แน่ใจแล้วหรือว่า การบรรลุเป้าหมายคือความสุข พลิกมุมคิด เมื่อ “กระบวนการ” สำคัญกว่า
เราทุกคนล้วนถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กว่า ถ้าอยากประสบความสำเร็จต้องเริ่มต้นจากการตั้งเป้าหมาย และทะยานไปให้ถึง จนหลายครั้งทำให้เราหลงลืมว่า สิ่งที่สำคัญกว่าการไปถึงเป้าหมาย คือ กระบวนการระหว่างทางเพื่อนำเราไปสู่จุดหมายต่างหาก ถ้าไม่เชื่อ เจมส์ เคลียร์ นักเขียนชาวอเมริกัน ที่ทุ่มเทศึกษาเรื่องราวของคนประสบความสำเร็จมากมาย เพื่อค้นหาว่าพวกเขามีพฤติกรรมและวินัยในการดำเนินชีวิตอย่างไรถึงประสบความสำเร็จ เพื่อถ่ายทอดเป็นบทความเชิงพัฒนาตัวเองอย่างน่าสนใจ มีคำถามชวนคิดมาให้ลองคิดต่อเล่นๆ
...หากคุณเป็นโค้ช เป้าหมายของคุณคือ การพาทีมไปสู่การเป็นแชมป์ กระบวนการที่จะพาทีมไปถึงจุดนั้นได้ คือ การฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอ
...หากคุณเป็นนักเขียน เป้าหมายของคุณคือ การเขียนหนังสือให้ได้ 1 เล่ม กระบวนการที่จะพาคุณไปถึงจุดนั้นได้ คือ การจัดตารางในการเขียนแต่ละสัปดาห์
....หากคุณเป็นนักธุรกิจป้ายแดง เป้าหมายของคุณคือ สร้างธุรกิจให้แตะหลักล้าน กระบวนการที่จะพาคุณไปถึงจุดนั้นได้คือ การวางแผนการขาย และ การทำการตลาด
คำถามคือ หากคุณมองข้ามเป้าหมาย แล้วหันไปใส่ใจแต่กระบวนการที่จะพาคุณไปถึงเป้าหมายแทน คุณคิดว่า คุณยังจะบรรลุเป้าหมายที่ต้องการได้อยู่มั้ย?
หากคำตอบแรกที่แหวบขึ้นในหัวของคุณ คือ ใช่ จงเชื่อในสัญชาตญาณนั้น และ เปิดใจยอมรับเถอะว่า บางครั้ง เราไม่จำเป็นต้องให้ค่ากับเป้าหมายมากเกินไป เพราะอะไรนะหรือ?...
1.เป้าหมายเป็นตัวดูดพลัง ทำให้คุณไม่มีความสุขกับตัวเองในวันนี้
รู้ไว้เลยว่า ตราบใดที่คุณยังมีกรอบความคิดเช่นนี้ เท่ากับว่าคุณกำลังเอาความสุขไปผูกไว้กับความสำเร็จ และ ผลักไสตัวคุณในวันนี้ให้ออกห่างจากคำว่าความสุขมากขึ้นทุกที คุณจะไม่มีวันพบกับความสุข ตราบที่คุณยังบอกตัวเองทุกวันว่า “เมื่อไหร่ที่ฉันประสบความสำเร็จ ฉันจึงจะมีความสุข เมื่อไหร่ที่ฉันไปถึงเป้าหมาย เมื่อนั้นฉันถึงจะเป็นคนที่ประสบความสำเร็จ”
ลองลืมเป้าหมายที่มีไปชั่วคราว และหันมาโฟกัสกับกระบวนการเพื่อไปถึงเป้าหมาย มีความสุขกับความสำเร็จเล็กๆ ที่เกิดขึ้นทุกวันดีกว่า
2.เป้าหมายเป็นอุปสรรคขวางทางความสำเร็จที่ยั่งยืน
คุณอาจจะหลงคิดไปว่า เป้าหมายคือ แรงจูงใจสำคัญที่จะทำให้คุณประสบความสำเร็จในระยะยาว ทั้งที่ความจริงแล้วหาได้เป็นเช่นนั้น เปรียบเทียบให้เห็นภาพตามง่ายๆว่า สำหรับนักวิ่งที่หวังจะพิชิตฮาฟมาราธอน พวกเขามักทุ่มเทแรงกายและแรงใจในการฝึกซ้อมเป็นเดือนๆ แต่หลังจากวิ่งเข้าเส้นชัยได้สำเร็จ พวกเขาก็จะหยุดซ้อม เพราะหมดแรงจูงใจที่ซ้อมต่อไป
ทางออกที่ดีคือ แทนที่จะต้องสร้างตราบาปให้ตัวเองกลายเป็นคนขี้แพ้ เพราะไปไม่ถึงจุดหมายที่วางไว้ ลองหันให้ความสำคัญกับกระบวนการที่เปิดโอกาสให้เราได้พัฒนาตัวเองในทุกวัน ยกตัวอย่าง แทนที่จะท้อใจว่าออกกำลังกายเท่าไหร่น้ำหนักก็ยังไม่ลด หันมาลองกำหนดเป้าหมายระยะสั้น ค่อยๆพิชิตไป จนไปถึงเป้าหมายใหญ่
3.เป้าหมายทำให้เราหลงคิดไปว่าสามารถควบคุมในสิ่งที่ไม่อาจควบคุมได้
เราต่างรู้ดีแก่ใจว่า ไม่มีใครกำหนดอนาคตได้ แต่หารู้ไม่ว่าทุกครั้งที่เรากำหนดเป้าหมายให้ชีวิต เท่ากับว่าเรากำลังพยายามวางแผนอนาคตในสิ่งที่เราไม่อาจล่วงรู้ เราพยายามมองภาพตัวเองในอนาคตว่าจะก้าวไปอย่างไร โดยที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าหนทางหรือสภาพแวดล้อมที่ต้องเจอในเวลานั้นเป็นอย่างไร
เพราะฉะนั้นแทนที่จะเอาความหวังไปแขวนอยู่กับอากาศ ควรหันมาทบทวนและแก้ไขกับปัจจุบันที่ทำอยู่ เจมส์ ยกตัวอย่างวิธีที่เขาใช้ประเมินตัวเองอยู่เสมอผ่านฟีดแบ็คที่เขาได้รับจากผู้อ่านในแต่ละสัปดาห์ เมื่อใดที่เขาพบว่ายอดคนอ่าน หรือคอมเมนต์ที่กลับมาหาเขาน้อยลง นั่นเป็นสัญญาณว่าเขาต้องพัฒนาเนื้อหา ซึ่งระบบรับฟีดแบ็คนี้ มีส่วนสำคัญในการสร้างกระบวนการไปถึงเป้าหมาย ในฐานะตัวช่วยที่ทำให้คุณได้ประเมินตัวเองตลอดเวลา แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้ทำให้คุณรู้สึกกดดันตัวเองมากเกินไป
ขอบคุณที่มา http://jamesclear.com
บทความโดย : TerraBKK คลังความรู้
TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก