ต้องยอมรับว่าความเป็นโลกทุนนิยมในปัจจุบันนั้น สิ่งสำคัญที่ใช้ชี้วัดความก้าวหน้าของประเทศใดประเทศหนึ่งในโลกเรานั้นย่อมเป็นภาวะเศรษฐกิจของประเทศ แต่บางทีเราจะเห็นได้ว่าทำไมเวลาที่ตัวเลขต่าง ๆ ทางเศรษฐกิจนั้นออกมาดี แต่ความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วไปกลับไม่ดีขึ้นตาม ทั้งนี้เป็นเพราะตัวเลขเหล่านั้นอาจจะสะท้อนให้เห็นเฉพาะการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ไม่ได้สะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

            การพัฒนา เศรษฐกิจ (Economic Development) หมายถึง กระบวนการสร้างความเจริญเติมโตทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องยาวนาน มีการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจ โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้อยู่ดีกินดี   มีสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ สวัสดิการทางสังคม มีความพึงพอใจและความสุขในการดำเนินชีวิต ความปลอดภัยในสังคมที่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังเกิดการสร้างความเป็นธรรมในสังคม

ดัชนีชี้วัดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

                 เมื่อจะดูว่าอะไรเป็นปัจจัยที่บ่งบอกว่าเศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น ก็ต้องพูดถึงดัชนีชี้วัดต่าง ๆ ซึ่งสามารถสะท้อนถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศก่อน เพราะตัวเลขดัชนีเหล่านี้จะบ่งบอกถึงความมั่งคั่งโดยรวมของคนในประเทศ ดัชนีชี้วัดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจประกอบด้วย

GDP

GDP หรือ Gross Domestic Product หมายถึง มูลค่าตลาดของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายที่ผลิตในประเทศ ณ ช่วงเวลาหนึ่ง ไม่ว่าผลผลิตนั้นจะเป็นผลผลิตที่ได้จากทรัพยากรภายในหรือภายนอกประเทศ และตัวเลข GDP นี้ยังสามารถใช้วัดมาตรฐานค่าครองชีพของประชากรในประเทศนั้นๆได้อีกด้วย ตัวเลข GDP ของประเทศไทยนั้นมีอัตราการเติบโตต่อเนื่องมาตลอดตั้งแต่ปี 2000 จนถึง 2013 คิดเป็นอัตราส่วนถึงประมาณ 200% แต่หลังจากปี 2013 เป็นต้นมาก็เริ่มที่จะชะลอตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 400 พันล้านดอลลาร์

GDP per Capita

           

ข้อมูลนี้คือการนำค่าของ GDP มาหารด้วยจำนวนประชากรในประเทศ ซึ่งผลของข้อมูลก็จะสามารถบ่งบอกถึงมาตรฐานค่าครองชีพของคนในประเทศได้ใกล้เคียงกับ GDP แต่จะเพิ่มการเปรียบเทียบกับการเติบโตของประชากรในเชิงข้อมูลไปด้วย เพื่อแสดงให้เห็นว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นอยู่ในระดับที่เหมาะสมควบคู่กับการเติบโตด้านประชากรหรือไม่ โดยจากข้อมูลจะเห็นได้ว่าอัตราการเติบโตของประชากรในประเทศไทยนั้นยังคงเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องอยู่ที่ประมาณ 3-4% ต่อปี ต่างจากการเติบโตของ GDP ที่เริ่มชะลอตัวตั้งแต่ปี 2013 สะท้อนให้เห็นถึงความมั่งคั่งของประชากรโดยรวมในประเทศที่ลดน้อยลง

Net National Income

            NNI หรือ รายได้ประชาชาติสุทธิ คือ ข้อมูลในเชิงเศรษฐกิจซึ่งบ่งบอกถึงรายได้ในทางบัญชีของประชาชาติ โดยคิดจากผลิตภัณฑ์ระดับชาติสุทธิ (NNP) ลบด้วยภาษีทางอ้อม ข้อมูล NNI นี้จะครอบคลุมทั้งรายได้ของภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจ และภาครัฐบาล

ปัจจัยที่ช่วยให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

สิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศนั้นพัฒนาไปเป็นการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนนั้น คือ การที่คนทุกกลุ่มในประเทศนั้นต้องได้รับประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน จึงต้องมีการเพิ่มเติมปัจจัยบางประการเพื่อนำไปวิเคราะห์ร่วมกับตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วย

ความยากจนในประเทศที่ลดลง

            ปัญหาความยากจนถือเป็นปัญหาหลักสำคัญอย่างหนึ่งที่จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการแก้ไข เพราะเป็นปัญหาที่สามารถนำไปสู่ปัญหาอื่น ๆ ตามมา เช่น การขาดการศึกษาที่เพียงพอของประชากร ปัญหาอาชญากรรม การไม่ได้รับการช่วยเหลือด้านสุขภาพที่เพียงพอ เป็นต้น

การลดความยากในประเทศจะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศสามารถเติบโตไปได้อย่างยั่งยืน จากข้อมูลอัตราประชากรที่อยู่ใต้เส้นความยากจนของไทยนั้นก็ลดลงมาค่อนข้างมากจาก 32% ในปี 2002 มาอยู่ที่ 11% ในปี 2014

อัตราการว่างงานที่ลดลง

            อัตราการว่างงาน คือ อัตราที่แสดงถึงบุคคลที่สามารถและเต็มใจทำงาน แต่ไม่สามารถหางานทำได้ เทียบกับจำนวนบุคคลที่อยู่ในกำลังแรงงานทั้งหมด ข้อมูลอัตราการว่างงานนี้สามารถสะท้อนถึงผลกระทบที่จะเกิดกับภาพเศรษฐกิจของประเทศได้ เช่น ความสามารถในการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศ ยอดการขายของธุรกิจกลุ่มค้าปลีก และอัตราเงินเฟ้อของประเทศ สถานการณ์ด้านการว่างงานของประเทศไทยในปัจจุบันนั้นไม่ค่อยดีนัก เพราะจากข้อมูลแล้วอัตราการว่างงานที่ลดลงไปต่ำกว่า 1% ในช่วงปี 2011-2013 เริ่มที่จะมีแนวโน้มกลับตัวเพิ่มสูงขั้นมามากกว่า 1% ในปัจจุบัน

การกระจายรายได้

            การกระจายรายได้เป็นดัชนีตัวหนึ่งที่ใช้ในการวัดค่าความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ ซึ่งข้อมูลนี้ไม่ได้สะท้อนผลลัพธ์ในแง่เดียวกันกับความยากจน ความไม่เท่าเทียมในเชิงเศรษฐกิจที่วัดโดยใช้การกระจายรายได้นั้นจะดูจากการแบ่งสันปันส่วนผลผลิตมวลรวมของประเทศโดยแบ่งประชาชนออกเป็นส่วนๆ แล้วดูว่าประชาชนส่วนที่ได้รับรายได้สูงสุดนั้นได้รับรายได้มากกว่าประชาชนส่วนที่ได้รับรายได้น้อยที่สุดเท่าไร แล้วคิดออกมาเป็นสัดส่วนที่บ่งชี้ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ วิธีที่นิยมใช้กันในการวัดการกระจายรายได้คือค่าสัมประสิทธิ์จีนี (Gini Coefficient) ซึ่งเป็นวิธีวัดการกระจายทางสถิติวิธีหนึ่ง ค่านี้จะบ่งชี้การกระจายรายได้โดยคิดออกมาเป็นอัตราส่วนการกระจายรายได้ระหว่าง 0 ถึง 1 โดย 0 จะหมายถึงประชากรทั้งหมดมีรายได้เท่าเทียมกันอย่างแท้จริง และ 1 หมายถึงการเหลื่อมล้ำสมบูรณ์แบบซึ่งมีบุคคลเพียงคนเดียวมีรายได้ทั้งหมดในขณะที่คนที่เหลือไม่มีรายได้เลย จากข้อมูลแล้วปัญหาการกระจายรายได้ของไทยนั้นมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมา

บทความโดย : TerraBKK เคล็ดลับการลงทุน

TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก