10 วิธีปั้นตัวเองเป็นนักพูดมืออาชีพในชั่วข้ามคืน
เคยมั้ย เวลามีโอกาสฟังนักพูดมืออาชีพทีไร อดตั้งคำถามดังๆ ในใจไม่ได้เสียทีว่า เขา/เธอทำอย่างไรกันหนอ ถึงทำให้ทุกคำพูดที่ถ่ายทอดออกมาเปี่ยมไปด้วยพลัง สะกดคนฟังได้ราวกับต้องมนต์ ขณะที่ตัวคุณเองแค่พูดต่อหน้าที่ประชุมยังประหม่า พูดผิดพูดถูกอยู่บ่อยๆ จนไม่กล้าฝันไปไกลถึงขั้นว่าวันหนึ่งจะเป็นนักพูดมืออาชีพได้
แทนที่จะมัวดับฝันตัวเองอยู่อย่างนั้น ลองมาดู 10 เคล็ดลับที่จะช่วยเปลี่ยนคุณคนเก่าให้กลายเป็นนักพูดมืออาชีพที่พร้อมสะกดใจคนฟังได้แบบง่ายๆ กัน บอกเลยว่า 10 เทคนิคขั้นเทพที่คัดมานี้ไม่ธรรมดา เพราะใช้ตำราเดียวกับเหล่านักพูดเพื่อสร้างแรงบันดาลใจที่ประสบความสำเร็จมาแล้วทั่วโลก
1.เลือกจำเฉพาะคอนเซ็ปต์ไม่ใช่เนื้อหาทั้งหมด : ความแตกต่างระหว่างนักพูดมืออาชีพกับนักพูดสมัครเล่น คือ กลุ่มหลังมักเลือกหาทางรอด ด้วยการพยายามท่องจำบทพูดให้ได้ทั้งหมดก่อนขึ้นเวที ขณะที่นักพูดมืออาชีพเลือกเพิ่มเสน่ห์และความเป็นธรรมชาติในการพูดให้ตัวเองด้วยการเลือกจดจำเฉพาะคอนเซ็ปต์ไอเดียของเนื้อหาเท่านั้น
2.สร้างสีสันในการนำเสนอข้อมูล : แทนที่จะใช้ Power Point เป็นเพียงฉากหลังหรือตัวช่วยในการช่วยนำเสนอประเด็นการพูด คุณอาจเพิ่มความน่าสนใจในการนำเสนอข้อมูลด้วยการใส่ลูกเล่นอย่างคลิปวิดีโอสั้นๆ หรือ ภาพตลกๆ ที่ช่วยสร้างรอยยิ้มหรือเสียงหัวเราะให้กับผู้ฟังลงไป เพื่อช่วยให้การพูดของคุณมีสีสันและน่าสนใจมากขึ้น
3.อย่าทำตัวเป็นคนเข้าใจยาก วินสตัน เชอร์ชิล อดีตนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ เคยกล่าวไว้อย่างจับใจว่า “สุนทรพจน์ที่ดี ก็ไม่ต่างจากกระโปรงของผู้หญิง ที่ต้องมีความยาวที่พอเหมาะพอจะปกปิด แต่ก็ต้องสั้นพอที่จะเรียกร้องความสนใจได้” เพราะฉะนั้น ถ้าไม่อยากให้ผู้ฟังเบือนหน้านี้ เพราะเอือมกับบทพูดที่อัดแน่นด้วยเนื้อหาที่ขาดการจัดระเบียบ เข้าใจยาก ควรออกแบบเนื้อหาการพูดให้กระชับ และเข้าใจง่าย
4.เริ่มต้นดีมีชัยไปกว่าครึ่ง แทนที่จะเสียเวลาช่วงแรกของการพูดไปกับการแนะนำตัว นักพูดมืออาชีพส่วนใหญ่เลือกใช้กลยุทธ์ “ตีหัวเข้าบ้าน” มัดใจผู้ฟังตั้งแต่ประโยคแรกด้วยการดึงผู้ฟังเข้ามามีส่วนร่วมด้วยการตั้งคำถาม, ชี้ชวนให้เห็นถึงปัญหาร่วมกันบางอย่าง หรือการเล่าเรื่องตลกแต่มีสาระเกี่ยวพันกับสิ่งที่คุณจะพูดถึงเพื่อผ่อนคลายบรรยากาศแทน
5.ท่องไว้คุณไม่ใช่นักสถิติ เพราะฉะนั้น ไม่จำเป็นที่คุณต้องทำการบ้านมากมาย เพื่อหาข้อมูลทางสถิติมาประกอบในการพูดหรืออัดแน่นในสไลด์จนทำให้คุณเหมือนนักวิชาการสุดเนิร์ดแต่ไม่ชวนน่าสนใจ และพาลให้ผู้ฟังรู้สึกว่าคุณไม่มีความคิดเป็นของตัวเองเอาซะเลย ทางที่ดีคุณควรเลือกแสดงความคิดเห็นของคุณเองบ้าง เพราะคนฟังย่อมอยากได้ยินสิ่งที่คุณอยากพูด การแบ่งปันประสบการณ์ตรงและมุมมองจากตัวคุณเองมากกว่า
6.เป็นมืออาชีพตั้งแต่ก้าวแรกบนเวที ก่อนที่คุณจะได้เผยไต๋ โชว์ภูมิความรู้ที่มี อย่ามองข้ามที่จะดูแลเรื่องการแต่งตัวและการวางตัวให้เหมาะสม เพราะตามหลักจิตวิทยาคนเราใช้เวลาเพียง 10 วินาทีเท่านั้นในการตัดสินใจคนที่เจอ
7.คุณค่าของความเงียบ ถึงคุณจะเป็นนักพูด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นศัตรูกับความเงียบ เพราะบางครั้งความเงียบก็มีอานุภาพที่ช่วยให้คำพูดของคุณทรงพลังขึ้นอย่างเหลือเชื่อ และหลายครั้งที่บรรดานักพูดเลือกใช้ความเงียบเพื่อเป็นการกลั่นกลองว่ากำลังจะปล่อยประโยคเด็ด
8.รู้จักควบคุมอารมณ์ ไม่ว่าจะเกิดเหตุไม่คาดฝันอะไรขึ้นก็ตาม อย่าปล่อยให้ความกังวลแสดงออกทางสีหน้าเด็ดขาด เพราะอาจทำให้คุณดูขาดความน่าเชื่อถือในสายตาผู้ฟัง ที่สำคัญหากระหว่างพูดเกิดความผิดพลาด เช่น คลิปวิดีโอที่เตรียมไว้เปิดไม่ได้ หรือ คุณพูดข้ามหัวข้อ ในบางครั้งคุณอาจไม่จำเป็นต้องเอ่ยคำขอโทษพร่ำเพรื่อ จนทำให้ดูไม่มืออาชีพ ทางที่ดีควรค่อยๆตั้งสติและหาวิธีแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า
9.ซ้อมให้หนักจะได้ไม่ตื่นสนาม หลังจากมั่นใจว่าตรียมพร้อมทุกอย่างแล้ว อย่าลืมซักซ้อมอีกครั้งเพื่อเสริมเกราะความมั่นใจ
10.รักษาเวลา ต่อให้คุณจะพูดน่าฟัง และจับใจขนาดไหน แต่ไม่มีใครอยากฟังการพูดแบบมาราธอนไร้จุดจบ
ขอบคุณที่มา thespeakerlab,lifehack,entrepreneur
บทความโดย : TerraBKK คลังความรู้
TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก