อนาคตของรถยนต์ไฟฟ้า กับสิ่งที่อีลอน มัสก์ อาจไม่เคยบอก
ขณะนี้ กระแสรถยนต์ไฟฟ้า หรือรถ EV กำลังถูกพูดถึงในวงกว้าง แต่ก็มีข้อถกเถียงในหลายๆ ประเด็น ซึ่งประเด็นสำคัญที่มักถูกนำมาถกเถียงกันก็คือ เร็วเกินไปไหมที่จะเตรียมรับการมาถึงของรถยนต์ไฟฟ้าในบ้านเรา? เพราะหลายคนยังมองว่ารถยนต์เชื้อเพลิงแบบเดิม จะยังคงเป็นยานพาหนะหลักในบ้านเราไปอีกหลายปี ในขณะที่อีกฝ่ายกลับมองว่าการพูดถึงรถยนต์ไฟฟ้า เป็นเรื่องปัจจุบันที่สุด และยากที่จะต้านทานกระแสนี้
อีกประเด็นที่กำลังเป็นที่ถกเถียงคือ รถยนต์ ดูเหมือนจะเป็นทางเลือกแห่งอนาคตและเป็นที่นิยมในหมู่ผู้ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม แต่ก็มีผู้พยายามตั้งคำถามว่า รถยนต์ไฟฟ้านั้น “กรีน” จริงหรือ? ซึ่งไม่ว่าข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร เรื่องนี้ก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องนำข้อมูลมาโต้เถียงและวิเคราะห์กันต่อไป
คุณชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ Senior Vice President แห่งบริษัท ไทยซัมมิท ออโตพาร์ท อินดัสตรี จำกัด
เมื่อวันที่ 21 กันยายนที่ผ่านมา ธนาคารกรุงศรีอยุธยาได้จัดงานสัมมนา “CEO 4.0 ปฏิรูปทางความคิด พลิกโฉมประเทศไทย” โดยมี คุณชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ Senior Vice President แห่งบริษัท ไทยซัมมิท ออโตพาร์ท อินดัสตรี จำกัด ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์รายใหญ่ที่ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์แทบทุกค่าย รวมถึงรถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังมาแรงอย่างเทสลา ได้ขึ้นเวทีทอล์ก และแบ่งปันแนวคิดเกี่ยวกับอุตสาหกรรมยานยนต์และอนาคตของรถยนต์ไฟฟ้าไว้อย่างน่าสนใจ
คุณชนาพรรณ กล่าวว่า อุตสาหกรรมรถยนต์นั้นแทบไม่เคยมีการปฏิวัติเลยมากว่าสองร้อยปี นับจากเปลี่ยนการขับเคลื่อนด้วยเครื่องจักรไอน้ำมาเป็นเครื่องยนต์สันดาป การเกิดขึ้นของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าจึงเป็นการปฏิวัติครั้งใหญ่ของอุตสาหกรรมรถยนต์โลก การมาถึงของรถยนต์ไฟฟ้าเป็นกระแสโลกที่จะมาถึงเมืองไทยในอนาคตอันใกล้อย่างแน่นอน หลีกเลี่ยงไม่ได้ การพูดคุยถกเถียง ทำความเข้าใจ และเตรียมพร้อมรับมือจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่งโดยตัวรถยนต์ไฟฟ้านั้น ถือเป็นรถยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพราะไม่มีไอเสียปล่อยออกมาเหมือนรถยนต์ปกติ อาศัยการขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าโดยใช้พลังงานจากแบตเตอรี่และการชาร์จไฟ ซึ่งนอกจากการขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าแล้ว รถยนต์ไฟฟ้ายังมีระบบอัจฉริยะ ที่ในอนาคตอันใกล้ จะมีรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยคอมพิวเตอร์โดยไม่ต้องใช้คนขับ ลองจินตนาการว่า เราสามารถเดินไปที่ริมฟุตบาธ เปิดแอพพลิเคชั่นเช่ารถ จ่ายเงินผ่านระบบออนไลน์แล้วก็เปิดประตูรถเพื่อขับไปยังจุดหมายปลายทางได้ทันที ทำให้ผู้ใช้รถยนต์อาจเปลี่ยนจากการเป็นเจ้าของรถ มาเป็นเพียงผู้ใช้งาน หรือเป็นเจ้าของร่วม แล้วแบ่งปันกันใช้กับผู้อื่น
สิ่งที่เกิดขึ้นนี้อาจทำให้ในอนาคตธุรกิจรถแท็กซี่หรือรถยนต์รับจ้าง รวมถึงธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์อาจต้องล้มหายไป นอกจากนี้เมื่อรถยนต์ไม่ต้องเติมน้ำมันอีกต่อไป ธุรกิจสถานีชาร์จไฟฟ้าก็จะเข้ามาแทนที่ธุรกิจปั๊มน้ำมันแบบเดิม และต่อไปเราอาจจะไปจอดรถเพื่อชาร์จไฟที่หน้าบ้านใครก็ได้ แล้วจ่ายค่าบริการในลักษณะแบบ AirBNB
ที่กล่าวมาข้างต้น เป็นภาพอนาคตที่สวยงามและเป็นโอกาสของรถยนต์ไฟฟ้า แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อเท็จจริงอีกหลายด้านที่เราควรนำมาถกเถียงเพื่อเตรียมรับมือ
คุณชนาพรรณ กล่าวว่า ในระดับครัวเรือน การที่แต่ละบ้านมีเครื่องชาร์จไฟฟ้าขนาดใหญ่ ย่อมมีความเสี่ยงมากขึ้นในเรื่องของอัคคีภัย รวมถึงความต้องการใช้พลังงานในระดับที่สูงขึ้นด้วย ประเด็นนี้เองก็เป็นประเด็นสำคัญที่เมืองจะละเลยไปไม่ได้
ในระดับสาธารณูปโภคและนโยบาย การมาถึงของรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ขับเองอัตโนมัตินั้น จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมรับในระดับที่ใหญ่มาก เพราะการมียานพาหนะหลายประเภท ทั้งรถยนต์ไฟฟ้า รถยนต์ปกติ รวมถึงรถยนต์อัตโนมัติไร้คนขับ ต้องมาใช้ถนนร่วมกัน อาจกลายเป็นความโกลาหลที่อาจกระทบกับความปลอดภัยในชีวิตผู้ใช้รถใช้ถนนได้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีบริหารจัดการและเตรียมการรับมือทั้งเชิงนโยบาย และสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น แสงสว่าง เส้นจราจร เครื่องหมายและสัญญาณไฟจราจร รวมถึงแนวทางปฏิบัติสำหรับธุรกิจประกันภัย (เช่น ถ้ารถยนต์ไร้คนขับไปชนกับรถยนต์ที่มีคนขับ จะทำอย่างไร) ทั้งนี้เพื่อให้การขับขี่เป็นไปอย่างราบรื่นปลอดภัย ดังนั้น รัฐพร้อมหรือยัง ที่จะต้องมีศูนย์กลางข้อมูลควบคุมระบบรถยนต์และการจราจร รวมถึงมีกฎหมายที่จะรองรับรูปแบบการใช้ยานพาหนะในอนาคต?
สำหรับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม หากตั้งคำถามเกี่ยวกับความ “กรีน” ของรถยนต์ไฟฟ้า แม้ว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะไม่ปล่อยไอเสียออกมาสู่อากาศ แต่เมื่อพิจารณาถึงการได้มาซึ่งไฟฟ้าในปัจจุบันนั้น กลับพบว่ายังมาจากการเผาถ่านหินซึ่งผลิตคาร์บอนจำนวนมหาศาลเป็นหลัก ไม่เพียงเท่านั้น ส่วนประกอบสำคัญของแบตเตอรี่นั้นยังได้มาจากแร่ rare earth ที่มีอยู่เฉพาะบางประเทศในทวีปอัฟริกา ที่เป็นประเทศเจ้าสงครามและเต็มไปด้วยการค้ามนุษย์ จึงเลี่ยงที่จะปฏิเสธว่าการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเป็นการสนับสนุนสงครามและค้ามนุษย์นี้ทางอ้อม
อีกประเด็นหนึ่งที่น้อยคนจะทราบ คือ แบตเตอรี่ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้านั้นมีอายุการใช้งานที่จำกัด โดยขยะแบตเตอรี่นี้อาจส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงหากไม่ได้รับการกำจัดอย่างถูกวิธี ไม่เพียงเท่านั้น การกำจัดหรือรีไซเคิลขยะแบตเตอรี่ในปัจจุบันนั้นยังมีต้นทุนที่สูงมากด้วย จึงเป็นที่น่าติดตามว่าการกำจัดขยะประเภทนี้จะมีการบริหารจัดการอย่างไร หากมีการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นในอนาคต
ไม่ว่ารถยนต์ EV นี้จะเป็นความหวังอันงดงามหรืออัปลักษณ์ รถยนต์ไฟฟ้าจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้คนบนโลกนี้อย่างแน่นอนในอนาคตอันใกล้ นี่อาจเป็นช่วงเวลาที่ดี ที่เราจะมาช่วยกันวางแผนเตรียมรับมือและหาโอกาสที่ประเทศไทยจะได้รับจากการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ก็ได้
ขอบคุณบทความ จาก
คุณศุภกร ศิริสุนทร
consultant, content curator