ถอดโมเดลความสำเร็จ “Once Again Hostel บูติก โฮสเทล” เพื่อชุมชน บนแนวคิด Inclusive Business
เมืองที่ไม่เคยหลับใหลอย่าง “กรุงเทพมหานคร” คว้ารางวัล “เมืองที่มีผู้เดินทางมาเยือนมากที่สุดในโลก” จากผลสำรวจโดยมาสเตอร์ การ์ด ปี 2559 และ “หนึ่งใน 15 เมืองที่ดีที่สุด” ในปีเดียวกัน จากการจัดอันดับของนิตยสาร Travel and Leisure ส่งผลให้การเติบโตในภาคธุรกิจการท่องเที่ยวของกรุงเทพฯ รุดหน้าอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับธุรกิจ “โฮสเทล” (Hostel) ที่กำลังได้รับความนิยม ส่งผลให้มีที่พักประเภทโฮสเทลมากกว่าสองพันแห่งทั่วกรุงเทพฯ ท่ามกลางการเติบโตแบบก้าวกระโดดของโฮสเทล ชื่อเสียงของ “Once Again Hostel” กลายเป็นที่กล่าวขานถึงในแวดวงธุรกิจ ด้วยเพราะยึดแนวคิดในการทำธุรกิจแบบ “Inclusive Business Tourism”
Inclusive Business คืออะไร?
“Inclusive Business” (“ธุรกิจเกื้อกูล” หรือ “ธุรกิจแบบมีส่วนร่วม”) ถูกหยิบยกมาพูดถึงครั้งแรกบนเวทีสหประชาชาติในปี 2008 ว่าด้วยเรื่อง “Creating Value for All: Strategies for Doing Business with The Poor” โดยมี “สวีเดน” เป็นประเทศต้นแบบในการนำแนวคิดนี้มาใช้อย่างมีคุณภาพ เพียงแต่แนวคิดนี้ยังไม่แพร่หลายนักในเมืองไทย ด้วยเป็นแนวคิดในการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงคนยากจนในชุมชน เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำของคนในสังคม ไม่ให้คนจนกลายเป็นคนชายขอบของการพัฒนาเมือง ทั้งยังกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวไปยังชุมชน และเชื่อมโยงคนจนเข้าสู่ “ห่วงโซ่คุณค่า” (Value Chain) ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
พูดง่ายๆ ก็คือ เป็นแนวคิดในการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน เพื่อช่วยเหลือชุมชนอย่างแท้จริง
งานวิจัยโดยสถาบัน Endeva กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ในหัวข้อ “Destination: Mutual Benefit – A Guide to Inclusive Tourism” ในปี 2014 เกี่ยวกับเส้นทางและขั้นตอนการทำธุรกิจแบบมีส่วนร่วมในธุรกิจการท่องเที่ยว เปรียบเทียบถึงความแตกต่างของแนวคิดการท่องเที่ยวฐานชุมชน (Community – based Tourism) กับแนวคิดในการทำธุรกิจแบบมีส่วนร่วม (Inclusive Business) พบว่า แนวคิดการท่องเที่ยวฐานชุมชน แม้จะส่งเสริมให้คนจนมีรายได้เป็นหลัก แต่เมื่อหยุดการสนับสนุน คนจนก็จะกลับมาจนเช่นเดิม ขณะที่ธุรกิจแบบมีส่วนร่วมเน้นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทกับคนจน เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในระยะยาว
“อีกสักครั้ง” กับความรุ่งเรืองในความทรงจำ
ศานนท์ หวังสร้างบุญ และ ภัทรกร ธนสารอักษร เริ่มต้นนำแนวคิดเรื่อง “Inclusive Business Tourism” มาใช้กับโฮสเทลแห่งแรกของพวกเขาอย่าง “Once Again Hostel” บนใจกลางย่านการค้าเก่าแก่ของพระนคร ที่ยังคงได้รับความนิยมในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่เสื่อมคลาย ทว่าการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของกรุงเทพฯ กำลังทำลายอาชีพดั้งเดิมของคนในชุมชนให้กลืนหายไป ท่ามกลางความทันสมัยและแสงไฟในเมืองกรุง
ศานนท์ หยิบยกประเด็นนี้มาพูดคุยบนเวทีสัมมนา TREA TALKS REAL ESTATE 2017 ซึ่งจัดขึ้นโดยสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ร่วมกับ TERRA BKK คลังความรู้และให้คำปรึกษาเชิงลึกเพื่อการลงทุนกับอสังหาริมทรัพย์ โดยการสนับสนุนจากพันธมิตรทางธุรกิจมากมาย
“คำถามก็คือ ทุกการพัฒนาเราสามารถดำรงรักษาสิ่งที่เป็นเสน่ห์ของประเทศเอาไว้ได้หรือไม่ มันจึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายความคิดในการดำเนินธุรกิจสำหรับเรา และมันก็เป็นที่มาของชื่อ “Once Again” เพราะเรามุ่งมั่นที่จะดึงเสน่ห์แบบไทยๆ กลับคืนมา ขณะเดียวกันเราก็อยากให้นักท่องเที่ยวกลับมาพักที่โฮสเทลของเราอีกครั้ง”
ความพยายามในการชุบชีวิตย่านการค้าเก่าแก่และอนุรักษ์อาชีพดั้งเดิมของชุมชน เป็นแรงบันดาลใจในการตั้งชื่อโฮสเทลว่า “Once Again” เพื่อให้ย่านชุมชนเก่าแก่ของกรุงเทพฯ กลายเป็นหมุดหมายแห่งการเรียนรู้เชิงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตดั้งเดิมสำหรับนักเดินทาง ทั้งยังส่งเสริมการจ้างงานในชุมชน เช่น แม่บ้าน พนักงานต้อนรับ รวมถึงมัคคุเทศก์อาสาและไกด์มืออาชีพ ที่คอยบริการนำเที่ยวย่านชุมชนเก่าแก่อีกด้วยก่อนที่ “4 ชุมชนเก่าแก่” จะหายไปตลอดกาล
บนพื้นที่กว่า 400 ตารางเมตรของโรงพิมพ์เก่าร้างขนาด 4 ห้องแถวในย่านประตูผี ได้รับการดัดแปลงเป็น Once Again Hostel เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก โฮสเทลแห่งนี้เชื่อมต่อกับ 4 ชุมชนเก่าแก่ที่กำลังจะสูญหายไปพร้อมกับการเติบโตและไลฟ์สไตล์ของคนเมืองที่เปลี่ยนไป นั่นคือ “ชุมชนวังกรมพระสมมตอมรพันธ์” เดิมเป็นวังเก่าของพระองค์เจ้าสวัสดิประวัติฯ พระราชโอรสในรัชกาลที่ 4 ปัจจุบันเป็นชุมชนเย็บสบง-จีวรพระ “ชุมชนนางเลิ้ง” อดีตสถานที่ยอดนิยมสำหรับชมละครชาตรีและบ้านเต้นรำที่เคยรุ่งเรืองใน พ.ศ. 2499 “ชุมชนบ้านบาตร” และ “ชุมชนป้อมมหากาฬ” บ้านเก่าเล่าเรื่องที่ชาวชุมชนเคยทำกรงนกและปั้นดินเผาขาย
“ก่อนจะทำโฮสเทล เราไปสำรวจชุมชนเหล่านั้นจนพบว่า เสน่ห์ในอดีตของชุมชมเก่าแก่ได้หายไป เราจึงพยายามรักษาอาชีพดั้งเดิม อันเป็นที่มาของชื่อชุมชนต่างๆ เอาไว้ เช่น ชุมชนบ้านบาตร ชุมชนวังกรม ตัดเย็บสบงและจีวร เราได้นำเศษผ้าที่เหลือจากการเย็บสบง-จีวรมาออกแบบเป็นกระเป๋าผ้าให้ดูร่วมสมัยมากขึ้น รวมถึงการประยุกต์งานฝีมือจากชุมชนบ้านบาตรให้กลายเป็นงานศิลปะ และวางจำหน่ายในช่องทางออนไลน์ เรามีกิจกรรมร่วมกับผู้สูงอายุในชุมชนแบบ “Community Walking Tour” ชวนกลุ่มศิลปินมาสร้างสรรค์งานศิลปะหรือร่วมกันจัดเวิร์คช็อปกิจกรรมต่างๆ และที่ผมชอบมากเป็นพิเศษคือ การจัดตั้งกลุ่ม Trash Hero เชิญชวนผู้มีจิตอาสาและนักท่องเที่ยวมาช่วยกันเก็บขยะในลำคลอง ด้วยการพายบอร์ด SUP (Stand up Paddle Board)”
ท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ต้องนึกถึงชุมชน
ศานนท์ เชื่อว่าแนวคิดในการดำเนินธุรกิจแบบมีส่วนร่วม นอกจากจะส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนให้กับชุมชนแล้ว ยังสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือกับกลุ่มธุรกิจที่มีแนวคิดเพื่อสังคมเช่นเดียวกัน อย่างการทำงานร่วมกับ “คาเฟ่ เวโลโดม” (Café Velodome) เพื่อรณรงค์ให้คนเมืองหันมาขี่จักรยาน และ “ทราเวลล์” (TRAWELL) บริษัทแนะนำและพัฒนาการท่องเที่ยวให้กลายเป็น “ธุรกิจเพื่อสังคม” ที่คว้ารางวัล One Young World Summit 2015 รวมถึงโรงเรียนอาสาเฉพาะวันหยุดอย่าง “Saturday School”
เมื่อ “ถอดรหัส” แนวคิดในการทำธุรกิจของ Once Again Hostel จะพบว่า ทั้ง “ศานนท์” และ “ภัทรกร” ต่างก็เป็นนักธุรกิจรุ่นใหม่ในวงการท่องเที่ยวและอสังหาริมทรัพย์ของเมืองไทย หากแต่แนวคิดของพวกเขากลับล้ำหน้าไปถึงการทำธุรกิจแบบยั่งยืน ด้วยการศึกษาประวัติศาสตร์ของชุมชนอย่างลึกซึ้ง นำองค์ความรู้ที่ได้จากกการเป็นวิศวกรและสถาปนิกมาใช้ในการออกแบบโฮสเทล ที่มีกลิ่นอายของความร่วมสมัยและมีเอกลักษณ์อย่างลงตัว สร้างงานและกระจายรายได้ให้ชุมชน จะเห็นได้จากร้านรวงในบริเวณใกล้เคียงที่ลุกขึ้นมาปรับปรุงภาพลักษณ์ให้สวยงามมากขึ้น และขยายฐานนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศให้แวะเวียนเข้ามาเที่ยวในชุมชน
สำคัญที่สุดคือ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน และโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาของเด็กๆ ในชุมชนให้ดียิ่งขึ้น
แท้จริงแล้วแนวคิดแบบ Inclusive Business ไม่ใช่เรื่องใหม่ และจากการลงมือปฏิบัติจริงของ Once Again Hostel ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการท่องเที่ยวแบบมีส่วนร่วม คือ แนวคิดการดำเนินธุรกิจเพื่อสังคม ที่สามารถสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับชุมชนเก่าแก่ในเมืองกรุง สร้างรายได้ให้กับธุรกิจ สร้างงาน สร้างรอยยิ้ม ให้ชาวชุมชนกลับมามีชีวิตที่มีคุณภาพได้จริงๆ ไม่ใช่แค่แนวคิดในอุดมคติที่วาดไว้ในอากาศ
ข้อมูลจากงาน TREA TALKS REAL ESTATE 2017 วันที่ 29 มิถุนายน 2560 โดย คุณศานนท์ หวังสร้างบุญหนึ่งในสปีกเกอร์ ของงานนี้
บทความโดย : TerraBKK คลังความรู้
TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก