บางคนพร้อมยืดอกรับว่าตัวเองว่าเป็น “พวกเพอร์เฟกต์ชั่นนิสต์” อย่างไม่ลังเล ขณะที่บางคนยอมรับว่าเคยเป็นแต่ตอนนี้ “เลิกแล้วค่ะ” เพราะทุกข์มาเยอะกับการใช้ชีวิตแบบทุกอย่างต้องเป๊ะ สมบูรณ์แบบดั่งใจ แต่ยังมีอีกหลายคนที่ยังอดสงสัยไม่ได้ว่า ตัวเองเข้าข่ายเป็นพวกเพอร์เฟกต์ชั่นนิสต์เกินเหตุหรือเปล่า

                 

ก่อนอื่นต้องเคลียร์ให้ชัดก่อนว่า อุปนิสัยสมบูรณ์แบบนิยมไม่ใช่สภาวะความผิดปกติทางจิตที่เป็นแล้วต้องรีบกำจัด แต่เป็นอุปนิสัยของพวกที่มีความสุดโต่งในตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องงาน หรือ ชีวิตส่วนตัว ใช้ชีวิตอยู่บนความคาดหวังว่าทุกอย่างต้องดีที่สุดตามมาตรฐานที่ตัวเองตั้งไว้ แต่หากว่าคุณจะสงสัยว่าตัวเองเข้าข่ายเพอร์เฟคชั่นนิสต์สายฮาร์ดที่นับวันยิ่งเสพติดคำว่า “สมบูรณ์แบบ” จนชีวิตเริ่มถอยห่างจากคำว่าความสุขออกไปทุกที แนะนำให้รีบเช็คด่วนก่อนจะปล่อยตัวให้ถลำลึกไปมากกว่านี้  

                   1.โหยหาแต่จะได้รับการชื่นชม นิสัยเพอร์เฟกต์ชั่นนิสต์ไม่ได้สร้างได้ในชั่วข้ามคืน หากแต่ต้องได้รับการบ่มเพาะมาตั้งแต่เยาว์วัย จากผู้ปกครองและคุณครูที่มักชื่นชมและให้รางวัลแก่เด็กที่สามารถทำผลงานได้ดีกว่าคนอื่นๆ จนเหมือนเป็นผู้ฝังไมโครชิปเข้าไปในหัวเด็กๆแบบไม่ตั้งใจว่า ฉันต้องประสบความสำเร็จ แล้วฉันจะได้รับการชื่นชม แต่ความสุขที่แขวนอยู่บนลมปากของคนอื่นนี้ นักจิตวิทยาเปรียบเปรยว่าเหมือนดาบสังคม เพราะไม่ว่าคุณจะลงมือทำอะไรก็ตาม คุณจะมีความรู้สึกสองขั้วในใจ หนึ่ง ปรารถนาที่จะไปให้ถึงเป้าหมาย แต่ก็หนีไม่พ้นความกลัวล้มเหลวที่กัดกินในใจ

                   2.เจ็บแต่ยอม คติประจำใจของคนที่เข้าข่ายเพอร์เฟกต์ชั่นนิสต์แบบเอ็กซ์ตรีม คือ“no pain, no gain” หรือแปลแบบบ้านๆว่า “ไม่เจ็บปวดก็ไม่ได้มา” มนุษย์เพอร์เฟกต์ชั่นนิสต์รู้ทั้งรู้ว่า สิ่งที่พวกเขาทำอยู่อาจจะดูไร้เหตุผล แต่พวกเขาพร้อมมองข้ามความเจ็บปวด ความเหนื่อยล้าทั้งปวง ยอมเทหมดหน้าตัก เพียงเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย

                  3.ชอบจับผิดคนอื่น ในทางจิตวิทยาอธิบายถึงพฤติกรรมดังกล่าวว่า เป็นกลไกในการปกป้องตัวเองอย่างหนึ่งของมนุษย์ คนที่คิดว่าตัวเองสมบูรณ์แบบเกินเหตุ มักใช้สายตาสอดส่องเพื่อจับจ้องความผิด หรือข้อบกพร่องของคนอื่นแล้วนำมาเปรียบเทียบ ตัดสินโดยอิงจากมาตรฐานที่ตัวเองสร้างขึ้น

                  4.ไม่กล้าเสี่ยง ในโลกของพวกเพอร์เฟคชั่นนิสต์มีเพียงสีขาว และ ดำ ไม่มีพื้นที่ตรงกลางไว้สำหรับสีเทา เพราะฉะนั้นในหัวของพวกเขาจึงมีเพียงแต่คำว่า ประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวเท่านั้น ไม่มีคำว่า พลาดเพื่อเป็นบทเรียนในพจนานุกรม อะไรที่ประเมินแล้วว่ามีแนวโน้มจะไม่สำเร็จ พวกเขาเลือกที่จะถอยห่าง ไม่เสี่ยงที่จะทำ ซึ่งถือเป็นการปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ของตัวเองอย่างน่าเสียดาย

                  5.จอมผลัดวันประกันพรุ่ง เพราะคาดหวังว่างานที่ออกมาต้องดีที่สุด ล้มเหลวไม่ได้จึงเป็นเหตุผลให้หลายครั้งพวกเขาเลือกที่จะสวมบทจอมผลัด(วันประกันพรุ่ง) ไม่ยอมเริ่มลงมือทำ ตราบที่ยังไม่พบวิธีที่ดีที่สุด โดยลืมคิดไปว่า ผลงานยิ่งใหญ่ไม่อาจเกิดขึ้นได้หากไม่เริ่มก้าวแรก และใช้เวลาเพื่อบ่มเพาะ ดั่งที่ โจดี ปิโคต์ นักเขียนชาวอเมริกันได้เปรียบเทียบไว้อย่างเห็นภาพว่า “คุณสามารถแก้ไขงานจากหน้ากระดาษแย่ๆได้ แต่ไม่สามารถแก้ไขงานใดๆจากหน้ากระดาษว่างเปล่า”

                  6.ความรู้สึกผิดสุ่มอยู่เต็มอก หลายครั้งที่คนกลุ่มนี้มักทำร้ายตัวเองด้วยการสะสมความรู้สึกผิด ความคิดลบๆไว้ในใจมากมาย เป็นพวกภูมิคุ้มกันจิตใจต่ำรับมือกับความผิดหวังไม่ค่อยได้ นานวันเข้าก็เกิดเป็นบาดแผลที่ฝังลึกในใจจนยากจะเยียวยา นำไปสู่อาการซึมเศร้า และวิตกกังวลในที่สุด

                  7.สร้างกำแพงหนาล้มตัวเองเอาไว้ ดร.เบรเน่ บราวน์ นักวิจัยและนักเขียนระดับนิวยอร์กเบสต์เซลเลอร์นิยามเหล่าเพอร์เฟคชั่นนิสต์ว่า เป็นพวกที่ยอมแบกโล่กำบังที่มีน้ำหนักถึง 20 ตันไว้กับตัว เพียงเพื่อใช้ป้องกันตัวเองจากความเจ็บปวด และสังคมรอบข้าง พวกเขาไม่กล้าแม้แต่จะลองผูกมิตรกับคนรอบข้าง เพราะกลัวถูกปฏิเสธ และไม่กล้าเผยให้คนอื่นเห็นถึงมุมอ่อนไหวของตัวเอง เพราะกลัวคนอื่นจะรู้จุดอ่อนของตัวเอง

ขอบคุณที่ข้อมูลจาก https://www.forbes.com และ http://www.huffingtonpost.com

บทความโดย : TerraBKK คลังความรู้

TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก