ประเด็นสำคัญ

  • การติดตามข้อมูลข่าวสารความเคลื่อนไหวเหตุการณ์รอบตัว ยังคงเป็นกิจกรรมที่คนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญ ส่วนใหญ่ติดตามข้อมูลข่าวสารที่มีเนื้อหาสาระและบันเทิงควบคู่กัน แต่ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตและเป็นประโยชน์เชิงธุรกิจ ถูกจัดเป็นกลุ่มที่ผู้บริโภคเลือกให้ความสนใจมากที่สุด ถือเป็นสัญญาณที่ดีต่อทิศทางการผลิตและพัฒนาข้อมูลข่าวสารในรูปแบบที่ก่อให้เกิดการประยุกต์ใช้ประโยชน์ต่อบุคคล องค์กรและภาคธุรกิจ
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า จากจำนวนคนชั้นกลางในสังคมที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น ระดับรายได้ของประชากร การศึกษา ตลอดจนลักษณะการประกอบอาชีพ เป็นต้น อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ลักษณะการติดตามข้อมูลข่าวสารในระยะต่อไปของผู้บริโภค มีแนวโน้มจะขยับไปสู่ข้อมูลข่าวสารประเภทที่มีสาระประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพมากขึ้นกว่าในปัจจุบัน
  • ผลโพลล์ชี้รูปแบบการนำเสนอหรือคอนเทนท์ (Content) ภายใต้เงื่อนไข “รวดเร็ว เข้าใจง่าย ได้สาระ” จะถูกเลือกติดตามมากที่สุด โดยระยะเวลาที่เหมาะสมในการนำเสนอถ้าเป็นข้อความจะอยู่ที่ 5-10 บรรทัด คลิปวิดีโออยู่ที่ประมาณ 1 นาที ส่วนอินโฟกราฟฟิก/ รูปภาพพร้อมคำบรรยายอยู่ที่ประมาณ 2-4 รูป

          ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในระยะข้างหน้าคอนเทนท์ (Content) จะยังแรงดึงดูดที่สำคัญในยุคผู้บริโภคฉลาดเลือก โดยการผลิต Content ที่สื่อความออกมาได้ดี ในจังหวะเวลาที่เหมาะสม ไม่เพียงแต่จะถูกติดตาม แต่จะนำไปสู่การเผยแพร่ บอกต่อในวงกว้าง และในที่สุดจะนำมาซึ่งผลประโยชน์ที่เกิดกับผู้ผลิตข้อมูลข่าวสาร ทั้งในแง่ของมูลค่า (รายได้) และคุณค่า (ชื่อเสียง/ความน่าเชื่อถือ)

          ในแต่ละวันมีข้อมูลข่าวสารให้ผู้คนในสังคมติดตามอยู่เป็นจำนวนมากมายมหาศาล เดิมทีก็มาจากสื่อดั้งเดิม (Traditional Media) ที่คุ้นเคยมานานอย่าง โทรทัศน์ วิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ฯลฯ จนมาถึงในยุคปัจจุบันเป็นยุคทองของสื่อใหม่ (New Media) ทั้งสื่อออนไลน์และโซเชียลมีเดีย (อินเทอร์เน็ต เว็บไซต์ต่างๆ แอพพลิเคชั่น Facebook Line Instagram Twitter Youtube ฯลฯ) ที่เข้ามาดึงความสนใจจากผู้บริโภคได้มากขึ้น โดยหากมองในมุมของผู้บริโภค การมีทางเลือกที่หลากหลายน่าจะส่งผลเชิงบวกในการเลือกติดตาม แต่ถ้าในมุมของผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องในธุรกิจผลิตข้อมูลข่าวสาร อาจจะกลายเป็นความท้าทายมากกว่าในแง่ของการแข่งขันทางการตลาด แต่ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่แค่มิตินั้น แต่ในระยะข้างหน้าการอยู่รอดของผู้ประกอบการในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการผลิตข้อมูลข่าวสาร น่าจะอยู่ที่ตัวคอนเทนท์ (Content) ที่สามารถสื่อความออกมาได้ดี ในจังหวะเวลาที่เหมาะสมด้วย ซึ่งจากการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

  • ร้อยละ 94 ของกลุ่มตัวอย่างที่ใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ในชีวิตประจำวัน สนใจติดตามข้อมูลข่าวสาร โดยความสนใจมุ่งไปที่ความเคลื่อนไหวด้านเศรษฐกิจ/ธุรกิจ มาเป็นอันดับแรก (ร้อยละ 83) รองลงมาคือ กลุ่มข่าวทั่วไปและกลุ่มภาพยนตร์/ ละคร/ ซีรีส์ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 73 และร้อยละ 62 ตามลำดับ เป็นที่น่าสังเกตว่า ข้อมูลข่าวสารที่มีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตและเป็นประโยชน์เชิงธุรกิจ มีแนวโน้มจะถูกติดตาม โดยเฉพาะจากผู้บริโภควัยกลางคน (อายุ 35 ปีขึ้นไป) และผู้มีรายได้ค่อนข้างสูง (รายได้มากกว่า 30,000 บาท/เดือน) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 52 ของกลุ่มตัวอย่าง

          ในขณะที่ผู้มีรายได้น้อยกว่า 30,000 บาท/เดือน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 48 ของกลุ่มตัวอย่าง รวมถึงกลุ่มวัยรุ่นและผู้สูงวัย ความสนใจจะมุ่งไปที่กลุ่มข่าวสารทั่วไปและข่าวคราวด้านบันเทิงมากกว่า นั่นอาจเป็นเพราะว่าเนื้อหาที่สื่อออกไปดูเบากว่าและคลายเครียด เมื่อเทียบกับข้อมูลข่าวสารที่สื่อออกไปในแง่ที่ให้สาระประโยชน์ในแง่มุมต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้ความคิดพิจารณาตามไปด้วย ดังนั้น ช่วงวัยและสถานะทางสังคมของแต่ละบุคคล ค่อนข้างจะมีส่วนต่อการเลือกติดตามข้อมูลข่าวสารแต่ละประเภท

  • เป็นที่น่าสังเกตว่า ผลการสำรวจที่ออกมาในลักษณะนี้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการเก็บข้อมูลจากแพลตฟอร์มออนไลน์จะได้กลุ่มตัวอย่างที่มีลักษณะเฉพาะ กล่าวคือ มีความคุ้นเคยกับการใช้ชีวิตอยู่บนโลกออนไลน์พอสมควร จึงทำให้สัดส่วนของกลุ่มตัวอย่าง ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้มีรายได้มากกว่า 30,000 บาท/เดือน ดังนั้น จึงไม่แปลกใจว่าความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ/ธุรกิจ จะได้รับความนิยมจากกลุ่มตัวอย่างในอันดับต้นๆ

          ในระยะต่อไป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า จากจำนวนคนชั้นกลางในสังคมที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น ระดับรายได้ของประชากร การศึกษา ตลอดจนลักษณะการประกอบอาชีพ เป็นต้น อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ลักษณะการติดตามข้อมูลข่าวสารของคนในสังคม ตลอดจน Content ในการนำเสนอมีแนวโน้มจะขยับไปสู่ข้อมูลข่าวสารประเภทที่มีสาระประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพมากขึ้นกว่าในปัจจุบัน ซึ่งนับว่าเป็นสัญญาณที่ดีต่อทิศทางการผลิตและพัฒนาข้อมูลข่าวสารที่สามารถประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อบุคคล องค์กรและภาคธุรกิจ

  • อิทธิพลของสื่อใหม่ (New Media) ชี้ให้เห็นว่าผู้คนหันมาใช้เวลากับการติดตามข้อมูลผ่านช่องทางนี้มากขึ้น สะท้อนจากผลการสำรวจ ที่ระบุว่า การติดตามข้อมูลข่าวสารผ่าน New Media ในแต่ละวันแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 3.5 ชั่วโมง มากกว่าสื่อดั้งเดิม เช่น โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ ฯลฯ ที่ใช้เวลาเฉลี่ยอยู่ที่ 2.7 ชั่วโมง และหากเปรียบเทียบแล้วยังมากกว่าระยะเวลาที่ใช้ในการอ่านหนังสือของคนไทยเกือบ 3 เท่าตัว

          ปัจจุบันจากผลการสำรวจ แสดงให้เห็นว่า ระยะเวลาที่เหมาะสมในการนำเสนอ Content เบื้องต้นที่จะไม่ทำให้ผู้ติดตามรับชมข้อมูลข่าวสาร เกิดความรู้สึกเบื่อ ปิดหรือเปลี่ยนช่องทางการสื่อสารนั้น หากอยู่ในรูปแบบข้อความ (Text) จะอยู่ที่ 5-10 บรรทัด (ร้อยละ 44 ของผู้ตอบแบบสอบถาม) รูปแบบของคลิปวิดีโอ (Clip Video) อยู่ที่ประมาณ 1 นาที (ร้อยละ 37) ส่วนรูปภาพพร้อมคำบรรยาย รวมถึงอินโฟกราฟฟิก อยู่ที่ประมาณ 2-4 รูป (ร้อยละ 67) ส่วนในระยะต่อไป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคสื่อจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย อาทิ ไลฟ์สไตล์ในการดำเนินชีวิต รูปแบบคอนเทนท์ รวมถึงกลยุทธ์ของแพลตฟอร์มในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ฯลฯ

          ปัจจุบัน Content ที่อยู่ภายใต้เงื่อนไข“รวดเร็ว เข้าใจง่าย ได้สาระ ถูกเลือกติดตามมากที่สุดในสายตาผู้บริโภคยุคฉลาดเลือก ซึ่งจากผลการสำรวจ พบว่า ลักษณะของ Content บนแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ถูกนำเสนอได้ภายในเวลาที่รวดเร็ว (Real-Time) เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคจะให้ความสนใจและอยาก

  • ติดตามมากที่สุด (ร้อยละ 55) ตามมาด้วย อินโฟกราฟฟิก (Infographic)/รูปภาพที่มีคำอธิบายประกอบสั้นๆ (ร้อยละ 47) และ Content ที่มีสาระประโยชน์ที่สามารถดึงมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตได้ (ร้อยละ 45) ตามลำดับ

  • คอนเทนท์ (Content) คือแรงดึงดูดที่สำคัญในยุคผู้บริโภคฉลาดเลือก เพราะผู้ผลิตข้อมูลข่าวสารในปัจจุบันไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในวงการสื่อสารมวลชน แต่เป็นใครก็ได้ที่สามารถถ่ายทอดและนำเสนอข้อมูลข่าวสารออกมาและผู้คนในสังคมอยากจะติดตาม จึงไม่น่าแปลกใจว่าในระยะหลัง เราจะได้เห็นผู้ผลิตสื่อหน้าใหม่ ทั้งในรูปแบบขององค์กรและรายบุคคลเปิดตัวมากขึ้น โดยเฉพาะกับผู้บริโภครุ่นใหม่ที่บทบาทไม่ได้จำกัดอยู่แค่ผู้รับข้อมูลข่าวสาร แต่ยังก้าวเข้ามาเป็นผู้ผลิตข้อมูลข่าวสารอีกด้วย (แม้ว่าการผลิตข้อมูลข่าวสารในลักษณะของ Text หรือข้อความ อาจจำเป็นต้องเห็นหน้าตาของผู้ผลิตหรือผู้ที่สื่อสารออกไป แต่หากอยู่ในรูปแบบของการนำเสนอออกสื่อสังคม คลิปวิดีโอ บทบาทความสำคัญของผู้สื่อสาร สถานภาพ/ตำแหน่งทางสังคม และบุคลิกภาพ ยังมีส่วนสำคัญต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค) ส่งผลให้การแข่งขันในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการผลิตข้อมูลข่าวสารจะเข้มข้นมากขึ้น เพราะนอกจากผู้ประกอบการรายเดิมที่อยู่ในตลาดจะต้องทำงานแข่งขันกันเองแล้ว ยังต้องเผชิญกับผู้เล่นหน้าใหม่เพิ่มขึ้น

          ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ปัจจุบันอยู่ในช่วงของการปรับตัวของผู้ประกอบการในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการผลิตข้อมูลข่าวสารให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค แต่ไม่ว่ารูปแบบการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะเป็นไปในทิศทางใด คอนเทนท์ (Content) ถือเป็นแรงดึงดูดสำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง ที่จะตัดสินความอยู่รอดของผู้ผลิตข้อมูลข่าวสาร ซึ่งหากทำได้ไม่เพียงแต่จะถูกติดตาม แต่จะนำไปสู่การเผยแพร่ บอกต่อในวงกว้าง และในที่สุดอาจจะนำมาซึ่งผลประโยชน์ที่เกิดกับผู้ผลิตข้อมูลข่าวสาร ทั้งในแง่ของมูลค่า (รายได้) และคุณค่า (ชื่อเสียง/ความน่าเชื่อถือ)

          นอกจากนี้ ในระยะข้างหน้าการเพิ่มขึ้นของคนชนชั้นกลางในสังคม รายได้ของประชากรและระดับการศึกษา ตลอดจนลักษณะการประกอบอาชีพ อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงลักษณะการติดตามข้อมูลข่าวสารในระยะต่อไปของผู้บริโภค ซึ่งคาดว่าจะขยับหรือพัฒนาไปสู่ข้อมูลข่าวสารประเภทที่มีสาระประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพมากขึ้นกว่าในปัจจุบัน ดังนั้น ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องจะต้องตื่นตัวและไม่หยุดนิ่งในการพัฒนา เพราะผู้บริโภคจะพยายามมองหาประสบการณ์หรือสิ่งแปลกใหม่อยู่เสมอ  

 

ขอบคุณข้อมูลจาก   www.kasikornresearch.com