อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนก.ย. 2560 ขยับขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 0.86 YoY สูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 8 เดือนแรกที่อยู่ที่ร้อยละ 0.56 และเป็นการเพิ่มขึ้นเดือนต่อเดือน (Month-on-Month) ที่เร่งตัวเร็วที่สุดในรอบ 66 เดือน (นับตั้งแต่เดือนมี.ค. 2555) ตามการปรับขึ้นของค่าไฟฟ้า ราคาสินค้าในหมวดพลังงาน รวมถึงราคาสินค้าในหมวดยาสูบและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

 

          ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเคลื่อนไหวในทิศทางขาขึ้นตลอดช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา...ผลักดันให้ต้นทุนพลังงานในประเทศเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาสินค้าที่อ้างอิงไปตามราคาน้ำมันอย่างค่าไฟฟ้า ราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ราคาก๊าซ NGV ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกภายในประเทศ รวมไปถึงค่าโดยสารเรือด่วนเจ้าพระยา-คลองแสนแสบและเรือข้ามฟาก ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนก.ย. ที่ผ่านมา

 

รายการสินค้า

การปรับขึ้นของราคาสินค้า

วันที่มีผลบังคับใช้

ค่าเอฟทีงวดก.ย.-ธ.ค. 2560

  • ปรับขึ้นอีก 8.87 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟต่อหน่วยเพิ่มขึ้นราว 2.5% จากงวดก่อน

1 ก.ย. 2560

ราคาก๊าซหุงต้ม

  • ปรับขึ้น 10 บาทต่อถัง 15 กก.

6 ก.ย. 2560

ค่าโดยสารเรือด่วน-เรือข้ามฟาก

  • ปรับขึ้น 50 สตางค์- 1 บาทต่อเที่ยวเดินทาง

14 ก.ย. 2560

ที่มา: รวบรวมโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย

          นอกจากนี้ ดัชนีราคาสินค้าในหมวดยาสูบและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.94 MoM จากการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตที่มีการจัดเก็บบนฐานภาษีแบบใหม่และในอัตราใหม่ ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในหมวดยาสูบและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นการปรับเพิ่มขึ้นแค่ครั้งเดียว ซึ่งคาดว่าจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอัตราเงินเฟ้อแบบเทียบเดือนต่อเดือน (MoM) ในช่วงเดือนก.ย.-ต.ค. ในขณะที่ผู้ประกอบการรถยนต์ค่ายต่างๆ ยังคงตรึงราคารถยนต์ขายปลีกทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ แม้จะมีภาระภาษีเพิ่มขึ้นจากการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต

ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2560 ยังมีหลายปัจจัยที่เข้ามาผลักดันราคาสินค้าบางกลุ่มให้ปรับตัวเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็น

ราคาทางด้านพลังงานที่เพิ่มขึ้นตามทิศทางการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันดิบดูไบในช่วง 50-53 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรลในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2560 ซึ่งนับเป็นระดับที่สูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่เฉลี่ยอยู่ที่ 47.9 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ รวมไปถึงราคาก๊าซ LPG-NGV สูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

          ค่าโดยสารสาธารณะมีทิศทางปรับเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้าย ไม่ว่าจะเป็นค่าโดยสารรถไฟฟ้า BTS ที่ปรับขึ้น 1-3 บาท/คน/เที่ยวเดินทาง เริ่มมีผลตั้งแต่ 1 ต.ค. 2560 นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงวิธีการให้สวัสดิการทางด้านการเดินทางโดยสารสาธารณะอย่างรถโดยสารประจำทางไม่ปรับอากาศและรถไฟชั้น 3 ที่แต่เดิมให้ประชาชนทุกคนสามารถโดยสารฟรีได้มาเป็นการหักมูลค่าออกจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐสำหรับผู้มีรายได้น้อย อาจส่งผลให้ดัชนีราคาสินค้าหมวดค่าโดยสารสาธารณะในตะกร้าเงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ผลของการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตน่าจะสะท้อนเข้ามาที่ดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภคในเดือนต.ค. 2560 อีกบางส่วน

          ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ผลของปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นคงผลักดันอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงไตรมาสที่ 4/2560 ให้ปรับตัวสูงขึ้นกว่าร้อยละ 1.0 แต่ก็คาดว่าผลกระทบน่าจะอยู่ในขอบเขตจำกัด เนื่องจากในฝั่งของผู้บริโภคเอง บางส่วนได้รับแรงหนุนจากมาตรการภาครัฐในการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ซึ่งน่าจะช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นจากราคาสินค้าได้ส่วนหนึ่ง ประกอบกับสภาวะตลาดในปัจจุบันนี้ ผู้บริโภคยังระมัดระวังการใช้จ่าย จึงคาดว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงไม่ปรับราคาสินค้าและบริการ ส่งผลให้เงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยตลอดทั้งปี 2560 ยังคงประมาณการไว้ที่ร้อยละ 0.8

ขอบคุณข้อมูลจาก   www.kasikornresearch.com