14 ดัชนีชี้แนวโน้มอสังหาริมทรัพย์
ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นั้นเริ่มเข้าสู่ช่วงชะลอตัว แต่ในช่วงครึ่งหลังของปี 2017 นั้นจะเห็นว่าเริ่มมีการฟื้นตัวที่ค่อนข้างดี เห็นได้จากตลาดที่อยู่อาศัยนั้นเริ่มกลับมาคึกคัก มีการเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยค่อนข้างมากโดยเฉพาะคอนโด TerraBKK ได้นำข้อมูลตัวแปรทางเศรษฐกิจที่สามารถสะท้อนถึงแนวโน้มของตลาดอสังหาริมทรัพย์มาให้ดูกัน โดยจะแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ ดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจ และ ดัชนีชี้วัดธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งดัชนีเหล่านี้จะช่วยบ่งบอกถึงทิศทางของตลาดอสังหาริมทรัพย์ได้
ดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจ
ดัชนีที่ 1 “GDP”
GDP หรือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ คือ มูลค่าตลาดของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายที่ผลิตในประเทศช่วงเวลาหนึ่ง ไม่ว่าผลผลิตนั้นจะเป็นผลผลิตที่ได้จากทรัพยากรภายในหรือภายนอกประเทศ โดย GDP นั้นเป็นตัวแปรที่บ่งบอกถึงมาตรฐานค่าครองชีพของประชากรในประเทศ เมื่อ GDP เป็นบวก นั่นหมายความว่า เศรษฐกิจภาพรวมมีการเติบโตขึ้น คนในประเทศมีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น
GDP = C + I +G + (X-M)
C = Consumption คือ มูลค่าการบริโภคของภาคเอกชน
I = Investment คือ มูลค่าการลงทุนจากภาคเอกชนต่างๆ
G = Government Spending คือ มูลค่าการใช้จ่ายของรัฐบาลหรือการลงทุนจากภาครัฐ
X = Export คือ มูลค่าการส่งออก
M = Import คือ มูลค่าการนำเข้า
ดัชนีที่ 2 “Unemployment Rate”
Unemployment Rate หรือ “อัตราการว่างงาน” คือ สัดส่วนของกำลังแรงงานที่ไม่มีงานทำ ซึ่งกำลังแรงงานในที่นี้หมายถึงผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป หากอัตราการว่างงานสูงจะแสดงถึงสภาวะเศรษฐกิจที่ค่อนข้างซบเซาในปัจจุบันหรือช่วงที่ผ่านมา ทำให้มีการปลดพนักงานออกมาก ส่งผลให้ประชาชนขาดรายได้ การจับจ่ายใช้สอยของคนในประเทศลดลง ส่งผลต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ที่จะซบเซาลงไป
ดัชนีที่ 3 “Household Debt”
Household Debt หรือ “หนี้ครัวเรือน” คือ หนี้ของบุคคลที่เกิดจากการกู้ยืมเงินเพื่อการใช้จ่ายไม่ว่าจะเป็น ซื้อรถ ซื้อบ้าน หรือการใช้จ่ายอุปโภคบริโภคต่าง ๆ ซึ่งตัวแปรหนี้ครัวเรือนนี้มักจะถูกนำมาเปรียบเทียบคู่กับ GDP เพราะเป็นการบ่งบอกถึงสัดส่วนหนี้สินเมื่อเทียบกับรายได้ของคนในประเทศ หากสัดส่วนหนี้ครัวเรือนสูงก็จะทำให้การปล่อยกู้สินเชื่อนั้นเข้มงวดขึ้น ส่งผลต่อภาคการลงทุนที่จะหดตัวลง
ดัชนีที่ 4 “CPI”
CPI ย่อมาจาก Consumer Price Index หรือ “ดัชนีราคาผู้บริโภค” คือ ดัชนีที่เกิดจากการหาค่าเฉลี่ยของการเปลี่ยนแปลงในราคาของสินค้าอุปโภคบริโภคกว่า 200 ประเภท แต่ที่สำคัญที่สุดคือ กลุ่มของอาหารและเครื่องดื่ม ที่อยู่อาศัย เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย การขนส่ง สุขภาพ การพักผ่อนหย่อนใจ การศึกษาและการสื่อสาร
ซึ่งดัชนีนี้จะสะท้อนถึงอัตราเงินเฟ้อของผู้บริโภคภายในประเทศ
ดัชนีที่ 5 “ดัชนีการลงทุนภาคเอกชน”
ดัชนีการลงทุนภาคเอกชน คือ ดัชนีซึ่งบ่งบอกถึงทิศทางการลงทุนของภาคเอกชน ดัชนีนี้ประกอบด้วย 5 องค์ประกอบ ได้แก่ พื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างทั่วประเทศ, ดัชนีการจำหน่ายวัสดุก่อสร้างในประเทศ, การนำเข้าสินค้าทุน, ปริมาณการจำหน่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์ในประเทศ และดัชนีการจำหน่ายรถยนต์เพื่อการลงทุนในประเทศ
ดัชนีชี้วัดธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
ดัชนีที่ 1 “ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยและที่ดิน”
ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยและที่ดิน ประกอบด้วยดัชนีราคาที่อยู่อาศัย 4 ประเภทได้แก่ ดัชนีราคาบ้านเดี่ยวพร้อมที่ดิน ทาวน์เฮ้าส์พร้อมที่ดิน อาคารชุด และที่ดินโดยคำนวณจากข้อมูลสินเชื่อที่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันของธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศ ค่าของดัชนีตามเวลาที่เปลี่ยนไปจะสามารถบ่งบอกถึงแนวโน้มของราคาที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ในประเทศได้
ดัชนีที่ 2 “สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์”
สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์ เป็นข้อมูลยอดคงค้างของสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่ให้แก่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ และผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ ซึ่งถ้ายอดยิ่งมากก็จะแสดงถึงการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ของคนในประเทศที่มีมาก
ดัชนีที่ 3 “ที่อยู่อาศัยจดทะเบียนเพิ่มในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล”
ที่อยู่อาศัยจดทะเบียนเพิ่ม (เขต กทม.และปริมณฑล) เป็นข้อมูลที่ได้รับจากธนาคาร อาคารสงเคราะห์ ซึ่งรวบรวมจากการขอเลขที่บ้านผ่านสำนักงานเขตต่าง ๆ ใน กทม. ตัวแปรนี้จะให้ข้อมูลว่าในแต่ละปีมีคนซื้ออสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน
ดัชนีที่ 4 “การขอจดทะเบียนอาคารชุดทั้งประเทศ”
การขอจดทะเบียนอาคารชุดทั้งประเทศ เป็นการขอจดทะเบียนอาคารชุดของผู้ประกอบการใหม่ เมื่อก่อสร้างอาคารชุดและสาธารณูปโภคเสร็จเรียบร้อยแล้ว ตัวแปรนี้จะให้ข้อมูลจำนวนโครงการอสังหาริมทรัพย์เปิดใหม่ของผู้พัฒนาอสังหาฯ
ดัชนีที่ 5 “มูลค่าการซื้อขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั้งประเทศ”
มูลค่าการซื้อขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั้งประเทศ เป็นข้อมูลซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยประมาณการโดยใช้การคำนวณย้อนกลับจากค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่กรมที่ดินจัดเก็บได้
ดัชนีที่ 6 “ดัชนีราคาขายที่อยู่อาศัย”
ดัชนีราคาขายที่อยู่อาศัย (House Price Index) เป็นตัวบอกการเปลี่ยนแปลงของราคาที่อยู่อาศัยว่ามีการเปลี่ยนแปลงของราคาเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไร และสามารถนำดัชนีราคาที่อยู่อาศัยรายทำเลมาเปรียบเทียบเพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของราคาว่าทำเลไหนได้รับความนิยมมากกว่า
ดัชนีที่ 7 “ยอดขายที่อยู่อาศัย”
ยอดขายที่อยู่อาศัย (Housing Sales) จะเป็นตัวแสดงถึงกระแสตอบรับของการขายที่อยุ่อาศัยเวลานั้นว่ากระแสตอบรับนั้นเป็นอย่างไร
ดัชนีที่ 8 “อัตราการเข้าอยู่”
อัตราการเข้าอยู่ (Occupancy Rate) เป็นการนำจำนวนห้องที่มีเข้าอยู่ทั้งหมดหารด้วยจำนวนห้องทั้งหมด ประเภทของอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้ตัวเลขนี้ เช่น โรงแรม อาคารสำนึกงาน อสังหาริมทรัพย์ประเภทเช่า จะบอกถึงศักยภาพของตลาดในขณะนั้นว่ามีความสามารถขนาดไหนและยังน่าลงทุนอยู่หรือไม่ ทำเลไหนมีผู้เช่ามากหรือน้อย โดยปกติแล้วอัตราการเข้าอยู่จะอยู่ที่ประมาณ 75-90% ถึงจะอยู่ในเกณฑ์ดี แต่สำหรับโรงแรมจะมีเรื่องของฤดูกาลเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยอาจจะใช้ปรับลดตามสภาพเศรษฐกิจในขณะนั้น
ดัชนีที่ 9 “อัตราการดูดซับ”
อัตราการดูดซับ (Absorption Rate) จะใช้กับโครงการที่สร้างมาเพื่อขาย โดยคิดจากจำนวนหน่วยที่ขายได้หารด้วยจำนวนหน่วยทั้งหมดในโครงการยิ่งมีค่ามากแสดงว่าโครงการนั้นเปิดมาแล้วได้รับความนิยมมากด้วยและสามารถคาดการณ์ได้ว่ายอดขายทั้งโครงการน่าจะออกมาดีและยังบอกถึง “อุปสงค์” ของตลาดอสังหาริมทรัพย์ว่ายังมีความต้องการที่อยู่อาศัยในทำเลย่านนั้นอยู่