การออกแบบ Green Roof กับเกณฑ์การประเมินมาตรฐาน อาคารเขียวไทย (TREES)
หลังคาเขียว สวนหลังคา (Roof Garden) หรือที่รู้จักกันในคำว่า Green Roof หมายถึงหลังคาที่เต็มไปด้วยพืชพรรณต้นไม้ปกคลุมหลังคา โดยประโยชน์ของการออกแบบ Green Roof เพื่อสวยงาม สร้างความร่มรื่นทำให้เกิดความใกล้ชิดธรรมชาติ อีกทั้งยังช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ กรองมลพิษ สร้างอากาศบริสุทธิ์แต่ประโยชน์ของ Green Roof ไม่ได้มีเพียงที่กล่าวไปข้างต้นเท่านั้น การออกแบบ Green Roof ยังสามารถทำคะแนนให้กับเกณฑ์การประเมินอาคารเขียวไทย (TREES) อีกด้วย
Green Roof มีความสัมพันธ์กับการทำคะแนนในหัวข้อ SL ผังบริเวณและภูมิทัศน์ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
• SL 3.1 มีพื้นที่เปิดโล่งเชิงนิเวศไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของพื้นที่ฐานอาคาร หรือ 20% ของพื้นที่โครงการในทางเลือกที่ 2 สามารถนับพื้นที่ Green Roof เป็นพื้นที่เปิดโล่งเชิงนิเวศได้ (แต่ลักษณะของหลังคาต้องมีพื้นที่สีเขียวอย่างน้อยร้อยละ 40% หรือเป็นพื้นที่ดาดแข็งที่มีกิจกรรมเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิต)สามารถทำคะแนนได้ 1 คะแนน
• SL 4 การซึมน้ำและลดปัญหาน้ำท่วม โดยการออกแบบ Green Roof เป็นวิธีหนึ่งในการลดพื้นที่ทึบน้ำซึ่งช่วยลดปริมาณน้ำฝนที่จะไหลลงสู่ท่อระบายน้ำ อันเป็นสาเหตุของปัญหาน้ำท่วม สามารถทำคะแนนได้สูงสุด 4 คะแนน
• SL 5.1 มีการจัดสวนบนหลังคาหรือสวนแนวตั้ง และ SL 5.2 มีพื้นที่ดาดฟ้าที่รับรังสีตรงจากดวงอาทิตย์ไม่เกินร้อยละ 50 ของพื้นที่โครงการ ซึ่งการออกแบบ Green Roof จะช่วยลดผลกระทบรังสีตรงจากดวงอาทิตย์ ลดการดูดซับความร้อนของตัวอาคาร และลดผลกระทบจากปรากฏการณ์เกาะความร้อนจากหลังคาและพื้นที่ดาดแข็ง โดย SL 5.1 สามารถทำคะแนนได้สูงสุด 2 คะแนน และ SL 5.2 สามารถทำคะแนนได้ 1 คะแนน
นอกจากนั้น Green Roof ยังช่วยลดอุณหภูมิที่ผิวอาคาร ส่งผลให้ภาระการทำงานของเครื่องปรับอากาศลดลง การใช้พลังงานของอาคารจึงลดลงตามไปด้วย ซึ่งมีความสัมพันธ์ในหัวข้อ EA พลังงานและบรรยากาศ: EA P2, EA 1 ประสิทธิภาพการใช้พลังงานโดยสามารถช่วยทำคะแนนได้มากถึง 16 คะแนน จึงทำให้การออกแบบ Green Roof เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ
หมายเหตุ : ภาพประกอบบทความ บางภาพไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อหาแต่อย่างใด