เรื่องจริงที่ HR ไม่เคยบอก “เหตุผลที่ทำให้คุณไม่ใช่สำหรับเรา”
ใครที่โชคดี สมัครงานกี่ทีก็ไม่เคยผิดหวัง คงไม่มีวันเข้าใจหัวอกหรือความเจ็บช้ำของคนที่ไม่ถูกเลือกหรอกว่า มันเจ็บแค่ไหน มีเพียงคำถามเดียวที่ก้องอยู่ในใจคือ ทำไม… ทำไมฉันไม่ใช่คนที่ถูกเลือก ทั้งที่วัยวุฒิ คุณวุฒิ ก็ตรงตามประกาศรับสมัครงานทุกอย่าง?
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่คำถามนี้ยังคงก้องอยู่ในใจทุกครั้งที่คุณได้รับสายจากบริษัทที่หมายตาว่า “คุณไม่ใช่สำหรับที่นี่” ลองไปฟัง 3 เหตุผลยอดฮิตที่เอชอาร์เทคะแนนให้ว่าเป็นเพราะเหตุนี้ คุณถึงไม่ใช่ผู้สมัครที่เข้าตา พร้อมทางแก้ เพื่อให้คุณนำไปใช้ปรับปรุงตัวด่วน
1.คุณเพอร์เฟค…แต่ดูเป็นคนน่าคบ
อย่าลืมว่าในแต่ละวัน ผู้สัมภาษณ์ไม่ได้สัมภาษณ์คุณแค่คนเดียว แต่ต้องเจอกับผู้สัมภาษณ์มากมาย หมายความว่า หากสุดท้ายแล้วคุณไม่สามารถทำให้เขา/เธอประทับใจหรือจดจำคุณได้ ก็มีโอกาสสูงที่ใบสมัครของคุณจะถูกเขี่ยทิ้ง
ทางแก้ เชื่อหรือไม่ว่าสองคุณสมบัติของผู้สมัครที่บรรดาผู้สัมภาษณ์มองหาในระหว่างสัมภาษณ์งาน นอกจากจะต้องมีความสามารถที่จะทำงานในตำแหน่งที่บริษัทกำลังมองหาได้อย่างไร้ข้อกังขาแล้ว ยังต้องเป็นคนที่ทำให้ผู้สัมภาษณ์สัมผัสได้ว่า คุณเป็นคนประเภทที่น่าคบหาอยากทำงานด้วย พูดง่ายๆ คือ เก่งอย่างเดียวไม่พอต้องน่าร่วมงานด้วย
2.มีคุณสมบัติเพรียบพร้อม แต่ขายของไม่เป็น
ไม่ใช่คนเก่งทุกคนจะสอบผ่านสัมภาษณ์ไปได้ฉลุย เพราะหลายครั้งที่คนทำงานเก่งหลายๆคนต้องอกหัก เพราะตกม้าตายในห้องสัมภาษณ์ ด้วยหลายๆ เหตุผล ไม่ว่าจะเป็นความประหม่า,ขาดทักษะในการพรีเซ็นต์ตัวเองให้น่าสนใจ หรือ ควบคุมสติไม่ได้ เผลอพูดในสิ่งที่ไม่ควรพูด ตื่นเต้นจนลืมถามในสิ่งที่ควรถาม แถมยังลืมที่จะแสดงมารยาทพื้นฐานด้วยการกล่าวทักทายหรือขอบคุณ
ทางแก้ ในเมื่อรู้ว่าจุดอ่อนของตัวเองคือ การสัมภาษณ์ ยังไม่สายเกินไปที่จะเริ่มฝึกฝนตัวเองให้พร้อม เริ่มต้นจากขั้นตอนง่ายๆ ดังนี้
1.อ่านหนังสือฮาวทูแนะนำหลักการสัมภาษณ์ การตอบคำถาม เพื่อตั้งหลักให้พร้อม
2.ลองถามตัวเองซิว่า มีการสัมภาษณ์ครั้งไหน หรือ เหตุการณ์ในการสัมภาษณ์ครั้งไหนที่ทำให้คุณรู้สึกจำไม่ลืม หรือ ต้องประหม่า จนสติหลุดในระหว่างการสัมภาษณ์ ตอนที่ต้องต่อรองเรื่องเงินเดือน? หรือ ตอนที่ต้องพูดถึงสิ่งที่เป็นจุดอ่อนที่สุดของตัวเอง?
3.เมื่อรู้จุดอ่อนของตัวเองแล้ว ค่อยๆ หาทางรับมือ โดยอาจจะขอคำแนะนำจากเพื่อน หรือ ผู้รู้
3.คุณสมบัติเข้าตา แต่คุณไม่ใช่อนาคตของบริษัท
เวลาเจอคำถามสุดคลาสสิคว่า ทำไมคุณถึงต้องการงานนี้ ผู้สมัครส่วนใหญ่มักเลือกแสดงความจริงใจ ด้วยการเฉลยความในใจออกไปแบบหมดเปลือกว่านี่คือบริษัทในฝัน คุณคือคนที่ใช่ยังไงกับบริษัท โดยหลงลืมไปว่า ความจริงแล้ว คนที่บริษัทมองหาคือ คนที่จะเข้ามาเติมเต็ม เป็นกำลังสำคัญบริษัทไม่ใช่เติมเต็มความฝันหรือความปรารถนาของคุณ
ทางแก้ แม้ความจริงจะเป็นสิ่งไม่ตาย แต่บางครั้งวิธีการสะท้อนความจริงใจออกไปก็สำคัญ ยกตัวอย่าง หากวันหนึ่งเพื่อนของคุณตั้งใจทำอาหารสูตรใหม่มาให้ชิม แต่รสชาติกลับไม่ถูกปาก คุณคงไม่พูดตรงๆ ว่าอาหารจานนี้รสชาติแย่ที่สุดเท่าที่เคยกินมา แต่ต้องหาคำพูดเพื่อถนอมน้ำใจเพื่อน เช่นเดียวกันกับการแสดงแพชชั่นที่มีต่องานให้บริษัทเห็น แม้ความจริงใจยังคงอยู่ แต่คุณต้องอาจเปลี่ยนวิธีการพูดเพื่อสะท้อนความในใจที่มีออกไป เพราะหากคุณเอาแต่พูดถึงสิ่งที่คุณต้องการจากงานนี้ แทนที่จะพยายามแสดงให้เห็นว่า บริษัทจะได้อะไรจากการจ้างคุณ ใบสมัครของคุณก็มีโอกาสจะลงไปนอนในถังขยะมากกว่าจะได้ไปต่อ
เพื่อไม่ให้พลาดงานในฝัน คุณต้องเตือนตัวเองก่อนเข้าห้องสัมภาษณ์ทุกครั้งว่า คำตอบที่ผู้สัมภาษณ์อยากได้ยินจากปากคุณคือ คุณมีศักยภาพอะไรที่จะส่งเสริม สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ หรือ ทำให้บริษัทเติบโตต่อไปได้
ขอบคุณที่มา : www.forbes.com