ละแวกบ้าน ที่เราอยู่เป็นอย่างไร? (ตามทฤษฎีผังเมือง)
ถ้าหากจะมีการตั้งหัวข้อ “ทำเล” เพื่อมาถกกันว่าทำเลตรงไหนถึงจะเรียกว่าดี? เกณฑ์ในการตัดสินใจก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่องการเข้าถึงของขนส่งมวลชน, ถนน, ทางด่วน, ศูนย์การค้า และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ แต่รู้หรือไม่ ในทางผังเมืองมีทฤษฎีของการออกแบบวางแผน “ละแวกบ้าน” ที่ดี
ถูกนำเสนอโดย Clarence Perry มาตั้งแต่ช่วงปี 1920’s หรือประมาณเกือบหนึ่งร้อยปีที่แล้ว ในชื่อแนวคิด “The Neighborhood Unit” ซึ่งเป็นหน่วยชุมชนที่อยู่อาศัยที่เล็กที่สุด โดยอยู่ในรัศมีประมาณ 1 ไมล์ หรือ 1.7 กม.แนวคิด “Neighborhood Unit” เป็นแนวคิดการออกแบบชุมชนโดยอิงความสัมพันธ์ขององค์ประกอบเมืองเป็นหลัก โดยจะต้องสามารถเดินไปกลับได้อย่างสะดวก ภายในระยะเวลา 5 นาที (หรือระยะ 1 ไมล์) ซึ่งหมายความว่าแนวคิดนี้มีไว้เพื่อรองรับชุมชนขนาดเล็ก หรือกลุ่มละแวกบ้าน ที่มีองค์ประกอบของชุมชนมากกว่าการเป็นแค่ที่อยู่อาศัย
แน่นอนว่าแนวคิดเริ่มต้นของ Clarence Perry ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมย่อมไม่ได้รองรับการเกิดขึ้นของรถยนต์ ในช่วงปลายยุค 1980’s – 1990’s จึงเกิดภาวะและแนวคิด Urbanism ขึ้น โดยเมืองเริ่มเติบโตและมีองค์ประกอบมากขึ้น ทำให้การกระจายศูนย์กลางเริ่มเป็นไปแบบ Suburbanization ที่มีหลายศูนย์กลางย่อย และการออกแบบผังหมู่บ้านจัดสรรในยุคนี้ เริ่มมีรูปแบบของ Cul-de-sacs หรือการที่ปลายสุดของถนนเส้นหลักในชุมชนมีลักษณะเป็นวงกลม บ้านหลายหลังสามารถเข้าถึงได้
Neighborhood Unit คือการที่ละแวกชุมชนมีการประกอบส่วนของ โรงเรียนประถม, ศูนย์การค้าขนาดเล็กหรือช็อปปิ้งเซ็นเตอร์, สวนสาธารณะ และที่อยู่อาศัย ซึ่งก็เป็นความต้องการพื้นฐานของคุณภาพชีวิตมนุษย์ที่หมายถึง เรียน-เล่น-บริโภค-พักผ่อน ซึ่งถนนที่เข้าสู่โซนที่อยู่อาศัยนั้น ในช่วงนั้นนิยมใช้ถนนแบบ Cul-de-sac ส่วนถนนที่เป็น Main Street หรือถนนเส้นหลักของแนวคิดนี้นั้น จะเป็นถนนที่เชื่อมย่านสู่ย่าน ซึ่งจะอยู่บริเวณรอบนอก ถนนภายในจะเป็นถนนเส้นย่อยหรือถนนขนาดเล็ก ที่ไม่เน้นการรองรับรถยนต์
หลังจากที่ยุคสมัยเปลี่ยนผ่าน แนวคิดและรูปแบบของ Neighborhood Unit ก็มีการพัฒนาและปรับเปลี่ยนอีก 2 ครั้ง ในปี 1994 (Duany Plater-Zyberk) และ 2007 (Douglas Farr) แต่จากภาพรวมก็มีลักษณะที่อิงตามเวอร์ชั่นแรกเป็นหลัก โดยมีปัจจัยคือ โครงข่ายถนน, บริการสาธารณะ, ขนาดประชากร, ขนาดครัวเรือนและความหนาแน่น และการเดินเท้า เพื่อให้สามารถเข้าถึงพื้นที่ต่างๆภายในย่านได้ตามแนวคิด “ภายใน 5 นาที”
กรุงเทพฯ มีย่านไหนที่เข้าข่าย Neighborhood Units บ้าง?
สำหรับในกรุงเทพมหานคร มีหลายย่านที่สามารถเดินถึงสิ่งอำนวยความสะดวกได้ภายใน 5 นาที อาทิ สีลม-สาทร, สยาม, สามย่าน, พาหุรัด, เจริญกรุง, ทองหล่อ-เอกมัย, สุขุมวิทตอนต้น เป็นต้น แต่เนื่องจากบางทำเล ราคาที่ดินนั้นพุ่งสูง ทำให้ไม่ค่อยพบเห็นที่อยู่อาศัยแนวราบมากนัก ซึ่งถ้าหากมองและเปรียบเทียบกับแนวคิด Neighborhood Unit ตรงๆแล้ว เรามองว่า ทำเลอารีย์ มีองค์ประกอบของชุมชนค่อนข้างชัดเจน ด้วยองค์ประกอบดังนี้
- ศูนย์กลางพาณิชย์ - รองรับประชากรประมาณ 7,500 – 20,000 คน
- สถานศึกษา - รองรับนักเรียนประมาณ 1,000 – 4,000 คน
- โรงพยาบาล - จำนวนเตียง 200 – 500 เตียง
- โครงข่ายถนนเ้ส้นหลัก - ถนนพหลโยธิน, ถนนวิภาวดีรังสิต และทางพิเศษศรีรัช
- โครงข่ายถนนเส้นรอง - ถนนประดิพัทธิ์, ถนนสุทธิสารวินิจฉัย
- โครงข่ายถนนภายในชุมชน - ซอยพหลโยธินและซอยประดิพัทธ์
- ขนส่งสาธารณะ - รถประจำทาง, วินมอเตอร์ไซค์ และรถไฟฟ้าสายสีเขียว
หากอยากรู้ว่าละแวกบ้านของคุณนั้นเข้าข่ายทฤษฎี Neighborhood Unit หรือไม่ เย็นนี้กลับบ้านไปลองเดินจากบ้านไปศูนย์การค้าหรือขนส่งสาธารณะที่ใกล้ที่สุดดู ถ้าหากคุณไม่รู้สึกเหนื่อยจนเกินไป และรู้สึกว่้าให้เดินอีกก็ยังไหว นั่นแหละ คือผลลัพธ์ หรือลองตรวจสอบระยะการเดินจาก http://www.goodwalk.org/ - เทอร์ร่า บีเคเค
บทความโดย : TerraBKK คลังความรู้
TerraBkk ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก