น.ส.กัญญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก เปิดเผยถึง ภาพรวมการส่งออกในปี 2561 นี้ โดยมองว่า การส่งออกยังคงขยายตัวได้ 5.5% หรือมีมูลค่าการส่งออกที่ประมาณ 230,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

      ถือเป็นอัตราการเติบโตต่อเนื่องจากปี 2560 ซึ่งคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตที่ประมาณ 10% ในส่วนของการประมาณการจีดีพีของประเทศไทย คาดว่าจะมีการขยายตัวที่ประมาณ 4% เปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาที่คาดว่าจะมีการขยายตัวได้ที่ 3.8-4%

      โดยในปี 2561 อุตสาหกรรมที่มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ อิเลคทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์และชิ้นส่วนประกอบโทรศัพท์ ส่วนอุตสาหกรรมที่มีความท้าทาย ได้แก่ อุตสาหกรรมภาคการเกษตร โดยเฉพาะในสินค้าการเกษตร ซึ่งจะมีการเติบโตอย่างมากในรูปแบบของปริมาณ ดังนั้นเกษตรกรควรเพิ่มคุณค่าของคุณภาพสินค้าการเกษตรในเชิงนวัตกรรม ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถเติบโตได้เป็นอย่างดี

       ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อภาคการส่งออกไทย คือ ค่าเงินบาทที่ยังผันผวนไปในทิศทางที่แข็งค่า ซึ่งอาจจะกระทบการส่งออก สวนทางกับเฟดที่มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 1-1.25% เป็น 1.25-1.5% ซึ่งจะทำให้รายได้ของผู้ประกอบการลดลง และจะส่งผลให้จีดีพีลดลง 5% นอกจากนี้ยังมีมาตรการกีดกันทางการค้าและมาตรการตอบโต้ของประเทศคู่ค้าสำคัญ ความไม่แน่นอนด้านนโยบายเศรษฐกิจและการค้าสหรัฐ สภาวะการเมืองในยุโรป สถานการณ์ความไม่แน่นอนในทางการเมืองระหว่างประเทศ ต้นทุนการส่งออกที่เพิ่มสูงขึ้น

      และ ปัญหาด้านแรงงาน ซึ่งมีผลต่อต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะในเรื่องของการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่จะเกิดขึ้นในเดือน มกราคม นี้

       อย่างไรก็ตาม สรท.มีข้อเสนอแนะ โดยมีความคิดเห็นว่า ภาครัฐต้องกำกับดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพและไม่แข็งค่ากว่าคู่แข่งสำคัญ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักภาพของบุคลากรในภาคการผลิตเพื่อให้สอดคล้องกับค่าแรงงานที่ได้รับ เร่งส่งเสริมการบุกตลาดใหม่ๆควบคู่กับการเจรจาการค้าเสรีกับประเทศคู่ค้า เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกสรองรับ อีอีซี เป็นต้น

สำหรับการส่งออกของไทยในเดือน พ.ย. ปี 2560 ที่ผ่านมา มีมูลค่า 21,435 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 13.4% ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 6 ปี เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ขระที่การส่งออกในรูแบบเงินบาทเท่ากับ 704,899 ล้านบาท ขยายตัว 7.2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้การส่งออก 11 เดือนแรก มีมูลค่า 216,953 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ เติบโต 10% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นรูปแบบเงินบาทการส่งออก 11 เดือนแรกมีมูลค่า 7,365,792 ล้านบาท เติบโต 6.6%