิน (ด้วยหนอง คลองไส้ไก่ และคันนา) และใต้ดิน (ด้วยป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่างตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ภาพการทำนาขั้นบันได บ้านห้วยกระทิง อ.แม่ระมาด .ตาก

ขอบคุณภาพจาก : มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ

โดย โคก-หนอง-นา โมเดล มีองค์ประกอบดังนี้

1. โคก - ดินที่ขุดทำหนองน้ำนั้นให้นำมาทำโคก บนโคกปลูก “ป่า 3อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” ตามแนวทางพระราชดำริ - ปลูกพืช ผัก สวนครัว เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ทำให้พออยู่ พอกิน พอใช้ พอร่มเย็น เป็นเศรษฐกิจพอเพียงขั้นพื้นฐาน ก่อนเข้าสู่ขั้นก้าวหน้า คือ ทำบุญ ทำทาน เก็บรักษา ค้าขาย และเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย - ปลูกที่อยู่อาศัยให้สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศ และภูมิอากาศ 2. หนอง - ขุดหนองเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ยามหน้าแล้งหรือจำเป็น และเป็นที่รับน้ำยามน้ำท่วม (หลุมขนมครก) - ขุด “คลองไส้ไก่” หรือคลองระบายน้ำรอบพื้นที่ตามภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยขุดให้คดเคี้ยวไปตามพื้นที่เพื่อให้น้ำกระจายเต็มพื้นที่เพิ่มความชุ่มชื้น ลดพลังงานในการรดน้ำต้นไม้ - ทำ ฝายทดน้ำ เพื่อเก็บน้ำเข้าไว้ในพื้นที่ให้มากที่สุด โดยเฉพาะเมื่อพื้นที่โดยรอบไม่มีการกักเก็บน้ำ น้ำจะหลากลงมายังหนองน้ำ และคลองไส้ไก่ ให้ทำฝายทดน้ำเก็บไว้ใช้ยามหน้าแล้ง - พัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ ทั้งการขุดลอก หนอง คูคลอง เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ยามหน้าแล้ง และเพิ่มการระบายน้ำยามน้ำหลาก 3. นา - พื้นที่นานั้นให้ปลูกข้าวอินทรีย์พื้นบ้าน โดยเริ่มจากการฟื้นฟูดิน ด้วยการทำเกษตรอินทรีย์ยั่งยืน คืนชีวิตเล็กๆ หรือจุลินทรีย์กลับคืนแผ่นดินใช้การควบคุมปริมาณน้ำในนาเพื่อคุมหญ้า ทำให้ปลอดสารเคมีได้ ปลอดภัยทั้งคนปลูก คนกิน - ยกคันนาให้มีความสูงและกว้าง เพื่อใช้เป็นที่รับน้ำยามน้ำท่วม ปลูกพืชอาหารตามคันนา โดยความร่วมมือของมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติและคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จึงได้มีการออกแบบพื้นที่กสิกรรมโดยอาศัย “โคก หนอง นา โมเดล” เป็นแนวคิดหลักในการจัดการพื้นที่ ในบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสัก แหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่สำคัญที่สุดของเมืองไทย

 

ขอบคุณภาพจาก : มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ

https://www.facebook.com/agrinature.or.th

หนึ่งในตัวอย่างของผลสัมฤทธิ์คือ บ้านห้วยกระทิง อ.แม่ระมาด จ.ตาก ซึ่งเป็นตัวอย่างของหมู่บ้านอนุรักษ์ป่าที่ได้นำศาสตร์พระราชามาแก้ปัญหาพื้นที่ทำกิน จนชาวบ้านได้ปรับเปลี่ยนทัศนคติ ร่วมกันเปลี่ยนเขาหัวโล้นให้เป็นเขาหัวจุก และปรับจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว หันมาใช้วิธีเกษตรผสมผสาน ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของโครงการพลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดินอย่างยิ่ง ที่มีส่วนร่วมให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นได้

แนวคิดโคก หนอง นา โมเดล เป็นแนวคิดที่มีที่มาจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้วยความมุ่งมั่นที่จะสืบสานศาสตร์ของพระราชา ที่พระองค์ทรงงานในด้านการจัดการน้ำและป่าเพื่อประโยชน์ของพสกนิกรชาวไทยเสมอมา โดยแนวคิดนี้ จะสามารถช่วยลดพื้นที่ภูเขาหัวโล้น การปลูกพืชเศรษฐกิจที่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อคืนความอุดมสมบูรณ์แก่ผืนป่าของประเทศไทย พร้อมกันกับการยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกร ในการทำเกษตรแนวใหม่ โดยพื้นที่ที่ได้มีการทดลองทำโคก หนอง นา โมเดลนี้ ได้กระจายอยู่ในหลายพื้นที่ด้วยกันในประเทศไทย ด้วยความร่วมมือทั้งจากองค์กร ภาครัฐ เอกชนต่างๆ โดยมีอ.ยักษ์ วิวัฒน์ ศัลยกำธร และ อ.โก้ และนักศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้แก่ จ.ตาก, จ.แม่ฮ่องสอน, จ.น่าน เป็นต้น เพื่อตามรอยพ่อในการดำรงอยู่ด้วยความพอเพียง

ขอบคุณข้อมูลจาก : มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ

https://www.facebook.com/agrinature.or.th