Urbanization หรือ การขยายตัวของสังคมเมือง เป็นหนึ่งใน “เมกะเทรนด์” สำคัญของโลก ที่เกิดจากการรวมตัวของผู้คนจำนวนมากจนกลายเป็นชุมชนเมืองขนาดใหญ่หรือเกิดจากการกระจายความเจริญของเมือง จากเมืองศูนย์กลางออกไปยังเมืองอื่นๆ ซึ่งได้เข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน ตลอดจนรูปแบบและการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างสิ้นเชิง

       จากข้อมูลโดยสหประชาชาติระบุว่า โลกกำลังเข้าสู่สังคมเมืองอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มจำนวนของประชากรโลก โดยคาดการณ์ว่าในอีก 30 ปีข้างหน้า จะมีผู้อยู่อาศัยในชุมชนเมืองอีกราว 3 พันล้านคน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ในอดีตใช้เวลาถึง 10,000 ปี

       “การเปลี่ยนผ่านสู่สังคมเมืองที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกขณะนี้ ถือเป็นหนึ่งในความท้าทายสำคัญในประวัติศาสตร์แห่งมวลมนุษยชาติ” นายจอห์น มิลลาร์ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานพัฒนากลยุทธ์ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวบนเวที Techsauce Global Summit 2017

        จากการจัดอันดับสังคมเมืองของประเทศต่างๆ ในปี 2015 ของ CIA World Factbook ในปี 2015 ระบุว่า ระดับ Urbanization ของประเทศในอาเซียนยังอยู่ในระดับต่ำ โดยอยู่ในระหว่างอันดับที่ 114 ถึง 183 จากทั้งหมด 199 ประเทศทั่วโลก อินโดนีเซียมีประชากรอาศัยอยู่เมืองที่ 53.7% ตามด้วยประเทศไทย 50.4% ฟิลิปปินส์ 44.4% ลาว 38.6% เวียดนาม 33.6% และกัมพูชา 20.7% อย่างไรก็ตาม ขณะนี้พบว่าการพัฒนาของสังคมเมืองในประเทศต่างๆ ล้วนเป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้านของไทย ไม่ว่าจะเป็นลาว กัมพูชา พม่า

การขยายตัวของสังคมเมือง+เทคโนโลยี = โอกาส

         และเมื่อการถือกำเนิดขึ้นของ Urbanization มาบรรจบกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อนันดามองว่านั่นคือ “โอกาส” ที่ทำให้เรามีเครื่องมือในการจัดการกับความท้าทายต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่นเดียวกันกับการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์อนันดา ได้นิยามตัวเองใหม่เป็น UrbanTech Solutions Company แทนที่การเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ในรูปแบบเดิมๆ

        UrbanTech คือ การแก้ปัญหาของคนเมืองด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งนวัตกรรมนี้ไม่ใช่เพียงนวัตกรรมทางการก่อสร้าง นวัตกรรมทางการเงิน นวัตกรรมการตลาด แต่คือนวัตกรรมที่สนองตอบไลฟ์สไตล์ของชีวิต

         การตีความนวัตกรรมในรูปแบบเดิมๆ ที่จำกัดด้วยมุมมองเดิมๆ อาจทำให้ไม่ทันกับโลกแห่ง “ความพลิกผัน” หรือ Disruption เนื่องด้วยการเกิดขึ้นของเทคโนโลยี  และบริษัทที่ก้าวไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงนั้น ย่อมจะสูญหายไปตามกาลเวลา โดยข้อมูลจาก Standford Business School ระบุว่า ช่วงอายุบริษัทชั้นนำของสหรัฐฯ มีแนวโน้มลดลงจากการคาดการณ์ในอดีตที่ 90 ปี เหลือเพียง 15 ปี สอดคล้องกับอัตราการอยู่รอดของ 500 บริษัทชั้นนำของสหรัฐฯ (Fortune500) โดยระหว่างปี 1957-1997 เหลืออยู่รอดเพียง 37%

        นอกจากนี้ แนวคิดใหม่ๆ ทางเศรษฐศาสตร์อย่าง “Sharing economy หรือเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน” ที่เกิดขึ้นจากการใช้ทรัพยกรร่วม ทำให้เกิดวิถีทางธุรกิจใหม่ๆ เพื่อตอบสนองวิถีชีวิตประจำวันของคน ซึ่งแนวคิดดังกล่าวได้ถูกนำมาปรับใช้และก่อให้เกิด UrbanTech ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักของอนันดาในการเปลี่ยนผ่านทางธุรกิจ

UrbanTech เปลี่ยนโมเดลธุรกิจ

         เช่นเดียวกับโมเดลทางธุรกิจที่ต้องเปลี่ยนแปลง ต่อไปผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องจ่ายในราคาที่แพงขึ้นเพื่อความสะดวกสบายในชีวิต ไม่ต้องซื้อคอนโดติดรถไฟฟ้าเพื่อหลีกเลี่ยงรถติดระหว่างเดินทาง แต่สามารถซื้อบ้านแถบชานเมือง แล้วเรียกรถไร้คนขับให้มารับเมื่อลงลิฟท์ถึงชั้นล่างพอดี ซึ่งคำว่า Disruption นี้เอง ได้ทำให้ต้นทุนในการดำรงชีวิตถูกลง ซึ่งในสหรัฐฯ มีการคำนวณต้นทุนในการเดินทางต่อไมล์ พบว่า แท็กซี่มีต้นทุนแพงที่สุดที่ 2.5$ ต่อไมล์ ตามด้วย อูเบอร์ 1.8$ และ 0.3$ สำหรับรถไร้คนขับ นั่นหมายความว่า แทนที่คนเมืองจะต้องซื้อคอนโดในเมืองที่มีราคาแพง ก็เปลี่ยนเป็นซื้อบ้านชานเมืองที่มีขนาดใหญ่กว่า แล้วใช้บริการรถไร้คนขับซึ่งมีต้นทุนในการเดินทางที่ถูกกว่ามาก ซึ่งทำให้อนันดาต้องเปลี่ยนมุมมองในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในอนาคต

“UrbanTech is the greatest opportunity in history to benefit the greatest number of human beings” คุณมิลลาร์ กล่าว

          ทั้งนี้ อนันดา ตั้งเป้าหมายการเติบโตแบบบริษัทเทคโนโลยี ซึ่งมีการเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยตั้งเป้าหมายว่าในอีก 2 ปีข้างหน้า อนันดาจะโตขึ้น 10 เท่า นับตั้งแต่การเข้าตลาดหลักทรัพย์เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2012 จากยอดโอนราว 5,000 ยูนิตเป็น 58,000 ยูนิต ซึ่งจากการคาดการณ์ ปี 2017 นี้ ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของอนันดา โดยตั้งเป้าเติบโตที่ 69% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งสิ่งสำคัญที่ทำให้ถึงเป้าหมายนั้น คือ นวัตกรรมและเทคโนโลยี

ชูโมเดล “สตาร์ทอัพ” เพราะยุคนี้ต้อง “เร็ว”

          แนวคิดของการทำเองทุกเองอย่างได้จัดว่าล้าสมัยไปแล้ว บริษัทยาถือเป็นอุตสาหกรรมแรกที่ใช้โมเดล outsource ในการ “ลีนองค์กร” เพื่อความคล่องตัวในการทำงานและเสริมศักยภาพของผู้เชี่ยวชาญด้วยเงินทุน และบริษัทเป็นเพียง “Platform” เพื่อสนับสนุนทางด้านการตลาด เงินทุนและการขาย เช่นเดียวกับอนันดาที่เปลี่ยนความคิดในการบริหารธุรกิจ จาก “พัฒนา” สู่การ “ค้นหา” นวัตกรรม จาก “การบริหารทรัพยากร” (Asset Management) เพื่อเป็นเจ้าของแล็บที่ดีที่สุด เป็น “การบริหารการเข้าถึง” (Access management) เพื่อค้นหาโซลูชั่นที่ดีที่สุดเพื่อตอบสนองลูกค้าก่อนคู่แข่ง

“ในโลกธุรกิจสมัยใหม่ เราเชื่อว่าสิ่งสำคัญไม่ได้มาจากการที่เราเป็นเจ้าของสิ่งใด แต่เราเร็วได้เท่าไร” นายมิลลาร์ กล่าวทิ้งท้าย

 

 ขอบคุณข้อมูลจาก          techsauce