ตามผลวิจัยของไนท์แฟรงค์ประเทศไทย ในช่วงกลางปี 2016 ตลาดคอนโดฯในหัวหินเริ่มฟื้นตัวจากภาวะซบเซาจากเมื่อช่วงต้นปี ตลาดแสดงอัตราการดูดซับที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยและไฮไลท์ของช่วงครึ่งปีแรกคือการเคลียร์จำนวนยูนิตเก่าที่เหลือค้างจากปีที่แล้วออกไป อุปทานใหม่ในปีนี้มีค่อนข้างจำกัด โดยมีเพียง 2 โครงการใหม่ที่เปิดตัวไปในช่วงครึ่งปีแรก 2016 โดยทั้งสองโครงการตั้งอยู่บนพื้นที่เขตชะอำ นอกจากนี้ยังมีอีกสองโครงการที่ต้องปิดตัวลงจากปัญหาทางการเงินและความไม่แน่นอนทางการเมืองเนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ จากผลสำรวจตลาดพบว่า โครงการบางแห่งที่เปิดให้เช่าเป็นห้องพักรายวันจำต้องลดจำนวนยูนิตลงหรือต้องเปิดขายออกไป ทั้งนี้เป็นผลมาจากข่าวเชิงลบจากสื่อมวลชนและการปราบปรามของเจ้าหน้าที่ต่อนักพัฒนากลุ่มดังกล่าว

อุปทาน

อุปทานสะสมทั้งหมดตั้งอยู่ในพื้นที่เขตชะอำ-เขาเต่า โดยจากปี 2007 ถึงครึ่งปีแรก 2016 มีจำนวนรวม 23,400 ยูนิต และมีอัตราการขายอยู่ที่ร้อยละ 78 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 74 จากช่วงสิ้นปี 2015 และมีประมาณ 5,200 ยูนิตที่ยังว่างอยู่ หน่วยที่ว่างอยู่ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตชะอำซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในโครงการขนาดใหญ่ อุปทานใหม่ที่เพิ่มเข้ามาในช่วงครึ่งปีแรกมาจาก 3 โครงการ ได้แก่ Lumpini Seaview ซึ่งเป็นอาคารสูง มี 1,130 ยูนิต, The Collectionsเป็นอาคารเตี้ย มี 308 ยูนิต, และ Sansara โครงการคอนโดฯเพื่อกลุ่มวัยเกษียณในแบล็ค เมาน์เทนซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายเป็นชาวต่างชาติอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปจากประเทศสวีเดนและประเทศในแถบยุโรปตอนเหนือ, สหราชอาณาจักร, และออสเตรเลีย

จากกราฟด้านล่างแสดงให้เห็นว่า หลังจากปี 2012 จำนวนอุปทานใหม่ที่เพิ่มเข้ามาโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3,000 ยูนิตต่อปี ยกเว้นในปี 2014 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยประสบปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองและรัฐประหาร สำหรับอุปทานที่จะถูกพัฒนาแน่นอนในอนาคตมีประมาณ 300 ยูนิตจาก 2 โครงการ ได้แก่ Lumpini Place หัวหิน ซอย 7 และLumpini Park Beach 2 บนหาดชะอำ คาดการณ์ว่าทั้งสองโครงการจะเพิ่มเข้าไปในตลาดภายในช่วงสิ้นปี 2016

อุปทานส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตชะอำซึ่งมีจำนวนมากถึง 16,058 ยูนิต หรือเกือบร้อยละ 70 ของอุปทานทั้งหมด ตามติดมาด้วยพื้นที่เขาตะเกียบอยู่ที่ร้อยละ 12 ส่วนคอนโดฯในหัวหินและเขาเต่ามีจำนวน 1,753 หน่วยและ 1,593 ยูนิตตามลำดับ พื้นที่ทั้งสองแห่งแสดงสัดส่วนของตลาดได้ที่ร้อยละ 7 สำหรับพื้นที่ที่มีอุปทานต่ำที่สุดตั้งอยู่ในพื้นที่ไกลจากทะเล (inland) โดยอยู่ในซอยฝั่งเลขคู่ คิดเป็นร้อยละ 5 ของอุปทานทั้งหมด จำนวนยูนิตที่ไม่ติดวิวทะเลมีปริมาณมากกว่ายูนิตที่ติดวิวทะเลประมาณร้อยละ 2 แต่ในช่วงท้ายปี 2015 ปริมาณของยูนิตที่ไม่ติดวิวทะเลมีมากกว่ายูนิตที่ติดวิวทะเลซึ่งสูงถึงร้อยละ 10 การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากหนึ่งโครงการอาคารสูงในชะอำที่เปิดตัวไปด้วยจำนวน 1,130 ยูนิต ซึ่งยูนิตเกือบทั้งหมดสามารถมองเห็นวิวทะเลบางส่วนจากระเบียง

กราฟที่ 1

กราฟที่ 2

อุปสงค์

ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2016 อัตราการครอบครองคอนโดฯในหัวหินอยู่ที่ร้อยละ 78 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 74 ในช่วงท้ายปี 2015 ซึ่งเกือบเท่ากับอัตราการขายที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์โดยอยู่ที่ร้อยละ 79 เมื่อปี 2009 - 2010 อุปสงค์ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้แสดงให้เห็นว่า ปริมาณอุปสงค์กำลังเพิ่มขึ้นตามติดกับปริมาณอุปทานที่มีอยู่ในตลาด

นางสาวริษิณี สาริกบุตร ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ บริษัท ไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ปริมาณการครอบครองโดยเฉลี่ยในช่วงสามปีที่ผ่านมา อยู่ที่ประมาณ 2,600 ยูนิตต่อปี และหน่วยที่ว่างอยู่ในขณะนี้มีประมาณ 5,200 ยูนิต ซึ่งอาจต้องใช้เวลาสองถึงสามปีในการเคลียร์ยูนิตเก่าๆออก ดังนั้นเราคาดการณ์ว่าจะมีอุปทานใหม่เปิดตัวขึ้นในปี 2017 มากกว่าในปี 2016 ทั้งนี้ดูเหมือนว่า ปี 2016 จะเป็นปีของการเคลียร์ยูนิตเก่าออก นอกจากนี้ผู้ซื้อยังได้รับผลประโยชน์จากโปรโมชั่นหลากหลาย เช่น ราคาพิเศษ, ฟรีค่าธรรมเนียมเป็นเวลาหนึ่งปี เป็นต้น

ผู้ซื้อส่วนใหญ่เป็นชาวไทยที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯที่กำลังมองหาบ้านหลังที่สองในหัวหิน จากผลสำรวจของเราพบว่า โครงการคอนโดฯที่อยู่ใกล้กับมหาวิทยาลัยสแตมฟอร์ดและศูนย์ฝึกอบรมการบิน เจ้าของสามารถปล่อยเช่ายูนิตให้กับกลุ่มนักเรียนในราคาประมาณ 8,000 - 12,000 บาทต่อเดือน ซึ่งหมายความว่าการลงทุนคอนโดฯในหัวหินไม่ได้จำกัดเพียงเพื่อการพักผ่อนในวันหยุดเท่านั้น

จากกราฟข้างต้นแสดงให้เห็นว่า พื้นที่ที่มีอัตราการครอบครองสูงที่สุดอยู่ในเขาตะเกียบ โดยมีประมาณร้อยละ 94 ที่ถูกขายออกไปแล้ว ซึ่งเหลือเพียงร้อยละ 6 หรือประมาณ 167 ยูนิตที่ยังว่างอยู่ ส่วนคอนโดฯในเขตหัวหินมีอัตราการครอบครองอยู่ที่ร้อยละ 91 อัตราการขายของพื้นที่ไกลจากทะเล (inland) และคอนโดฯในเขตชะอำนับว่าอยู่ในระดับดี โดยอยู่ที่ร้อยละ 74 และร้อยละ 89 ตามลำดับ ในขณะเดียวกันคอนโดฯในเขาเต่าแสดงอัตราการขายต่ำที่สุด โดยอยู่ที่ร้อยละ 67 และมีจำนวน 526 ยูนิตที่ยังว่างอยู่ หากเปรียบเทียบพื้นที่เขาเต่ากับพื้นที่อื่นๆ เขาเต่าอยู่ไกลจากกรุงเทพฯมากที่สุดและยังขาดสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น ร้านอาหาร, ตลาด, และห้างสรรพสินค้าซึ่งแตกต่างจากพื้นที่เขตหัวหินและชะอำ นอกจากนี้โครงการส่วนใหญ่ในเขาเต่าเป็นคอนโดฯเกรด A ที่มียูนิตขนาดใหญ่ (มากกว่า 50 ตร.ม.) ติดวิวทะเล ดังนั้น ยูนิตคอนโดฯเหล่านี้จึงตั้งราคาขายสูงอยู่ที่ประมาณ 80,000 บาทต่อตร.ม. ส่งผลให้ราคาขายเริ่มต้นที่ 3 ล้านบาทต่อยูนิต ในขณะที่มีจำนวนหลายโครงการคอนโดฯที่ตั้งราคาเริ่มต้นต่ำกว่า 2 ล้านบาทต่อยูนิตในพื้นที่เขตชะอำซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความสะดวกสบายมากกว่า

กราฟที่ 3

ราคาขาย

ราคาขายโดยเฉลี่ยของคอนโดฯติดวิวทะเลในปัจจุบันอยู่ที่ 120,347 บาทต่อตร.ม. เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 จากช่วงสิ้นปี 2015 สำหรับราคาเสนอขายของยูนิตติดวิวทะเลอยู่ที่ระหว่าง 80,000 - 130,000 บาทต่อตร.ม. สำหรับราคาขายระดับต่ำเป็นยูนิตติดวิวทะเลบางส่วนที่ไม่ได้หันหน้าไปทางทะเลโดยตรง และราคาขายโดยเฉลี่ยในหัวหินมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงกว่าพื้นที่ในเขตอื่น ยูนิตที่ไม่ติดวิวทะเลในขณะนี้ตั้งราคาไว้ที่ระหว่าง 55,000 - 80,000 บาทต่อตร.ม. แม้ว่าบางยูนิตที่ไม่มีวิวทะเลแต่ก็ยังหันหน้าไปทางสระว่ายน้ำของโครงการ ทำให้สามารถตั้งราคาขายที่สูงได้โดยเฉพาะหน่วยที่ใกล้กับสระว่ายน้ำ ราคาขายโดยเฉลี่ยของยูนิตที่ไม่ติดวิวทะเลอยู่ที่ 68,100 บาทต่อตร.ม. เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 จากช่วงสิ้นปี 2015

กราฟที่ 4

ขอบคุณข้อมูลจาก : www.knightfrank.com