• ถึงเวลาคุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่ต้องหันกลับมาทบทวนวิธีเลี้ยงลูกให้ประสบความสำเร็จ เมื่อความฉลาดไม่ใช่ตัวชี้วัดความสำเร็จเสมอไป แต่ความเพียรต่างหากคือคุณสมบัติสำคัญที่ต้องปลูกฝังให้ลูก
  • นักวิจิยสาวจากสหรัฐ ใช้ประสบการณ์การเป็นครูในโรงเรียนเทศบาล ตั้งคำถามว่า ทำไมเด็กที่ไอคิวสูงลิ่ว ถึงไม่ใช่เด็กที่คว้าผลการเรียนดีที่สุด เธอทำการศึกษาผ่านกลุ่มตัวอย่างหลายรูปแบบจนค้นพบความลับสำคัญที่จะพาไปสู่ความสำเร็จ นั่นคือ “ความเพียร”
  • ความเพียร ในที่นี้ หมายถึง ความมุ่งมั่นเพื่อเป้าหมายระยะยาว ไม่เพียงแค่สัปดาห์ ไม่เพียงแค่เดือน แต่เป็นปี และทำมันอย่างหนัก ความเพียร คือการใช้ชีวิตแบบวิ่งมาราธอน ไม่ใช่วิ่งระยะสั้น
  • จนวันนี้ ยังไม่มีใครรู้ว่า สูตรสำเร็จในการสร้างความเพียรคืออะไร แต่วิธีที่ยอดเยี่ยมจนไม่อาจมองข้าม คือ “ความเชื่อในการเติบโต” ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยแครอล ดเว็ก มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เขาเชื่อว่าความสามารถในการเรียนรู้เป็นสิ่งที่ไม่ตายตัว และเปลี่ยนแปลงได้ด้วยความพยายามของคุณเอง
  • หน้าที่สำคัญของพ่อแม่ คือ ก่อนจะปลูกฝังความเพียรให้ลูกน้อยต้องเริ่มจากสร้างความเพียรให้ตัวเอง เพียรที่จะเสาะหาไอเดียที่ดีที่สุด และ ไม่ท้อที่จะลองผิดลองถูก และเรียนรู้กับสิ่งนั้น

           

ถ้าชีวิตนี้เลือกได้ดั่งใจ คุณสามารถใช้เงินเพื่อเพิ่มมูลค่าให้ตัวเองได้ คุณจะเลือกจ่ายเพื่อเพิ่มความฉลาด หรือ ความเพียรให้ตัวเอง  

            ใครที่ยังตั้งตัวไม่ทันเลือกไม่ได้ ไม่ต้องใจร้อน ลองไปฟังเรื่องราวของแอนเจล่า ลี ดั๊กเวิร์ธ นักจิตวิทยาสาวจากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา ที่ก้าวขึ้นเวที TED Talk พร้อมความลับสำคัญที่เธอค้นพบแต่หลายคนกลับมองข้าม อาจทำให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น

            หลังจากตัดสินใจทิ้งตำแหน่งสูงในวงการที่ปรึกษาการบริหารมาเป็นคุณครูสอนคณิตศาสตร์ให้เด็กเกรดเจ็ดในโรงเรียนเทศบาลนิวยอร์ก เธอยังคำถามจากผลลัพธ์ที่ได้จากการตรวจการบ้านและข้อสอบของนักเรียนว่าหากไม่ใช่ “ไอคิว” ที่เป็นตัวชี้วัดว่าจะได้คะแนนสอบดีที่สุด แล้วอะไรคือตัวแปรที่สำคัญ เพราะในเมื่อเด็กที่มีผลการเรียนดีที่สุดในชั้นเรียนบางคน ก็ไม่ได้เป็นผู้ที่มีคะแนนไอคิวสูงเทียมเมฆ ขณะที่เด็กฉลาดที่สุดบางคนก็ไม่ได้มีผลการเรียนดีนัก

            คำถามในใจเหล่านี้ชวนให้แอนเจล่าฉุกคิดว่า หรือความเพียรและความมุ่งมั่นทุ่มเทจะเป็นกุญแจดอกสำคัญที่ทำให้เด็กที่ไม่ได้ฉลาดที่สุด ก็สามารถทำคะแนนดีแซงหน้าเด็กที่มีไอคิวท็อปๆ ได้ หลังจากเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในการสอนอยู่อีกหลายปี จนแน่ใจแล้วว่า สิ่งที่ใช้ชี้วัดความสำเร็จของเด็กๆ ไม่ใช่ “ไอคิว” อย่างเดียวแต่ยังมีเครื่องชี้วัดอื่นๆ เธอตัดสินใจออกตามหาคำตอบ ด้วยการลาออกไปเรียนต่อปริญญาโทด้านจิตวิทยา

            “ดิฉันศึกษาเด็กๆ และผู้ใหญ่ ภายใต้โจทย์ที่แสนท้าทายในหลายรูปแบบ โดยในทุกการศึกษา ดิฉันจะตั้งคำถามว่า ใครประสบความสำเร็จและทำไม? ดิฉันและทีมวิจัยเริ่มจากไปที่วิทยาลัยทหารเวสท์พอยท์ เพื่อพยากรณ์ว่านายร้อยคนใด จะยังอยู่ฝึกต่อและใครจะลาออก เราไปเยือนการแข่งขันสะกดคำแห่งชาติ พยากรณ์ว่าเด็กคนไหนจะไปได้ไกลที่สุดในการแข่งขัน ไปศึกษาคุณครูมือใหม่ ที่ต้องทำงานในพื้นที่ที่ยากลำบาก ด้วยคำถามว่า ครูคนใดจะยังคงสอนอยู่ต่อไป เมื่อปีการศึกษาจบลง และในกลุ่มนั้น ใครจะมีประสิทธิภาพที่สุดในการยกระดับผลการศึกษาของเด็กที่สอน นอกจากนี้ยังร่วมมือกับบริษัทเอกชน เพื่อสำรวจว่าเซลส์คนใดจะยังรักษาผลงานไว้ได้ และใครจะเป็นผู้ที่ทำรายได้สูงสุดจากบริบทที่แตกต่างกัน”

            จากผลการศึกษาทั้งหมดนี้ แอนเจล่า ค้นพบหนึ่งในคุณสมบัติที่ช่วยพยากรณ์ความสำเร็จได้ชัดเจนมาก คุณคิดว่ามันคืออะไร?...ความฉลาดในการเข้าสังคม รูปลักษณ์ที่ดูดี หรือ สุขภาพที่แข็งแรง ทั้งหมดไม่ใช่เลย เพราะคำตอบที่ถูกต้อง คือ “ความเพียร” คำธรรมดาที่เราคุ้นหูกันเป็นอย่างดี

            สำหรับนิยามของความเพียรในมุมมองของแอนเจล่า เธออธิบายอย่างน่าสนใจว่า ความเพียร แปลว่า ฝักใฝ่ ใคร่รัก ทุ่มเท และบากบั่นฟันฝ่า เพื่อเป้าหมายระยะยาว  การมุ่งมั่นไปข้างหน้า วันแล้ววันเล่า ไม่เพียงแค่สัปดาห์ ไม่เพียงแค่เดือน แต่เป็นปี และทำมันอย่างหนัก เพื่อให้อนาคตที่ฝันกลายเป็นจริง ความเพียร คือการใช้ชีวิตแบบวิ่งมาราธอน ไม่ใช่วิ่งระยะสั้น

            “ทุก ๆ วันมีผู้ปกครองและครูมาถามดิฉันว่า เราจะสร้างบ่มเพาะความเพียรในเด็ก ๆ ได้อย่างไร, เราต้องสอนอะไรให้เด็กมีจรรยาบรรณในการทำงาน, เราจะคงแรงจูงใจในระยะยาวให้เด็ก ๆ ได้อย่างไร”

คำถามมากมายเหล่านี้ แอนเจล่าเฉลยอย่างไม่ปิดบังว่า “ตอบอย่างจริงใจนะคะ ดิฉันก็ไม่ทราบ (หัวเราะ)”  

            อย่างไรก็ตาม ไอเดียที่แอนเจล่ามองว่ายอดเยี่ยมที่สุดสำหรับการสร้างเสริมความเพียรในเวลานี้ คือแนวคิดเรื่องความเชื่อในการเติบโต พัฒนาขึ้นโดยแครอล ดเว็ก มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ซึ่งเชื่อว่าความสามารถในการเรียนรู้เป็นสิ่งที่ไม่ตายตัว และเปลี่ยนแปลงได้ด้วยความพยายามของคุณเอง เมื่อเด็กๆ อ่านและเรียนรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงและเติบโตของสมองเมื่อตอบสนองกับสิ่งท้าทาย จะเป็นแรงจูงใจให้พวกเขาสู้ต่อไปเมื่อต้องเผชิญหน้ากับความล้มเหลว เพราะไม่เชื่อว่าความล้มเหลว เป็นสภาวะที่ถาวร

            “หน้าที่ของผู้ใหญ่ คือ นำไอเดียที่ดีที่สุดมาทดสอบ เปิดใจที่จะล้มเหลว ผิดพลาด นำบทเรียนที่ได้มาเริ่มใหม่ ต้องมีความเพียรที่จะสร้างเด็กๆให้มีความเพียรเช่นกัน”แอนเจล่ากล่าวทิ้งท้ายท่ามกลางเสียงปรบมือกราว

            แล้วคุณหล่ะ? หาคำตอบให้ตัวเองได้หรือยังว่า การลงทุนในความฉลาดหรือความเพียรจะคุ้มค่าที่สุด

ขอบคุณที่มา : www.ted.com

บทความโดย : TerraBKK เคล็ดลับการลงทุน

TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก