ถอดสมการชีวิต เมื่อความล้มเหลว=ความสำเร็จ
“ผมจะไม่กล่าวว่ามันเป็นการล้มเหลว 1000 ครั้ง แต่ผมจะกล่าวว่านั้นคือ การค้นพบวิธีที่ใช้ไม่ได้ผล 1000 วิธีต่างหาก” นี่คือคำกล่าวสุดคลาสสิคจากปากของโทมัส อัลวา เอดิสัน นักประดิษฐ์ชื่อก้องโลก เขาไม่ยอมแพ้แม้ต้องล้มเหลวนับพันครั้ง ก้มหน้าทำในสิ่งที่เชื่อ จนในที่สุด ก็สามารถประดิษฐ์หลอดไฟเพื่อเป็นเครื่องมือส่องสว่างให้กับชาวโลกได้สำเร็จ เขาถือเป็นหนึ่งในตัวอย่างของผู้ดึงดูดสองความต่างสุดขั้วอย่าง “ความล้มเหลว” และ “ความสำเร็จ” ไว้ด้วยกันอย่างไร้รอยต่อ
สก็อต แกลโลเวย์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ผู้เขียนหนังสือเรื่อง " The Four: The Hidden DNA of Amazon, Apple, Facebook, and Google" ชี้ให้เห็นถึงกุญแจดอกสำคัญที่บริษัทไอทียักษ์ใหญ่ของโลก ใช้ไขประตูสู่ความสำเร็จว่า กุญแจที่ว่าไม่ได้มีชื่อเรียกเก๋ๆ ความหมายดีๆ อย่าง ความโชคดี ความฉลาด หรือความมุ่งมั่น แต่เป็นสิ่งที่ใครๆ ก็อยากหนีให้ไกล อย่าง “ความล้มเหลว”
“ภาพในหัวของหลายคนยามนึกถึงเส้นทางของคนที่ประสบความสำเร็จ คือ เส้นตรง โดยหารู้ไม่ว่า ความจริงแล้วเส้นทางของพวกเขาเป็นเส้นยึกยักที่ยากจะคาดเดา ที่เป็นเช่นนี้ เพราะหากชีวิตของคุณไม่เคยพบกับอุปสรรคสักครั้งในชีวิต คุณก็จะไม่มีทางรู้เลยว่าการพยายามอย่างหนักเป็นอย่างไร”
นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมบริษัทไอทีที่กล่าวมาข้างต้นถึงพบกับความสำเร็จ ส่วนหนึ่งเพราะพวกเขาล้วนผ่านความล้มเหลวที่ยิ่งใหญ่มาแล้ว พวกเขามีมุมมองต่อความเสี่ยงที่แตกต่างจากบริษัทยุคเก่าทั่วไป อย่างที่เจฟฟ์ เบโซส์ เจ้าพ่ออีคอมเมิร์สแห่งอเมซอนเคยกล่าวไว้ว่า พวกเขาพร้อมที่จะเสี่ยง หาก 1 ใน 10 ครั้งที่ลองเสี่ยง พวกเขามีโอกาสได้ผลลัพธ์ 100 เท่าทวีคูณ ซึ่งกรอบแนวคิดนี้ไม่มีทางเกิดขึ้นกับองค์กรทั่วไป เพราะบอร์ดจะไม่ยอมไฟเขียวเด็ดขาด หากไม่มั่นใจว่าผลลัพธ์ที่ออกมาจะได้มากกว่าเสีย
คำถามคือ ทำไมความล้มเหลว ถึงเป็นบันไดสู่ความสำเร็จ?
เพราะความล้มเหลวเป็นครูที่ยิ่งใหญ่
“ความล้มเหลวและการพ่ายแพ้เป็นครูที่ยิ่งใหญ่ แต่น่าเสียดายที่หลายคนโดยเฉพาะในองค์กรแบบอนุรักษ์นิยมมักเลือกหันหลังให้กับการเผชิญหน้ากับความล้มเหลวและการพ่ายแพ้” ราล์ฟ เฮลท์ ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Celebrating Failure : The Power of Taking Risks, Making Mistakes and Thinking Big. “แทนที่จะเลือกอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย ซ่อนตัวอยู่ในคอมฟอร์ตโซน ต้องคิดใหม่ว่า หากไม่สร้างแรงกระเพื่อม คุณก็ไม่มีวันได้รับความสนใจ หนทางที่เร็วที่สุดเพื่อก้าวไปสู่ความสำเร็จคือ เปลี่ยนทัศนคติความกลัวที่มีต่อความล้มเหลว หนทางที่จะพาองค์กรก้าวไปข้างหน้าคือ ต้องบริหารงานให้ดี กล้าเสี่ยง พัฒนาตัวเองไม่หยุดยั้ง พร้อมแข่งขันในทุกเวที
เพราะความล้มเหลวขับดันให้ทำอย่างเต็มศักยภาพ
เพื่อจะพาตัวเองไปให้สุดกรอบ ใช้ศักยภาพทั้งหมดที่ตัวเองมี ต้องทะลายกรอบคำว่ากลัวความล้มเหลวออกไปให้หมดสิ้น คุณต้องคิดให้ใหญ่ไว้ก่อน เพื่อผลักดันตัวเองไปให้ถึง เมื่อไหร่ก็ตามที่เรานึกถึงคนที่มีกรอบความคิดแบบนี้ เรามักนึกถึงพวกบ้าระห่ำ , นักบุกเบิก, นักประดิษฐ์, นักสำรวจ พวกเขามักใช้ความล้มเหลวเป็นก้าวสำคัญเพื่อทะยานไปสู่ความสำเร็จที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน
จอห์น ซี แม็กเวล ผู้เขียนหนังสือ Failing Forward: Turning Mistakes into Stepping Stones for Success ได้ยกตัวอย่างถึง เอมิเลีย เอียร์ฮาร์ต นักบินชาวอเมริกัน ผู้สร้างประวัติศาสตร์เป็นผู้หญิงคนแรกที่บินข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกด้วยตัวคนเดียวว่า เธอกล้าที่จะเสี่ยงเพื่อไปสู่ความสำเร็จ เอมิเลียมีหลักการง่ายๆ ในการเลือกที่จะเสี่ยงคือ เธอประเมินจากผลลัพธ์ที่จะได้ ถ้ามันคุ้มค่าก็ลงมือทำอย่างไม่ต้องลังเล เพียงแต่ต้องไม่ประมาท ต้องเตรียมพร้อม รู้ว่าตัวเองมีทักษะและศักยภาพแค่ไหน
ความล้มเหลวผลักดันให้กล้าทลายความอ่อนแอในใจ
“หนึ่งในความลับของความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ คือ สร้างความแข็งแกร่งจากภายใน ถึงแม้ว่าคุณอาจจะล้มเหลวอย่างไม่น่าเชื่อ แต่คุณก็อาจประสบความสำเร็จได้อย่างไม่น่าเชื่อได้เช่นกัน นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมความเสี่ยงและความกล้าจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ วิธีง่ายๆ ในการทลายความอ่อนแอในใจ คือ พยายามคิดบวก เพื่อเป็นพลังสำคัญไม่ว่าคุณต้องเผชิญกับอะไร คุณจะมองว่านี่คือบทเรียนและประสบการณ์ที่จะพาคุณก้าวไปข้างหน้า จากนั้นลองหาที่เสริมกำลังใจด้วยการอ่านหนังสือหรือเปิดรับข้อมูลที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจ เช่น หนังสือที่บอกเล่าถึงบทเรียนชีวิตของเหล่าคนที่ประสบความสำเร็จ เขาต้องผ่านอะไรมาบ้าง เผชิญกับความล้มเหลวมากี่ครั้ง
ขอบคุณที่มา : http://www.businessinsider.in , https://www.success.com
บทความโดย : TerraBKK เคล็ดลับการลงทุน
TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก