ซีบีอาร์อี บริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำ ได้ทำการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนในตลาดอสังหาริมทรัพย์ประจำปี 2559 พบว่า นักลงทุนจากประเทศจีนเข้าไปลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับนักลงทุนจากชาติอื่นๆ ในเอเชียด้วยกัน ซึ่งคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่ง (47% หรือ 9.87 แสนล้านบาท) ของเงินลงทุนทั้งหมดจากเอเชีย ทั้งนี้ การลงทุนในต่างประเทศโดยรวมของนักลงทุนชาวเอเชียยังคงอยู่ในระดับสูง และนักลงทุนสถาบันยังคงเป็นผู้นำในการลงทุน โดย 6 ธุรกรรมจาก 10 ธุรกรรมการลงทุนในต่างประเทศที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในปีที่แล้วมาจากนักลงทุนสถาบัน

นางสาวอีวอน ซิว กรรมการบริหาร แผนกแคปิตอล มาร์เก็ตส์ ของซีบีอาร์อี กล่าวว่า “นักลงทุนจีนยังคงลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้นโยบายล่าสุดของรัฐบาลจีนจะควบคุมการลงทุนในต่างประเทศของชาวจีน แต่กระแสการลงทุนจากเม็ดเงินจีนในต่างประเทศยังคงมีอยู่อย่างไม่ขาดสายเพราะนักลงทุนต้องการกระจายพอร์ตการลงทุนให้มีความหลากหลาย”

“จากการพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบมากขึ้นในการลงทุนในต่างประเทศ รวมถึงการตรวจสอบอย่างเข้มงวดจากรัฐบาลที่อาจจะทำให้ขั้นตอนการอนุมัติกินระยะเวลานานขึ้น อาจส่งผลให้ปริมาณการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศของนักลงทุนจีนอยู่ในระดับปานกลาง นักลงทุนจีนอาจแค่เปลี่ยนการลงทุนให้มีขนาดเล็กลงแต่มีจำนวนมากขึ้น แทนการทำธุรกรรมขนาดใหญ่ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ความสนใจลงทุนอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศของนักลงทุนจีนจะยังคงมีอยู่มาก เพียงแต่เพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น โดยนักลงทุนสถาบันจากจีนที่มีความเคลื่อนไหวในตลาดคือกลุ่มบริษัทประกันและผู้จัดการสินทรัพย์ที่ได้รับการรับรอง” นาวสาวอีวอน กล่าวเพิ่มเติม

ซีบีอาร์อี ยังเปิดเผยอีกว่า สหรัฐอเมริกาเป็นตลาดที่นักลงทุนเอเชียเข้าไปลงทุนมากที่สุดเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน หรือคิดเป็น 43% ของเงินลงทุนจากเอเชียทั้งหมด ตลาดที่นิยมเป็นอันดับสอง คือ ยุโรป ตะวันออกกลางและแอฟริกา (EMEA) อยู่ที่ 27% สำหรับเอเชียมีสัดส่วนคิดเป็น 23% ของเงินลงทุนโดยรวม เพิ่มขึ้นจาก 21% ในปี 2558 ซึ่งแสดงให้เห็นว่านักลงทุนเอเชียยังคงนิยมลงทุนในภูมิภาคของตนเองมากกว่า

นิวยอร์กได้ก้าวขึ้นเป็นแหล่งลงทุนยอดนิยมอันดับหนึ่งสำหรับนักลงทุนต่างชาติในปี 2559 แทนที่กรุงลอนดอน แต่การลงทุนนั้นคิดเป็นสัดส่วนเพียงเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2558 แหล่งลงทุนยอดนิยม 5 อันดับแรก ได้แก่ นิวยอร์ก ลอนดอน ฮ่องกง โซล และซิดนีย์ คิดรวมเป็น 37% ของเม็ดเงินลงทุนทั้งหมด ลดลงจาก 42% ในปีก่อนหน้า ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีการกระจายการลงทุนไปยังแหล่งอื่นมากขึ้น

นายโรเบิร์ต ฟง ผู้อำนวยการ แผนกวิจัย ซีบีอาร์อี ประจำภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก ให้ความเห็นว่า “ปัจจุบันนักลงทุนเอเชียให้ความสนใจและมองหาสินทรัพย์ในตลาดที่หลากหลายมากขึ้นจากทั่วทุกมุมโลก มีการจัดสรรเงินลงทุนไปยังเมืองที่เป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญไปยังเมืองอื่น (Gateway City) มากขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2558 เพื่อหาโอกาสการลงทุนที่มีราคาน่าสนใจ แหล่งลงทุนอื่นๆ ในภาคพื้นยุโรปอย่างฝรั่งเศสและเนเธอร์แลนด์ ชิคาโก ซานฟรานซิสโกและกรุงวอชิงตันในสหรัฐฯ รวมถึงแวนคูเวอร์ในแคนาดา ต่างได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากขึ้นในปัจจุบัน”

นายโรเบิร์ต ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “ในขณะที่จีน สิงคโปร์ ฮ่องกง และเกาหลีใต้ยังคงเป็นแหล่งเงินลงทุนหลักของการลงทุนในต่างประเทศ เราเห็นถึงการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นจากตลาดอื่น เช่น อินเดีย รวมถึงปริมาณการลงทุนจากญี่ปุ่นที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นไปที่สหรัฐฯ ซีบีอาร์อีคาดการณ์ว่า ญี่ปุ่นจะลงทุนในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นอีกในปีนี้ เนื่องจากก่อนหน้านี้ปริมาณการลงทุนในต่างประเทศของญี่ปุ่นอยู่ในระดับที่ต่ำ”

ตลาดอาคารสำนักงานยังเป็นที่นิยม แต่ตลาดโรงแรมเป็นที่สนใจมากขึ้น ตลาดอาคารสำนักงานยังเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่นักลงทุนเอเชียนิยมมากที่สุด คิดเป็นครึ่งหนึ่งของการลงทุนทั้งหมด เมืองที่เป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญไปยังเมืองอื่นอย่างลอนดอน นิวยอร์ก และฮ่องกง คือ แหล่งลงทุน 3 อันดับแรกสำหรับอาคารสำนักงาน ขณะเดียวกัน ตลาดโรงแรมก็ได้รับความสนใจมากขึ้น โดยโรงแรมในสหรัฐฯ สามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติได้จำนวนมาก ซึ่งธุรกรรมที่ใหญ่ที่สุดในปีที่แล้ว คือ การเข้าซื้อกิจการโรงแรมในสหรัฐฯ โดยนักลงทุนชาวจีน

นอกจากนี้ ในปี 2559 ซีบีอาร์อียังเห็นว่า ตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่พักสำหรับนักเรียนนักศึกษาและศูนย์สุขภาพ ได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นจากกลุ่มนักลงทุนเอเชียที่มีประสบการณ์ในการลงทุนมาก่อน นับเป็นครั้งแรกที่มีการบันทึกสถิติธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่พักสำหรับนักเรียนนักศึกษา ซึ่งการลงทุนขนาดใหญ่ 3 ธุรกรรมในปี 2559 มาจากนักลงทุนสิงคโปร์ “มีนักลงทุนจำนวนมากขึ้นที่กำลังมองหาโอกาสการลงทุนที่นอกเหนือไปจากสินทรัพย์ตามปกติทั่วไปเพื่อผลตอบแทนที่สูงขึ้น และเป็นการปรับตัวตามโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป” โรเบิร์ตกล่าวเพิ่มเติม

นายเจมส์ พิทชอน หัวหน้าแผนกวิจัยและที่ปรึกษาการพัฒนาโครงการ ซีบีอาร์อี ประเทศไทย กล่าวว่า “นักลงทุนเอเชียเข้ามาลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ของไทยเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียม ซึ่งมีนักลงทุนจากญี่ปุ่น 4 รายที่เข้ามา คือ มิตซูบิชิ เอสเตท ซึ่งร่วมมือกับเอพี (ไทยแลนด์) มิตซุย ฟุโดซัง ซึ่งร่วมมือกับอนันดา ดีเวลลอปเมนท์ ฮันคิว เรียลตี้ ซึ่งร่วมมือกับเสนา ดีเวลลอปเม้นท์ และชินวะ กรุ๊ป ซึ่งร่วมมือกับวรลักษณ์ พร็อพเพอร์ตี้” เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) และฮ่องกง แลนด์ กรุ๊ป ได้ลงนามในสัญญาร่วมทุนในบริษัท เอส 36 พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาโครงการคอนมิเนียมระดับซูเปอร์ลักซ์ชัวรี่ในกรุงเทพมหานคร บริเวณหัวมุมซอยสุขุมวิท 36

ขณะเดียวกัน การลงทุนในต่างประเทศจากนักลงทุนไทยก็มีให้เห็นมากขึ้น ได้แก่ การซื้ออพาร์ตเมนต์ให้เช่าในแคลิฟอร์เนียโดยแลนด์ แอนด์ เฮาส์ในปี 2555 และการก่อตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่างสิงห์ เอสเตทและฟิโก้ คอร์เปอเรชั่น เพื่อซื้อโรงแรมในเครือจูปิเตอร์ ซึ่งบริหารกลุ่มโรงแรมเมอร์เคียว 26 แห่งในสหราชอาณาจักร จากพาทรอน แคปปิตัล และธนาคารรอยัล แบงค์ ออฟ สกอตแลนด์ ในปี 2558 ด้วยมูลค่าในขณะนั้นเกือบ 8.5 พันล้านบาท (155 ล้านปอนด์)

ขอบคุณข้อมูลจาก : www.cbre.co.th