แบ่งงานกันลงตัวสำหรับ 2 รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม หลังจากที่นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร เข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม แทนนายพิชิต อัคราทิตย์ โดยในครั้งนี้นายไพรินทร์ได้รับมอบหมายให้คุมแผนล้างหนี้ 2 แสนล้านบาทของ 3 รัฐวิสาหกิจ พร้อมกับสั่งลุยขับเคลื่อนโครงการรถไฟความเร็วสูงมูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาทให้สามารถชงเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้ภายในปี 2561

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

          โดยการแบ่งงานในครั้งนี้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม คนใหม่ ไปดูแลแผนฟื้นฟูองค์กรรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคมจำนวน 3 หน่วยงานซึ่งมีหนี้สินรวมกันกว่า 2 แสนล้านบาท ประกอบด้วย การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ บกท.

สั่งไล่บี้ปมจัดหารถเมล์เอ็นจีวี

          ด้านหน่วยงาน ขสมก.นั้นนายอาคมได้เร่งรัดให้สามารถจัดหารถโดยสารเอ็นจีวี 489 คันต้องสำเร็จภายในปี 2561 ขณะที่ร.ฟ.ท.ต้องเร่งรัดให้สามารถจัดตั้งบริษัทลูกทั้ง 2 แห่ง ได้แก่ บริษัทบริหารทรัพย์สินและบริษัทเดินรถ เพื่อหารายได้ให้กับองค์กรควบคู่ไปกับการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์เพื่อล้างหนี้ที่มีอยู่ปัจจุบันนับแสนล้านบาท ควบคู่ไปกับเร่งผลักดันโครงการรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน วงเงินกว่า 2.15 แสนล้านบาท

ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอีอีซีระยะเร่งด่วน ควบคู่กับโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หัวหิน ระยะทาง 211 กิโลเมตร วงเงิน 9.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งกระทรวงคมนาคมมีเป้าหมายว่าจะต้องเสนอที่ประชุม ครม. เพื่อขอความเห็นชอบภายในปีหน้า

          นอกจากนี้ยังได้มอบหมายให้รมช.คนใหม่ไปดูแลแผนการก่อสร้าง 2 ทางด่วนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) โดยเฉพาะโครงการทางด่วนที่จะเปิดระดมทุนผ่านกองทุนเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund :TFF) จำนวน 2 โครงการ วงเงินราว 4.9 หมื่นล้านบาท ได้แก่ โครงการทางด่วนเส้นทางพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก ระยะทาง 17 กม. วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท และโครงการทางด่วนสายเหนือตอน N2 วงเงิน 1.94 หมื่นล้านบาท จะต้องผลักดันให้สามารถเปิดระดมทุนเพื่อก่อสร้างภายในปี 2561

งานทางน้ำ-ทางราง รอเร่งรัดอีกเพียบ

          งานด้านทางนํ้า นายไพรินทร์ได้รับมอบหมายให้ไปกำกับดูแลการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) โดยเฉพาะโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 วงเงิน 1.41 แสนล้านบาท รองรับการพัฒนาอีอีซี ตลอดจนเรื่องของการส่งเสริมให้เอกชนเข้ามาลงทุนพัฒนาท่าเทียบเรือเฟอร์รี่และท่าเทียบเรือครุยส์ขนาดใหญ่เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทางทะเลของไทย

          ในส่วนความคืบหน้าโครงการระบบรางนั้นขณะนี้กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างเร่งดำเนินโครงการพัฒนาระบบรางภายใต้ความร่วมมือไทย-จีนและไทย-ญี่ปุ่นแล้ว ยังเร่งเสนอผลประกวดราคาโครงการรถไฟทางคู่ 5 เส้นทาง ระยะทาง 668 กิโลเมตร วงเงินราว 9 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีจำนวน 13 สัญญา คาดว่าจะสามารถเสนอครม.และลงนามสัญญาได้ภายในปลายปีนี้ เช่นเดียวกับการเสนอครม.เห็นชอบให้กรมทางหลวงเข้าพื้นที่ก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะแรก 3.5 กิโลเมตร คาดว่าจะนำเสนอในการประชุมเร็วๆนี้

          เช่นเดียวกับความคืบหน้าโครงการรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 จำนวน 9 เส้นทาง ระยะทาง 2,217 กิโลเมตร มูลค่า 3.98 แสนล้านบาทนั้น ช่วงต้นปี 2561 จะทยอยเสนอผลการศึกษาโครงการให้ครม.อนุมัติก่อน 4 เส้นทาง วงเงินรวม 1.6 แสนล้านบาท ประกอบด้วย ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 167 กิโลเมตร วงเงิน 2.3 หมื่นล้านบาท ช่วงหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 75 กิโลเมตร วงเงิน 7,941 ล้านบาท ช่วงสุราษฎร์ธานี-สงขลาระยะทาง 339 กิโลเมตร วงเงิน 5.1 หมื่นล้านบาท และช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 326 กิโลเมตรวงเงิน 7.6 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 5 เส้นทางจะทยอยเสนอที่ประชุมครม.ต่อไป

อย่างไรก็ตามสำหรับโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน และแผนปฏิบัติการ(แอกชันแพลน) ปี 2561 โครงการใหม่จำนวน 8 โครงการนั้นขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดให้ครบถ้วน คาดว่าจะเสนอที่ประชุมครม.ได้ทันช่วงปลายปีนี้

          ไม่เพียงแต่จะให้ 2 รัฐมนตรีเร่งดำเนินโครงการต่างๆเท่านั้นยังมีปมปัญหาอีกมากมายให้ทั้ง 2 รัฐมนตรีเข้าไปแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นปมการจัดซื้อ-เช่า 100 หัวรถจักรของร.ฟ.ท. การจัดซื้อ 7 ขบวนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ การก่อสร้างรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย หรือก่อสร้างมอเตอร์เวย์เส้นทางต่างๆ ตลอดจนการสรรหาหัวหน้าหน่วยต่างๆ ที่ยังไร้ผู้นำตัวจริง แถมบางหน่วยยังมีเรื่องฟ้องร้องกันนัวเนีย หรือแม้กระทั่งการจัดซื้อจัดจ้างที่หลายโครงการยังล่าช้าข้ามปี จึงเป็นบทพิสูจน์ฝีมือของทั้ง 2 รัฐมนตรีว่าปี 2561 จะทำสำเร็จได้มากน้อยแค่ไหน?