อสังหา ช่วย ลดหย่อนภาษี ยังไง ?
ช่วงปลายปีเช่นนี้ หากพูดถึงเรื่องอสังหาและการลดหย่อนภาษี พบว่าปกติแล้วมีเพียงดอกเบี้ยเงินกู้บ้านที่สามารถนำมาหัก ลดหย่อนภาษี เงินได้ แต่ในปี 2560 นี้ นอกจากลดหย่อนตามมาตรการภาษีกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ อย่างชอปช่วยชาติ หักลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท แล้ว ยังมีสิทธิพิเศษ เช่น โครงการบ้านหลังแรก และ โครงการซ่อมแซมบ้านประสบอุทกภัย ซึ่งเกี่ยวกับอสังหามาช่วยประหยัดภาษีเงินได้มากขึ้นเช่นกัน TerraBKK จึงขอสรุปสาระสำคัญการ ลดหย่อนภาษี จากอสังหาริมทรัพย์ ดังนี้
1.ดอกเบี้ยเงินกู้บ้าน
สรรพากรระบุรายละเอียดไว้ว่า จะต้องเป็น ดอกเบี้ยกู้ยืมที่จ่ายให้แก่ ธนาคารหรือสถาบันการเงินอื่น บริษัทประกันชีวิต สหกรณ์ หรือ นายจ้าง วัตถุประสงค์ก็เพื่อซื้อ / เช่าซื้อ / สร้างอาคารอยู่อาศัย โดยจำนองอาคารที่ซื้อหรือสร้างเป็นประกันการกู้ยืม ในครั้งนั้นด้วย จะสามารถหัก ลดหย่อนภาษี ตามจำนวนเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ดังนั้นจำนวนดอกเบี้ยเงินกู้ที่เกินกำหนดจะไม่มีผลต่อการหัก ลดหย่อนภาษี เงินได้
- กรณีกู้ร่วมของผู้มีเงินได้ 2 คน สามารถหักลดหย่อนภาษีเงินได้ได้คนละกึ่งหนึ่ง รวมกันไม่เกิน 100,000 บาท เฉพาะดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่จ่าย ทั้งนี้ ไม่กำหนดว่าต้องเป็นดอกเบี้ยจ่ายเต็มปีภาษี และไม่จำกัดจำนวนอสังหาด้วย
- กรณีคู่สามีภรรยา หากสามี(ไม่มีเงินได้) ทำการกู้ซื้อบ้านเพียงคนเดียว ตัวภรรยา(มีเงินได้)ไม่สามารถใช้สิทธิหักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมได้ ดังนั้น จะใช้สิทธิได้ก็ต่อเมื่อเป็นผู้กู้ร่วมซื้อบ้านครั้งนี้ ด้วยเช่นกัน
- กรณีบ้านหลักประกันเดียวกัน แต่มีหลายสัญญาเงินกู้ เช่น สัญญาเงินกู้คิดอัตราดอกเบี้ยต่างกัน เป็นต้น ให้มองรวมเป็นหนี้ก้อนเดียวกัน มองตามหลักประกันเลขที่บ้าน ดังนั้น หากเป็นการกู้คนเดียว ก็สามารถหัก ลดหย่อนภาษี สูงสุด 100,000 บาท หรือกรณีกู้ร่วม 2 คน ก็สามารถหัก ลดหย่อนภาษีได้สูงสุดคนละ 50,000 บาท เป็นต้น
2.ค่าซ่อมแซมบ้านประสบอุทกภัย
สำหรับ ค่าซ่อมแซมบ้านประสบอุทกภัย สามารถนำมาหัก ลดหย่อนภาษี เงินได้ตามมาตรการภาษีกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ ได้เช่นกัน โดยทรัพย์สินนั้นได้รับความเสียหายจากอุทกภัยในเวลา 2 ช่วง คือช่วง 1 ธค. 59 – 31 พ.ค. 60 และช่วง 5 กค. 60 – 31 ธค. 60 สามารถนำค่าซ่อมแซมหรือค่าวัสดุหรืออุปกรณ์ที่จ่ายมาหัก ลดหย่อนภาษี ได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท และ อยู่ในพื้นที่ที่ทางราชการประกาศให้เป็นพื้นที่เกิดอุทกภัย เช่น จังหวัดภายใต้ พัทลุง นราธิวาส ยะลา สงขลา ปัตตานี ตรัง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ชุมพร ระนอง กระบี่ และประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น
- ลักษณะการซ่อมแซม แบ่งเป็น 3 ประเภท เช่น ซ่อมแซมอาคาร , ซ่อมแซมทรัพย์สินที่ประกอบติดตั้งกับตัวอาคาร เช่น เฟอร์นิเจอร์บิ้วอิน เป็นต้น และซ่อมแซมทรัพย์ประกอบติดตั้งในอาคาร เช่น รั้วบ้าน , โรงรถ , สระว่ายน้ำ เป็นต้น
- เอกสารประกอบการหัก ลดหย่อนภาษี ไม่จำเป็นต้องเป็นใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ สามารถใช้เป็นเอกสารการจ่ายเงินค่าซ่อมแซม /ค่าวัสดุ แสดงตัวผู้รับเงินและจ่ายเงิน วัน/ เดือน /ปี ระบุรายการซ่อมแซมพร้อมจำนวนเงิน มีลายเซ็นของผู้รับเงิน เป็นต้น
3.ค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (บ้านหลังแรก)
ยังคงมีผลต่อเนื่องไปอีก 5 ปี สำหรับใครที่เข้าร่วมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (บ้านหลังแรก) ในช่วง ตค. 58 - ธค. 59 ที่ผ่านมา ซึ่งผลจากกิจกรรมครั้งนั้น ทำให้คนไทยสามารถใช้ สิทธิยกเว้นภาษีเฉลี่ยเท่ากันเป็นเวลา 5 ปีต่อเนื่องกัน ( 20% ของมูลค่าอสังหาสูงสุดไม่เกิน 3 ลบ.) เช่น ซื้อโอนทาวน์เฮ้าส์ 3 ลบ. สามารถใช้สิทธิ ลดหย่อนภาษี เงินได้ทั้งหมด 600,000 บาท ( = 3,000,000 x 20% ) ตกเฉลี่ย 120,000 บาทต่อปี ( = 600,000 / 5ปี ) จำนวน 5 ปี นั้นเอง
ท้ายนี้ เชื่อว่าคงไม่มีใครคิดซื้ออสังหา เพราะต้องการนำดอกเบี้ยบ้านมาหัดลดหย่อนภาษี จึงอยากให้มองว่าเป็นการช่วยเหลือคนไทยที่มีภาระหนี้บ้านมากกว่า อย่างโครงการบ้านหลังแรกแม้จะไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย ๆ TerraBKK ก็มองว่า “ดอกเบี้ยเงินกู้บ้าน” ยังคงเป็นตัวช่วยหลักด้านอสังหาในการประหยัดภาษีเงินได้ในทุกปี ส่วนด้านมาตรการพิเศษช่วยเหลือด้านอุทกภัย หากเลือกได้ เราคงไม่อยากให้เกิดอุทกภัยเลยเสียมากกว่า นอกจากนี้ สำหรับคนไทยที่บริจาคเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วง 5 กค. 60- 31 ตค.60 ยังสามารถหัก ลดหย่อยภาษี เงินได้ 1.5 เท่า ( รวมกับเงินบริจาคอื่นไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและลดหย่อนอื่น ๆ ) ---- TerraBKK
บทความโดย : TerraBKK เคล็ดลับการลงทุน
TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก