ผู้นำอสังหาฯแถวหน้า ผนึกกำลังจัดตั้งกลุ่ม Open Source BIM นำระบบ BIM มาใช้เต็มรูปแบบยกระดับมาตรฐานงานออกแบบก่อสร้างไทย ก้าวสู่ระดับสากล
กลุ่มผู้นำอสังหาริมทรัพย์ไทยแถวหน้า และกลุ่มผู้ใช้งานโปรแกรมการออกแบบ 3 มิติ หรือ BIM (Building Information Modeling) พร้อมโชว์ศักยภาพยกระดับอสังหาริมทรัพย์ไทยสู่ระดับสากล ร่วมจัดตั้งกลุ่ม Open Source BIM ศึกษาแนวทางและมาตรฐานการทำงานบนระบบ BIM เทคโนโลยีในการนำซอฟต์แวร์ที่ช่วยในการออกแบบ (Smart Design Software) ซึ่งรวบรวมข้อมูลการออกแบบก่อสร้างทั้งหมดมาอยู่ในรูปแบบภาพจำลอง 3 มิติ (3D Digital Model) เพื่อเพิ่มความถูกต้อง แม่นยำทุกกระบวนการมากยิ่งขึ้น สอดคล้องโดยตรงกับนโยบายการพัฒนาประเทศไทยในระบบเศรษฐกิจ THAILAND 4.0 ที่มุ่งเน้นการขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม
เนื่องด้วยอุตสาหกรรมการก่อสร้างและการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของประเทศไทยกำลังเข้าสู่ยุคที่มีการใช้เทคโนโลยีทางคอมพิวเตอร์อย่างเต็มรูปแบบ โดยที่ผ่านมาอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่มีความเกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการของประเทศ อาทินักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ หน่วยงานภาครัฐ ผู้รับเหมาก่อสร้าง ที่ปรึกษาโครงการ ผู้ออกแบบ สถาปนิกและวิศวกร ฯลฯ ต่างประสบปัญหาในเรื่องการขาดมาตรฐานการทำงานบนคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์ที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ทำให้การออกแบบโครงการต่างๆ ซึ่งมีความจำเป็นอย่างมากที่ต้องประสานงานระหว่างแต่ละหน่วยงานหรือระหว่างผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์กับบริษัทรับเหมาก่อสร้างตลอดจนบริษัทออกแบบเกิดความติดขัดและมีประสิทธิภาพลดลง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพผลงาน เวลา และ งบประมาณโครงการในวงกว้าง
ดังนั้นกลุ่มผู้ใช้งาน BIM ในประเทศไทย ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะผู้นำในวงการอสังหาฯไทย อาทิ บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) บริษัท สัมมากร จำกัด (มหาชน) บริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด(มหาชน) บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นต้น ได้รวมตัวกันจัดตั้งกลุ่ม Open Source BIM เพื่อเป็นการสร้างโอกาสในการพบปะและรวมตัวกันเพื่อปรึกษาหารือ ทั้งนำเสนอความคิดเห็นตลอดจนแนวทางปฏิบัติงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และเพื่อเป็นการสร้างความตื่นตัวให้กับอุตสาสหกรรมอสังหาริมทรัพย์ในวงกว้าง นำมาซึ่งแนวทางและมาตรฐานการทำงานบนระบบ BIM ที่เหมาะสมเพื่อเป็นมาตรฐานกลางที่ทั้งประเทศจะสามารถใช้เป็นแนวทางในการทำงานได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ รวมถึงการแบ่งปันความรู้ข้อมูล ทั้งในระดับบุคคล หน่วยงานต่างๆ ในการต่อยอดองค์ความรู้ ทักษะ เพื่อการผลิตและพัฒนาบุคลากรทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และ ภาคการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการในตลาดแรงงานทั้งปัจจุบันและอนาคต เป็นการช่วยยกระดับการพัฒนาคุณภาพวงการอสังหาริมทรัพย์ของประเทศไทยให้ดียิ่งขึ้น
โดยกิจกรรมครั้งแรกของกลุ่ม Open Source BIM ได้จัดขึ้นที่ในวันที่ 6 ตุลาคม 2560 ณ อาคารเอฟวายไอ เซ็นเตอร์ อาคาร 2 ชั้น 11 Ananda Campus โดยได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่ รองศาสตราจารย์ มานพ พงศทัต คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์ คุณประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจพฤกษา เรียลเอสเตท-พรีเมียม บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) และนายกสมาคมอาคารชุดไทย คุณกิตติพล ปราโมช ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการบริษัท สัมมากร จำกัด(มหาชน) และอดีตนายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย คุณประภากร วทานยกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท สถาปนิก 49 จำกัด และอดีตนายกสมาคมสถาปนิกสยามฯ คุณ Scott Whittaker, Group Creative Director บริษัท dwpคุณณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) คุณไพทยา บัญชากิติคุณ Partner บริษัท สถาปนิก 49 จำกัด ดร.พร วิรุฬห์รักษ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท LPS ในเครือบริษัท LPNและ คุณชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ร่วมพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการนำระบบ BIM ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่เข้ามามีบทบาทในวงการก่อสร้างตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบไปจนถึงการก่อสร้างอาคาร โดยเทคโนโลยีนี้จะเข้ามาช่วยให้ข้อมูลของการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน และถูกต้องตรงกันมากขึ้น ระหว่าง สถาปนิก วิศวกร ผู้รับเหมาและทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างอาคารหรือที่เรียกว่า การประสานข้อมูลของผู้เกี่ยวข้องหลัก (Stakeholders Collaboration) นอกจากนี้ BIM ยังช่วยในการจัดทำเอกสารรายงาน และข้อมูลต่างๆ ของอาคารได้อีกด้วย
ซึ่งระบบ BIM จะสร้างแบบจำลองเสมือนจริงใน Computer ทำให้ผู้ทำงานเกี่ยวข้องสามารถเห็นส่วนประกอบทุกส่วนตรงกัน โดย BIM จะสร้างเป็นโมเดล 3 มิติขึ้นมาพร้อมกับ Intelligent Information อาทิ รายละเอียดวัสดุ ปริมาณวัสดุก่อสร้าง เพื่อปรับปรุงกระบวนการออกแบบก่อสร้างและคำนวณพลังงานที่จะใช้ในอาคาร สร้างแบบจำลอง หรือ Digital Prototype Model ที่เสมือนจริง และเปลี่ยนจากการสร้างแบบบนกระดาษมาสู่เทคโนโลยีดิจิตอลและประสานข้อมูลบน Cloud สะดวกในการทำงานนอกสถานที่โดยสามารถใช้อุปกรณ์อิเลคโทรนิกส์อย่าง Tablet ได้อีกด้วย ซึ่งจะนำไปสู่การส่งมอบอาคารที่มีคุณภาพสูงขึ้นจากมาตรฐานของตลาดในปัจจุบัน