ท็อปลิสต์สเปกคู่หู(ธุรกิจ)ในฝัน เลือกให้ถูก ธุรกิจไม่พัง!
“การเลือกพาร์ทเนอร์ในการทำธุรกิจก็เหมือนการแต่งงาน” ถ้าอยากให้การวิวาห์ (ทางธุรกิจ) ครั้งนี้ราบรื่น ไม่ต้องจบลงด้วยคราบน้ำตาและการหย่าร้าง คุณต้องมั่นใจว่าเลือกคนที่ใช่ ดีพร้อมที่จะเคียงข้างกับคุณไปอีกนานแสนนาน
สำหรับสตาร์ทอัพป้ายแดง หรือ มือใหม่หัดทำธุรกิจที่ไม่อยากต้องเริ่มต้นธุรกิจแบบดูโอ แต่จบลงแบบซิงเกิ้ล ก่อนตกลงปลงใจกับใคร แนะนำให้บวกลบคูณหารให้รอบคอบ อย่าปล่อยใจไปกับใครง่าย อย่างน้อยๆ ก่อนคิดจะมีหุ้นส่วนทำธุรกิจ ลองลิสต์สเปกคู่หูธุรกิจในฝันที่คิดว่าจะเป็นจิ๊กซอร์อีกตัวที่ขาดหายไปไว้ในใจ เพื่อเป็นเข็มทิศนำทางในการเลือกคู่(หู)ไม่ให้พลาด
1.กำหนดอุดมการณ์ในใจให้แน่วแน่ ไม่ว่าคุณจะมองหาพนักงาน หรือ เลือกหุ้นส่วน คุณต้องมั่นใจว่าออกสตาร์ทจากจุดยืนที่มั่นคง ชัดเจน ซึ่งอุดมการณ์ที่ชัดเจนนี่เองจะเป็นตัวช่วยกำหนดทิศทางเป้าหมาย และ การตัดสินใจต่างๆ ต่อไปในอนาคต อย่าลืมว่า จุดยืนในที่นี่ คุณต้องสะท้อนจากสิ่งที่ตัวเองเป็นไม่ใช่สิ่งที่คุณคาดหวังจะเป็น เช่น คุณเป็นพวกชอบการแข่งขัน หรือ เป็นพวกให้ความสำคัญกับการทำงานเป็นทีมเวิร์ก, ทำงานแบบพร้อมสแตนบาย 24 ชั่วโมง หรือ ให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลพอๆ กับการทำงานและการใช้ชีวิตกันแน่ ฟันธงให้ชัด
2.ชี้ให้ชัดอะไรคือสิ่งที่คุณพร้อมจะแลก เมื่อหาคำตอบให้ตัวเองได้แล้วว่าอะไรคือสิ่งที่คุณให้ความสำคัญ ถึงเวลาแล้วทีคุณต้องลงลึกลงไปให้อีกขั้นว่า อะไรคือ สิ่งที่คุณยอมแลกเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่หวัง ยกตัวอย่าง หากเดตไลน์คือสิ่งที่คุณมองว่าสำคัญที่สุดในการทำงาน นั่นหมายความคุณพร้อมจะทำงานล่วงเวลา หรือ เปลี่ยนแผนการใช้ชีวิตส่วนตัวได้ทุกเมื่อเพื่อให้งานบรรลุเป้าหมาย เป็นต้น หลายคนอาจมองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องปลีกย่อย แต่จริงๆแล้วเป็นเรื่องใหญ่ที่คุณควรหยิบมาคุยกับว่าที่คู่หูให้ชัดเจนแต่ต้นว่าอะไรคือสิ่งที่คุณให้ความสำคัญและพร้อมจะเสียสละขนาดไหนเพื่อให้ได้มา
3.ประเมินตัวเอง ทุกคนล้วนมีจุดแข็งและจุดอ่อน อยู่ที่ว่าเราจะรู้จักตัวเองดีพอที่จะสามารถพัฒนาจุดแข็งและกลบฝังจุดอ่อนของตัวเองหรือไม่ จากนั้นค่อยมองหาคู่หูธุรกิจที่พร้อมจะเติมเต็มในส่วนที่เราขาดและสนับสนุนจุดแข็งที่เรามี เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบเชิงธุรกิจ
4.กำหนดรูปแบบความสัมพันธ์ที่คุณคาดหวังระหว่างคุณกับคู่หู ลองจินตนาการดูว่า คุณคาดหวังจะเห็นความสัมพันธ์ของคุณกับคู่หูเป็นอย่างไร นั่งทำงานด้วยกันทุกวัน? หรือเจอกันอาทิตย์ละครั้ง นัดดื่มสังสรรค์กันทุกเย็นหลังเลิกงาน หรือ กินข้าวกลางวันด้วยกันเดือนละครั้ง ไม่ว่าคุณจะเลือกจำกัดความนิยามความสัมพันธ์คู่ของคุณแบบไหนไม่ใช่ปัญหา ขอเพียงคุณทั้งคู่เห็นพ้อง ก็ไปต่อได้
5.เช็คให้ดีเคมีเข้ากันหรือเปล่า บางครั้งคนเก่งก็หาไม่ยากเท่าคนที่มีเคมีเข้ากัน ถึงจะไม่ง่ายเลยที่คุณจะจับชีพจรจนรู้ว่าอีกฝ่ายเคมีเข้ากันหรือเปล่า แต่คุณก็ต้องพยายาม เพราะถ้าได้คนที่เคมีไม่เข้ากันประเภทไอคิวสูงแต่อีคิวต่ำก็ยากที่จะลงเรือลำเดียวกันแล้วพากันไปได้ตลอดรอดฝั่ง ทางที่ดีคุณควรเลือกคนที่สมถะ เปิดใจรับไอเดียใหม่ๆและเปิดรับการตัดสินใจร่วมกันมาเป็นคู่หูข้างกาย
6.คุณและคู่หูมีแรงจูงใจและแรงขับดันที่แรงกล้าพอๆกัน คุณและคู่หู อาจไม่จำเป็นต้องทุ่มเทเวลาทำงาน 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือ ลากสังขารทำงานถึงตี 2 ทุกวัน ขอแค่มั่นใจว่าคุณทั้งคู่มีแรงผลักดันที่จะพาไปสู่เป้าหมายในระดับเดียวกันก็พอแล้ว
7.จูนให้เจอ วิธีรับมือเมื่อเผชิญกับความขัดแย้ง ในทุกธุรกิจย่อมต้องผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบาก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการระดมทุน สภาพคล่องทางการเงิน พนักงานขาด ลูกค้ายกเลิกสัญญา ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นบททดสอบท้าทายที่ทำให้ความสัมพันธ์ของคู่หูธุรกิจสั่นคลอน เพราะฉะนั้นคุณควรวางแผนกันให้ดีแต่เนิ่นๆ ว่า หากต้องผ่านช่วงเวลาแห่งความยากลำบากเช่นนี้ คุณและคู่หูจะมีวิธีรับมืออย่างไร
หากสุดท้ายแล้วคุณพบว่าคู่หูที่หมายตา ไม่เข้าเณฑ์หรือผ่านคุณสมบัติทั้ง 7 นี้ แนะนำว่าอย่าได้มองผ่าน หรือ คิดว่าอยู่ๆ ไปก็ค่อยปรับตัวเข้าหากัน เพราะนั่นอาจเป็นจุดเริ่มต้นของรอยร้าวที่ยากจะประสานในอนาคต ทางที่ดี คุณควรให้เวลากับตัวเองในการค่อยๆ ตามหาคนที่ใช่ เพราะหากการหาคู่หูธุรกิจเปรียบเหมือนการแต่งงานจริง คุณคงไม่อยากเป็นเจ้าสาวหรือเจ้าบ่าวหลายครั้ง
ขอบคุณที่มา : www.inc.com
บทความโดย : TerraBKK เคล็ดลับการลงทุน
TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก