IMF ชี้ศก.โลกอยู่ในภาวะปริศนา-เงินเฟ้อต่ำ แนะระวังความเสี่ยงระยะสั้น
ความกังวลภาวะเศรษฐกิจโลกในปี 60 เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกับดักความผันผวนที่เกิดจากหลายปัจจัย ทั้งนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ซึ่งมีผลต่อภาคการค้าและการเงินทั่วโลก,การเปลี่ยนแปลงการเมืองของประเทศสมาชิกในสหภาพยุโรป และความเสี่ยงจากภาวะฟองสบู่หนี้ของจีน ทำให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ไว้ตั้งแต่ต้นปี ว่าเศรษฐกิจโลกปี 60 จะเติบโตได้ราว 3.4% เมื่อเทียบกับปี 59 ที่ 3.1%
แต่หลังจากผ่านมา 10 เดือน ในการประชุมกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลกประจำปี 2560 เมื่อวันที่13-15 ตุลาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมเห็นตรงกันว่า เศรษฐกิจโลกปีนี้ปรับตัวดีขึ้นในลักษณะกระจายตัว โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มยุโรปที่เศรษฐกิจกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรก เห็นได้จากการขยายตัวของตลาดแรงงาน มีการจ้างงานสูงขึ้น และอัตราว่างงานลดลง
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า IMF ประเมินการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกปี 60 ขยายตัว 3.6% และปี 61 ขยายตัว 3.7% แต่ภายใต้การฟื้นตัว IMF ยังมีประเด็นปริศนา เพราะหลายประเทศยังมีอัตราเงินเฟ้อต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย ซึ่งปัจจัยหลักอาจมาจากค่าจ้างที่ไม่ปรับขึ้น, เทคโนโลยีการผลิตที่ก้าวหน้า ทำให้ผู้ประกอบการ อี-คอมเมิร์ซ ขาดอำนาจต่อรองราคาสินค้า และการเข้าสู่สังคมสูงวัย ที่เกิดการออมมากขึ้น ทำให้การบริโภคไม่กลายเป็นแรงกดดันเงินเฟ้อ
ส่วนเงินเฟ้อของไทย ที่ต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย ธปท.ได้หารือร่วมกับกระทรวงการคลัง และกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเชื่อว่าช่วงต้นปีถึงกลางปี 61 อัตราเงินเฟ้อ จะเข้าสู่กรอบเป้าหมาย 1-4% และไม่จำเป็นต้องเสนอให้ทบทวนกรอบเงินเฟ้อปี 61 ใหม่
“ถ้าสามารถจัดการปัญหาเสถียรภาพระบบการเงินนี้ได้ จะทำให้นโยบายการเงินมีข้อจำกัดน้อยลง แต่ถ้าปัญหาเสถียรภาพระบบการเงินเป็นข้อกังวลใหญ่ การทำนโยบายการเงินก็ต้องคำนึงถึง Trade-off กับเสถียรภาพระบบการเงินมากขึ้นด้วย ช่วงที่ผ่านมาเราเห็นปัญหากระเปาะความเสี่ยงต่างๆ เราถึงทำงานร่วมกับหน่วยงานกำกับอื่นๆ เพื่อลดปัญหาส่วนนี้ และทำให้ Trade-off ของนโยบายการเงินไม่ต้องถูกกังวลมาก” นายวิรไท กล่าว
แม้เศรษฐกิจโลกจะอยู่ในช่วงฟื้นตัว แต่ระยะสั้นยังต้องติดตามความเสี่ยง จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศอุตสาหกรรมหลักที่เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อราคาสินทรัพย์-ต้นทุนการเงิน อาจกระทบต่อสภาพคล่องประเทศเกิดใหม่ที่พึ่งพาเงินถูก,ปัญหาคาบสมุทรเกาหลี-รัสเซีย, นโยบายกีดกันทางการค้า, การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจีน และความเสี่ยงจากภัยไซเบอร์ที่รุนแรงขึ้น
ขณะที่การลงทุนในตลาดตราสารหนี้เรทติ้งต่ำ ก็เป็นความเสี่ยงที่ น่ากังวล เพราะช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ตราสารระดับ BBB เพิ่มกว่า 50% จาก 25% โดยหลายประเทศที่ไม่เคยออกตราสาร หรือบางประเทศที่มีปัญหาก็มีการออกตราสารหนี้เพิ่มขึ้น สะท้อนพฤติกรรมการล่าผลตอบแทนที่สูงขึ้น เช่นเดียวกับความผันผวนของราคาสินทรัพย์ที่ต่ำเป็นเวลานาน ที่นักลงทุนมักชะล่าใจในการประเมินความเสี่ยง แต่หากเกิดปัญหาขึ้นก็จะรุนแรงมากกว่าเดิม
สำหรับระยะยาว ต้องจับตา 2 ประเด็น โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีบริการลูกค้า แม้จะช่วยสร้างความสะดวกสบายได้มาก แต่อาจกระทบการจ้างงานคน ที่ปัจจุบันปัญหานี้กำลังเกิดขึ้นในหลายธุรกิจ และความเหลื่อมล้ำภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น
“จะเห็นว่าภายใต้การขยายตัว แต่เศรษฐกิจโลกยังต้องเผชิญกับหลายปัจจัยเสี่ยงที่มีผลได้ตลอดเวลา ดังนั้นผู้ดำเนินนโยบายจะต้องให้ความสำคัญกับ 3 เสาหลัก คือ นโยบายการเงิน นโยบายการคลัง และการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ
ดังคำกล่าวของ นางคริสทีน ลาการ์ด กรรมการผู้จัดการ IMF ที่บอกว่า “Don’t Miss This Opportunity” คืออย่าพลาดโอกาสในจังหวะที่เศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัว ต้องฉวยโอกาสตอนนี้ปฏิรูปเศรษฐกิจต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่การปรับเปลี่ยนของปฏิรูปควรจะทำให้ช่วงที่เศรษฐกิจเป็นขาขึ้น”