พร็อพทูมอร์โร่ จัดเสวนาเรื่อง “Bangkok’s New Landmark แนวโน้มกรุงเทพเมืองใหม่จากแลนด์มาร์คใหม่” โดยมีวิทยากรทั้งจากภาครัฐและเอกชน โดย คุณก่องกนก เมนะรุจิ นักวิเคราะห์นโยบายแผนและชำนาญการพิเศษหัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการขนส่งทางราง สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข. 
จากระบบรางสายแรกตั้งแต่ปี 2537 สายสีเขียวอ่อน สายสุขุมวิท กับสายสีเขียวเข้มสายสีลม ปัจจุบันแผนมีทั้งหมด 12 เส้นทาง แบ่งเป็นเป็นระบบใหญ่ เช่น ระบบ BTS และ MRT กับระบบรอง เช่น โมโนเรล สายสีส้ม สายสีชมพู ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้โดยสารในพื้นที่นั้นๆ ในระยะยาวถึง 30 ปี เพื่อจัดทำเป็นแผนแม่บท ที่เรียกว่า M-Map



แผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพ ฯ และปรืมณฑล (M-MAP) 
โครงข่ายเสร็จสมบูรณ์ปี 2572 จำนวน 12 สาย โดยอยู่ในแผนเร่งรัดตามมติรัฐมนตรีดำเนินการ 10 สายหลัก ระยะทาง 464 กิโลเมตร 312 สถานี ครอบคลุมพื้นที่ 680 ตารางกิโลเมตร รองรับประชาชน 5.13 ล้านคนส่วนอีก 2 สายรอง คือ สายสีฟ้าและสีเทา ทางท้องถิ่น คือ กรุงเทพมหานครจะเป็นผู้รับผิดชอบ 
พร้อมทั้งเปลี่ยนเป็นระบบตั๋วร่วม เพื่อตัดค่าแรกเข้า 1 ครั้ง นอกจากนั้นใช้จริงตามระยะทาง





ประกอบด้วยโครงขายหลัก 8 เส้นทาง โครงข่ายรอง 2 เส้นทาง ขณะนี้ได้เปิดดำเนินการไปแล้ว 5 โครงการระยะทาง 110.5 กิโลเมตร (23.81%) อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 6 โครงการ ระยะทาง 120.4 กิโลเมตร(25.94%) โครงการประกวดราคาเสร็จสิ้น เตรียมการก่อสร้างในปีนี้ 6 โครงการ ระยะทาง 64.9 กิโลเมตร (19.98%) (โดย ครม.เห็นชอบการคัดเลือกเอกชนไปแล้วเมื่อ 30 พ.ค.) 

โครงการที่อยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติในปีนี้อีก 7 โครงการ รวมระยะทาง 97.6 กิโลเมตร (21.03%) ประกอบด้วย สายสีแดงเข้มช่วงรังสิต-มธ.รังสิต ระยะทาง 10 กิโลเมตร, สายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14 กิโลเมตร, สายสีน้ำเงิน ช่วงบางแค-พุทธมณฑลสาย 4 ระยะทาง 8 กิโลเมตร, สายสีเขียวเข้ม ช่วงคูคต-ลำลูกกา ระยะทาง 6.8 กิโลเมตร, สายใหม่ ARL ระยะที่ 1 พญาไท-บางซื่อ ระยะที่ 2 บางซื่อ-ดอนเมือง รวมระยะทาง 21.8 กิโลเมตร, สายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร,สายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 23.6 กิโลเมตร และยังไม่ได้ดำเนินการอีก (9.75%) โดยในปี 2562 จะเปิดให้บริการระยะทาง 140.2 กิโลเมตร ปี 2564 เปิดให้บริการ 326.4 กิโลเมตร ปี 2572 เปิดให้บริการระยะทาง 418.9 กิโลเมตร

นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ สนข. ไปศึกษาและพิจารณาบรรจุโครงการระบบขนส่งมวลชนระบบรองของกรุงเทพมหานครใน M-Map 2 จำนวน 3 โครงการ คือ สายสีเทา ช่วงวัชรพล-สะพานพระราม 9 ระยะทาง 26 กิโลเมตร, สายบางนา-สุวรรณภูมิ เป็นระบบขนส่งมวลชนเบา  และสายสีทอง จากสถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรี-เขตคลองสาน-ถนนประชาธิปก ระยะทาง 2.7 กิโลเมตร

 

 

 

จากการประกาศใช้ผังเมืองใหม่ในปี 2561 รองรับการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน สนับสนุนพื้นที่รัศมี 500 เมตร รอบสถานีรถไฟฟ้า 400 สถานี เป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่น โดยมีการนำหลักการของ TOD ซึ่งก็คือกระบวนการจัดการพื้นที่เมืองให้เกิดความกระชับ ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ดินแบบผสมผสานในระยะที่เดินด้วยเท้าได้จากที่อยู่อาศัยไปยังระบบขนส่งมวลชน แหล่งงาน แหล่งจับจ่ายสินค้าและกิจกกรมอื่นๆโดยไม่ต้องใช้รถยนต์ โดยมีการให้โบนัสกับนักลงทุนที่พัฒนาโครงการได้อย่างเหมาะสม TOD เช่น หากมีพื้นที่สีเขียวจะเพิ่มการพัฒนาได้อีก 1 เท่าตัว

นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยได้รับมอบหมายให้ร่างผังเมืองมหานคร ซึ่งเป็นการรวมผังกทม.กับจังหวัดใกล้เคียงเข้าด้วยกัน เพื่อใช้เป็นผังเมืองชี้นำในการพัฒนาเมืองให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และไม่เกิดความเหลื่อมล้ำในการพัฒนา มีการกำหนด FAR ที่ไม่เท่ากันอย่างเช่นปัจจุบัน

 



 

 

นางสาวอลิวัสสา พัฒนถาบุตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีบีอาร์อี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ด้วยหลายปัจจัยทำให้ดีมานด์และซัพพลายไม่ตรงกัน ทำให้บางโครงการเปิดออกมาขายได้ บางโครงการขายไม่ดี ในขณะที่นักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวเมืองไทย กลายเป็นนักลงทุนรายย่อยที่ซื้อคอนโดมิเนียม โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งยังคงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องไปอีก 10 ปี  เป็นกลุ่มที่ซื้อคอนโดฯ  ซึ่งขณะนี้รัฐบาลจีนมีการกำหนดวงเงินในการนำออกนอกประเทศ ดังนั้นจึงอาจเกิดปัญหาการโอนไม่ได้ ซึ่งจะทำให้ต้องนำกลับมาขายใหม่ กลายเป็นสต๊อกเพิ่มเข้ามาในตลาด

โดยแนวโน้มอสังหาฯ ในอีก 5 ปีข้างหน้าจะชะลอตัวในแง่ของจำนวนยูนิต และโครงการเปิดใหม่ แต่การพัฒนาจะมีคุณภาพมากขึ้น  โดยผู้บริโภคจะมีความต้องการพื้นที่ที่เป็นสาธารณะมากขึ้น เช่นพื้นที่สีเขียว  ถ้าผู้ประกอบการไม่ปรับตัวจะขายไม่ได้

นอกจากนี้ ในอีก 5 ปีข้างหน้าจะเกิดแลนด์มาร์คแห่งใหม่ ซึ่งเกิดจากเชื่อมต่อการพัฒนาของ 3 โครงการหลัก วัน แบงค็อก (one bangkok) พื้นที่ 104 ไร่, โครงการพัฒนาที่ดินบริเวณโรงแรมดุสิต 23 ไร่ และโครงการหลังสวนวิลเลจ เนื้อที่ 52 ไร่ อย่างไรก็ตาม พื้นที่ของทั้ง 3 โครงการเป็นพื้นที่เช่า เมื่อนำออกขายจึงไม่สามารถขายขาดได้ ต้องขายแบบเช่าเซ้งระยะยาว ซึ่งคงต้องดูราคาขายระหว่างเช่าเซ้งและขายขาดว่าต่างกันมากน้อยแค่ไหน 

การขยายตัวของกรุงเทพ มองไปที่พัทยา โดยโฟกัสไปที่บางเสร่  ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ เดินทางสะดวก มีศักยภาพในการพัฒนาเพื่อรองรับ AEC  อีกทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ก่อให้เกิดธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องทั้งร้านอาหาร โรงแรม ที่พักอาศัย ดังนั้นการพัฒนาโครงการใหม่ประเภทมิกซ์ยูส จึงเกิดขึ้นบนที่ดินแปลงใหญ่เพื่อสนองความต้องการของตลาด

 

นายอิสระ บุญยัง นายกกิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า รูปแบบโครงการะบบรางเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ กทม.เติบโตได้อีกมาก และการขยายระบบรางไปยังภูมิภาคทำให้เมืองตามเส้นทางเติบโต จะทำให้เกิดเมืองศูนย์กลางกระจายไปยังภูมิภาค อย่างเช่น ท่าเรือแหลมฉบังที่จะเข้ามามีบทบาทแทนท่าเรือคลองเตย อีกทั้งการขยายสนามบินอู่ตะเภา เพื่อรองรับและสนับสนุนแผนการเกิดระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (EEC)  จะทำให้เกิดเมืองศูนย์กลางแทนภูมิภาค

การขยายเส้นทางรถไฟฟ้าจะทำให้การพัฒนาออกไปยังนอกเมืองมากขึ้น แต่จำนวนที่ดินที่นำมาพัฒนาจำนวนเท่าเดิม หาก อัตราส่วนพื้นที่อาคารต่อพื้นที่ดิน หรือ Floor Area Ratio : FAR ไม่เปลี่ยน ที่ดินที่จะนำมาพัฒนาใหม่ก็จะน้อยลง แม้ว่าจะพัฒนาไกลออกไปเพื่อให้สามารถพัฒนาที่อยู่อาศัยได้ในราคาถูกลง แต่พื้นที่รอบนอก FAR กลับต่ำลงตามจึงไม่ได้ช่วยให้ราคาลดลงได้

สำหรับภาพรวมอสังหาริมทรัพย์ปีนี้ คาดว่าจะเติบโตได้ 5-10 % อย่างไรก็ตาม ยอดโอนกรรมสิทธิ์สินเชื่อปีมกราคม-กรกฎาคม 60 โดยรวมลดลง 25 % แนวราบลดลง17% แนวสูง 33 % ซึ่งจากการสำรวจโดยความต้องการที่อยู่อาศัยของประชาชนพบว่า 73 %มีความต้องการในระดับราคา 1-4 ล้านบาท  ในขณะที่บ้านระดับ ไฮเอนด์ความต้องการอยู่ที่ 3 พันกว่าหน่วยต่อปี ทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ขณะนี้หันลงมาเล่นตลาดระดับราคา 5 ล้านลงไป ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ 

นายอนุชา กุลวิสุทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า การลงทุนในคอนโดมิเนียมใน

2-3 ปีทีผ่านมาอัตราผลตอบแทนมีแนวโน้มลดลงจาก 6-8% เหลือเพียง 4-6% และจากฐานข้อมูลดัชนีราคาที่อยู่อาศัยจากฐานข้อมูลสินเชื่อธนาคาร พบว่าตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา-เดือนกรกฎาคม 2560 บ้านเดี่ยวและทาวน์- โฮมเริ่มกลับมาดีขึ้นหลังจากที่แย่ลงตั้งแต่ปี 2558-2559 โดยมีอัตราการขยายตัว 3.9 % ในขณะคอนโดมิเนียมเริ่มติดลบ 2.9 % ทั้งที่ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมามีการเติบโตที่ดีมาตลอด

ปีหน้าคาดว่าตลาดอสังหาฯ จะมีการเติบโตที่ดี โดยดูจาก Set index ที่ดีขึ้น ซึ่งโดยปกติเมื่อตลาดหุ้นดี นักเล่นหุ้นได้กำไรก็จะนำเงินมาซื้ออสังหาริมทรัพย์

การเลือกลงทุนในคอนโดมิเนียมสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงคือ คอนโดมิเนียมที่เปิดขายใหม่ในเส้นทางรถไฟฟ้าสายที่ยังไม่สร้าง มีการเปิดขายในราคาเสมือนมีรถไฟฟ้าวิ่งแล้ว ดังนั้นควรเลือกซื้อโครงการที่อยู่ในแนวรถไฟฟ้าที่เสร็จแล้ว, เลือกโครงการที่อยู่ติดสถานีหรือห่างออกไปไม่เกิน 400 เมตร, เน้นสถานีที่เป็นจุดตัดหรือมีสกายวอล์ค, ที่จอดรถ, ระยะเดินเท้าจากที่พักไปยังสถานีรถไฟฟ้าและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆไม่ควรเกิน15นาที, และที่จอดรถในโครงการ ซึ่งปกติจะอยู่ที่ 30-60 %ของจำนวนห้องพัก, เลือกคอนโดฯที่อยู่ในโซนสีแดงราคาจะไม่ตก และเลือกซื้อคอนโดที่เพิ่งสร้างเสร็จ เพราะขายได้ทันทีในราคาที่ดี

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : www.prop2morrow.com