ประเทศสิงคโปร์ (31 สิงหาคม 2560) – Vertex Ventures Southeast Asia and India (Vertex SEA/India) ประกาศว่าธนาคารกสิกรไทยเป็นนักลงทุนสถาบันแห่งแรกของไทยที่ได้เข้าเป็นพันธมิตร รวมทั้งเป็นนักลงทุนประเภทธนาคารรายแรกของกองทุนฟันด์ 3

          นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทยได้เข้าเป็นพันธมิตรกับ Vertex Ventures ของสิงคโปร์ โดยเข้าร่วมเป็นผู้ลงทุนใน Vertex Ventures Southeast Asia and India Fund III (Vertex SEA/India) ซึ่งเป็นกองทุนที่มีศักยภาพและประสบการณ์สูง ประสบความสำเร็จในการลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพระยะเริ่มแรก เช่น การเป็นนักลงทุนสถาบันรายแรกที่ลงทุนใน Grab เป็นต้น จึงเชื่อมั่นว่าการที่ธนาคารกสิกรไทยได้เข้าเป็นพันธมิตรผ่านการลงทุนในกองทุนฟันด์ 3 ครั้งนี้ เครือข่ายพันธมิตรของ Vertex Ventures จะช่วยให้ธนาคารฯ ได้เข้าถึงโอกาสใหม่ ๆ ในภูมิภาค และสามารถก้าวขึ้นสู่เวทีโลกในการติดตามนวัตกรรมทางเทคโนโลยีและแบบแผนทางธุรกิจในภูมิภาคอื่น ๆ ได้อย่างใกล้ชิดอีกด้วย

ธนาคารกสิกรไทยเป็นธนาคารขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของไทย ได้จัดตั้งบริษัท บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล จำกัด ขึ้นเป็นหน่วยงานใหม่ล่าสุดที่จะดูแลด้านการลงทุนในกองทุนร่วมลงทุน (venture capital fund – VC fund) และธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีนวัตกรรมทางการเงินซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของธนาคาร มีวงเงินลงทุนเริ่มต้นจำนวน 1,000 ล้านบาท กำหนดนโยบายที่จะลงทุนโดยตรงในธุรกิจสตาร์ทอัพของไทยและต่างประเทศและการลงทุนผ่าน VC fund ชั้นนำ   มีนายธนพงษ์ ณ ระนอง ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ

          นายคี ล็อค ฉัว หุ้นส่วนผู้จัดการ Vertex SEA/India กล่าวว่า ทางกองทุนมีความยินดีที่ธนาคารกสิกรไทยได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรครั้งนี้ นับเป็นนักลงทุนสถาบันแห่งแรกของไทยที่ได้เข้าเป็นพันธมิตร รวมทั้งเป็นนักลงทุนประเภทธนาคารรายแรกของกองทุนฟันด์ 3 ด้วย ธนาคารกสิกรไทยนับว่าเป็นธนาคารฯ ที่มีความก้าวหน้าในการเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ และพัฒนานวัตกรรมทางการเงิน เพื่อตอบสนองต่อความต้องการอันหลากหลายของลูกค้า ซึ่งเป็นไปตามยุทธศาสตร์การยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลางของธนาคารฯ และการทำงานร่วมกันของทั้งสองสถาบันจะนำไปสู่โอกาสทางการลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดีย ซึ่งเป็นภูมิภาคที่กองทุนนี้มีการลงทุนอยู่ ทั้งนี้ พบว่าการลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพในภูมิภาคนี้ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากจำนวนเงินลงทุน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2551 เป็น 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2558 โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งของการลงทุนดังกล่าวเป็นสตาร์ทอัพที่จดทะเบียนในประเทศสิงคโปร์ เรามั่นใจว่าจากความสนใจของประเทศไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ที่มีเพิ่มขึ้นต่อธุรกิจสตาร์ทอัพและระบบการร่วมลงทุน จึงเชื่อว่าการเจริญเติบโตของธุรกิจดังกล่าวในภูมิภาคนี้จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในอนาคต

 

          ฟินเทค นับว่าเป็นกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญของกองทุนนี้ เนื่องมาจากบทบาทของเทคโนโลยีดิจิทัลในการสร้างคุณค่าในสาขาธุรกิจการเงินได้มากขึ้น ที่ผ่านมา กองทุน Vertex SEA/India ได้ลงทุนในฟินเทคที่หลากหลาย เช่น Instarem – แพลทฟอร์มของการชำระเงินระหว่างประเทศทางออนไลน์ Validus – แพลทฟอร์มการให้กู้ยืมแก่ SME และ Turnkey Lender – แพลทฟอร์มการจัดการด้านเงินกู้ของธนาคารบนระบบคลาวด์    และเชื่อมั่นว่าด้วยองค์ความรู้ของธนาคารกสิกรไทยในฐานะผู้นำด้านนวัตกรรมการเงินของไทย จะเป็นประโยชน์ต่อกองทุนในการลงทุนในฟินเทคภูมิภาคนี้อย่างแน่นอน

          Vertex Venture SEA Management ซึ่งได้รับการอนุญาตให้ประกอบธุรกิจโดยธนาคารกลางของประเทศสิงคโปร์ (Monetary Authority of Singapore – MAS) ได้จัดตั้งกองทุนนี้ขึ้นหลังจากที่ได้ประสบความสำเร็จในการลงทุนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนใน Grab ซึ่งเพิ่งสามารถระดมทุนจาก Softbank และ Didi Chuxing ได้ถึง 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อเดือนกรกฎาคม 2560 นอกจากนี้ Vertex SEA/India ยังเป็นนักลงทุนสถาบันรายแรกที่ลงทุนในธุรกิจเด่น ๆ ในภูมิภาค เช่น Patsnap, M17 และ Reebonz สำหรับกองทุนฟันด์ 3 จะลงทุนตามยุทธศาสตร์ของ Vertex คือ มุ่งเน้นธุรกิจที่มีศักยภาพและนวัตกรรมในระดับสูง โดยจะสร้างธุรกิจดังกล่าวให้กลายเป็นธุรกิจระดับโลกต่อไป ขณะนี้กองทุนฟันด์ 3 มีขนาดที่ใหญ่กว่าเป้าหมายคือ 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แล้ว และกำลังจะปิดกองครั้งสุดท้าย

 

ขอบคุณข้อมูลจาก www.kasikornbank.com