ทำไงดี...บ้านมีปัญหา !? อยาก กู้เงิน ซ่อมแซมบ้าน...ควรรู้อะไรบ้างนะ
เรื่องควรรู้ก่อนกู้เงินเพื่อซ่อมแซมบ้าน อยากรู้ว่าบ้านแบบไหนควรกู้เพื่อซ่อม หรือการกู้เงินซ่อมบ้านมีลำดับขั้นตอนอะไรที่สำคัญบ้าง ตามมาดูเรื่องควรรู้ก่อนกู้เงินเพื่อซ่อมแซมบ้านไปพร้อม ๆ กันเลยค่ะ
บ้านก็ย่อมต้องมีการเสื่อมสภาพตามเวลา โดยเฉพาะบ้านที่สร้างมานาน ผ่านฝนผ่านแดดมามาก ยิ่งต้องระวังเป็นพิเศษเพราะอาจจะเกิดจุดรั่วซึม แตกร้าวง่ายกว่าบ้านใหม่ หากไม่เคยทำเรื่องกู้เงินซ่อมบ้านมาก่อน ย่อมเกิดความสงสัยตามมาว่า เราจะกู้เงินซ่อมบ้านได้ไหมหรือต้องทำอย่างไรบ้าง นิตยสารบ้านและสวนเลยขอนำเรื่องควรรู้ก่อนกู้เงินซ่อมบ้านมาเฉลยให้ฟังค่ะ
ช่วงที่ผ่านมาบ้านแสนรักของเราต้องฝ่าฟันกับลมฝนมาอย่างหนัก บางบ้านหลังคาอาจแตกหัก ต้องเปลี่ยนหลายแผ่นบางหลังอาจมีจุดรั่วซึมตามฝ้าเพดาน หรือบางหลังก็ต้องการต่อเติมครัวหลังบ้านเพิ่ม อย่างไรก็ตามการซ่อมแซมหรือต่อเติมบ้านจำเป็นต้องใช้เงินมากเอาเรื่องอยู่เหมือนกัน “รู้ทีละนิด” ฉบับนี้ขอแนะนำเรื่องควรรู้ก่อนคิดกู้เงินมาซ่อมแซมหรือต่อเติมบ้านกันนะครับ
บ้านแบบไหนที่ควรกู้เพื่อซ่อม
การกู้เงินที่ต้องผ่อนชำระเป็นระยะเวลายาวนาน มีผลต่อเครดิตของเราเช่นเดียวกับการผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ซึ่งถ้าจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อลงทุนหรือกู้ซื้อบ้านเพิ่มในอนาคต ก็อาจมีผลต่อการพิจารณาของธนาคารด้วย ดังนั้นจึงควรคิดก่อนว่าบ้านของเราจำเป็นแค่ไหนที่จะต้องกู้เงิน ถ้าต้องการซ่อมแซมบ้าน แล้วเป็นส่วนที่ไม่หนักหนา เช่น การซ่อมรอยแตกร้าว การซ่อมสีผนัง เปลี่ยนกระเบื้องห้องน้ำ อาจเลือกใช้การเก็บเงินเพื่อซ่อมทีละส่วนแทน แต่ถ้าเป็นการซ่อมแซมใหญ่หรือต้องการปรับปรุงบ้านทั้งหลัง ซึ่งต้องใช้ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ก็ควรขอกู้ดีกว่าเพื่อลดภาระในการผ่อนชำระ โดยควรลิสต์รายการที่ต้องซ่อมทั้งหมดเพื่อนำไปประเมินราคา แล้วขอกู้พร้อมกันทีเดียว เพื่อให้กระทบกับการอยู่อาศัยน้อยที่สุด
กู้แบบไหนดี
สินเชื่อที่นิยมกู้เพื่อซ่อมแซม ต่อเติม และตกแต่งบ้านมี 2 ประเภท ได้แก่ สินเชื่อแบบวงเงินกู้ระยะยาว (Loan) และสินเชื่อวงเงินกู้เบิกเกินบัญชี (O/D) สินเชื่อแบบวงเงินกู้ระยะยาวจะเหมือนกับการกู้เงินซื้อบ้าน แต่ระยะเวลาผ่อนจะสั้นกว่าประมาณ 5-15 ปี อีกทั้งมีข้อจำกัดว่าต้องใช้เงินตามที่ระบุไว้ตามสัญญา วิธีนี้จะเหมาะกับการกู้เพื่อซ่อมแซม ตกแต่ง หรือต่อเติมบ้านที่มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ซึ่งต้องการระยะเวลาในการผ่อนชำระนานกว่าและยังได้ดอกเบี้ยถูกกว่า ส่วนสินเชื่อวงเงินกู้เบิกเกินบัญชีช่วยให้เราสามารถเบิกเงินหรือสั่งจ่ายเช็คได้แม้เงินในบัญชีเราจะหมด การคิดดอกเบี้ยก็จะคิดตามส่วนต่างที่เราใช้ไปตามระยะเวลา ข้อดีคือเราสามารถใช้จ่ายเงินเพื่อใช้ทำอะไรก็ได้ จึงมีความยืดหยุ่นกว่า วิธีนี้จะเหมาะกับการกู้เพื่อซ่อมแซมบ้านทีละส่วน รวมถึงการตกแต่งบ้านและการซื้อเฟอร์นิเจอร์
อยากกู้ต้องมีรายได้เท่าไร
แต่ละธนาคารจะกำหนดคุณสมบัติของผู้กู้แตกต่างกัน โดยพิจารณาตามความสามารถในการชำระหนี้ได้ โดยต้องมีอายุอยู่ระหว่าง 20-60 ปี ระยะเวลาในการกู้รวมกับอายุของผู้กู้ต้องไม่เกิน 65-70 ปี หรือตามอายุเกษียณของหน่วยงานราชการ ซึ่งเป็นอายุที่ผู้กู้สามารถผ่อนชำระได้โดยที่ยังมีงานประจำทำอยู่ หากเป็นพนักงานบริษัท ข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ ต้องมีฐานเงินเดือน 15,000 บาทขึ้นไปและถ้าประกอบธุรกิจส่วนตัวต้องมีรายได้ประมาณ 20,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป ทั้งนี้ต้องทำงานหรือดำเนินธุรกิจไปแล้วในระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งแต่ละธนาคารจะกำหนดเวลาขั้นต่ำไว้ต่างกัน เช่น ต้องทำงานในบริษัทมาแล้ว 4 เดือน หรือทำธุรกิจส่วนตัวมาแล้ว 2 ปี เพื่อใช้ตรวจสอบความมั่นคงของผู้กู้
เอกสารและหลักฐานประกอบการกู้
การยื่นเรื่องกู้ต้องใช้เอกสารค่อนข้างมาก เพื่อตรวจสอบประวัติของผู้กู้ว่าจะมีความสามารถในการชำระหนี้มากน้อยแค่ไหน สินทรัพย์ที่ใช้เป็นหลักประกันจะมีมูลค่าเท่าไร เพื่อพิจารณาวงเงินในการปล่อยกู้ ซึ่งแต่ละคนจะได้ไม่เท่ากันหรือไม่ได้เลย หากกู้คนเดียวก็สามารถกู้ได้น้อย ต้องมีผู้กู้ร่วม ซึ่งมักพิจารณาเฉพาะคนในครอบครัวเป็นหลัก สำหรับเอกสารที่ใช้จะมีดังนี้
เอกสารข้อมูลส่วนบุคคล ได้แก่ สำเนาบัตรประชาชนหรือบัตรข้าราชการ สำเนาทะเบียนบ้านสำเนาทะเบียนสมรส เอกสารแสดงรายได้ ได้แก่ หนังสือรับรองเงินเดือน สลิปเงินเดือน รายการบัญชีย้อนหลัง 6 เดือน ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเอกสารทางด้านหลักประกัน ได้แก่ สำเนาโฉนดที่ดิน แบบก่อสร้างและรายการวัสดุ สัญญาว่าจ้างปลูกสร้าง และใบอนุญาตก่อสร้าง
เรื่องที่ต้องรู้ก่อนการกู้
เมื่อทำเรื่องขอกู้เงิน ธนาคารจะส่งคนไปประเมินทรัพย์สินที่เราจะนำไปค้ำประกัน โดยที่วงเงินกู้สูงสุดจะอยู่ที่ 70-80% ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาที่ราคาประเมินอาจต่ำกว่าราคาที่เราต้องใช้จริง ถ้าอยากให้ประเมินได้มูลค่าตลาดดีบ้านหรือทรัพย์สินนั้นควรอยู่ในสภาพสมบูรณ์ มีเฟอร์นิเจอร์ครบ เพื่อให้ราคาไม่ตกลงจากราคาตลาดมากนัก นอกจากนี้การกู้เงินเพื่อใช้ซ่อมแซมบ้านต้องมีเงินออมไว้อีกก้อนหนึ่งสำหรับเติมในส่วนที่ขาดจากเงินกู้ของธนาคาร ทั้งยังมีค่าธรรมเนียมอื่น ๆ ที่ต้องใช้ด้วย เช่น ค่าประเมินหลักทรัพย์ ค่าธรรมเนียมยื่นกู้การจดทะเบียนจำนอง ค่าประกันภัย ค่าอากรปิดสัญญาสินเชื่อ ค่าหนังสือมอบอำนาจ ซึ่งเมื่อรวมกันหลายรายการก็เป็นค่าใช้จ่ายที่เยอะพอสมควร ดังนั้นควรเผื่อเงินในส่วนนี้ไว้ด้วย ซึ่งเป็นส่วนที่ธนาคารต้องใช้เพื่อดูความสามารถในการชำระหนี้ของเราประกอบด้วยเช่นกันครับ
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก นิตยสารบ้านและสวน เดือนกันยายน 2559
CRE : www.kapook.com ทำไงดี...บ้านมีปัญหา !? อยาก กู้เงิน ซ่อมแซมบ้าน...ควรรู้อะไรบ้างนะ