เจาะเทรนด์โลกปี 2561 กับ 9 อุตฯสร้างสรรค์มาแรง
เจาะเทรนด์โลกปี 2561 กับ 9 อุตฯสร้างสรรค์มาแรง
กระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในทุกปี ส่งผลกระทบโดยตรงต่อแนวโน้มพฤติกรรมผู้บริโภค ทำให้ธุรกิจจะต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ ซึ่งในปีนี้ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ได้ทำการรวบรวมข้อมูลเทรนด์ใหญ่ของโลก กระแสโลก สู่การประยุกต์ใช้จริงทางธุรกิจและในชีวิตประจำวัน เพื่อนำความรู้มาใช้ให้เป็นประโยชน์
โดยได้เจาะลึก 9 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของโลกยุคปัจจุบัน ที่สามารถสร้างมูลค่าได้มหาศาล และเป็นที่นิยมของกระแสโลก
ศิลปะและหัตถกรรม (Art & Craft)
ในปี 2557 สินค้าหมวดหมู่งานฝีมือและหัตถกรรมของประเทศไทย สร้างมูลค่าถึง 87,306 ล้านบาท เมื่อนำมาผนวกกับทิศทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทยในปัจจุบัน อุตสาหกรรมศิลปะและหัตถกรรมจะเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีความโดดเด่น โดยต้องเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มผ่านการใช้ประโยชน์จากจุดเด่นของแต่ละภูมิภาค ผสานกระบวนการผลิตแบบใหม่ ให้เข้ากับทักษะดั้งเดิม ซึ่งสามารถตอบโจทย์กระแสโลกที่ให้ความนิยมสินค้าดีไอวายได้อย่างดี
ความงามและแฟชั่น (Beauty & Fashion)
ประเทศไทยมีอุตฯความงามขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน และเป็นผู้นำในภูมิภาค ในปี 2558 มีอัตราการเติบโต 6.5% คิดเป็นมูลค่ารวม 150,000 ล้านบาท ขณะที่ในปี 2559 อุตฯแฟชั่นของประเทศไทยสร้างมูลค่าถึง 18,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยการใช้อินเทอร์เน็ต ค้นหาข้อมูล มีผลต่อการเลือกซื้อซื้อเครื่องสำอางและ แฟชั่นของผู้บริโภคอย่างมาก ตามปรากฏการณ์ วล็อกเกอร์ (Vlogger) ทั้งการรีวิว การสอนแต่งหน้า ที่มีอิทธิพล ดังนั้นการนำคำพูดหรือแนวคิดของบุคคลที่มีชื่อเสียงในปัจจุบัน มาเป็นคอนเซ็ปต์ในการออกแบบ เพื่อสะท้อนถึงตัวตนของแบรนด์
สุขภาพและความเป็นอยู่ (Health & Wellbeing)
ตลาดสินค้าและธุรกิจบริการสุขภาพของประเทศไทยมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท ประกอบกับความได้เปรียบของไทยที่เป็นผู้นำด้านบริการสุขภาพระดับโลก จากสถานพยาบาลที่ได้รับรองคุณภาพ-บริการ มาตรฐานสากล และรางวัลระดับโลกถึง 53 แห่ง
ขณะที่ธุรกิจสปาและนวด ในปี 2558 ที่ขยายตัวสูงถึง 31,000 ล้านบาท และความต้องการซื้อ-ใช้บริการและผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งจะตอบโจทย์กระแสโลกที่มีผู้คนทุกข์ทรมานจากความเครียดและวิตกกังวลเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
การขนส่งและวิวัฒนาการของเทคโนโลยีท่องอวกาศ (Transport & Space)
ในช่วง2 ปีที่ผ่านมีหลายปัจจัย ที่ทำให้หลายประเทศหันมาให้ความสนใจกับรถยนต์พลังงานทางเลือก หรือรถยนต์พลังงานสะอาดมากขึ้น แต่ในประเทศไทยนั้น ในช่วงครึ่งปีแรก 60 มีการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์กว่า 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตขึ้นจากครึ่งปีแรก 59 ถึง 12% ซึ่งหน่วยวิจัยอีไอซี คาดว่า ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 10 ปีที่รถยนต์ไฟฟ้าจะสามารถเริ่มทำตลาดในไทยได้ ดังนั้นประเทศไทยควรสร้างระบบนิเวศ พร้อมวางโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่ออุตฯรถยนต์ไฟฟ้าให้พร้อม ในขณะเดียวกันต่างประเทศกำลังให้ความสนใจกับการขนส่งอวกาศ และการขนส่งสาธารณะความเร็วสูง อย่าง ไฮเปอร์ลูป
อุตสาหกรรมค้าปลีก (Retail)
พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ร้านค้าปลีกทั่วโลกต้องปิดตัวไปจำนวนมาก โดยมูลค่าการซื้อขายออนไลน์เติบโตขึ้นมากกว่า 100% ในขณะที่ยอดซื้อสินค้าจากร้านค้าที่มีหน้าร้านเติบโตเพียง 10 % ดังนั้นร้านค้าปลีกในไทยก็ต้องเร่งปรับตัว ทั้งการสร้างประสบการณ์ร่วมระหว่างลูกค้ากับแบรนด์ หรือแม้แต่การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาอำนวยความสะดวกผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น
ท่องเที่ยว (Travel)
การท่องเที่ยวในประเทศไทย ยังคงเป็นอีกนึ่งกลไกหลักในการสร้างรายได้เข้าประเทศได้อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2561 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาแห่งประเทศไทย คาดการณ์ว่าจะมีรายได้จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวถึง 3.1 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 2.7 ล้านล้านบาทในปี 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งคาดการณ์ว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า อุตฯท่องเที่ยวจะครองสัดส่วนจีดีพีไทยถึง 14.3 % โดยการท่องเที่ยวแบบสั่งตัด (Tailor-made Travel) ที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต้องให้ความสนใจ และพร้อมให้บริการเพื่อตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะกลุ่มของนักท่องเที่ยวให้ได้มากที่สุด ยังเป็นกระแสที่มาแรงในวงการการท่องเที่ยวในปีนี้
สถาปัตยกรรมและการตกแต่ง (Architecture & Decoration)
เพื่อการเป็นเมืองแห่งอนาคตและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเมืองสีเขียว ยังคงเป็นกระแสโลกที่กำลังได้รับความสนใจ เพื่อการสร้างคุณค่าในระยะยาวที่ยั่งยืน
ซึ่งเป้นกระแสที่มาพร้อมกับการออกแบบแบบมัลติฟังก์ชั่น ให้รองรับการใช้งานอย่างหลากหลายรูปแบบ และตอบโจทย์ผู้ใช้ในทุกเพศ ทุกวัย ทุกเชื้อชาติ วัฒนธรรม
สื่อและความบันเทิง (Media & Entertainment)
ในยุคที่โซเชียลมีเดียมีผลกับคนยุคนี้อย่างมาก อุตฯสื่อ-ความบันเทิง ก็ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน โดยปี 60 มีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กถึง 76 % ของผู้ใช้สื่อทั้งหมด รองลงมาคือ อินสตาแกรม 51 %และทวิตเตอร์ 42 % โดยผู้บริโภคให้ความสนใจกับไลฟ์ทีวีและเสพข้อมูลบนหน้าจอมากขึ้น จนทำให้บทบาทสื่อและการโฆษณาที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเปลี่ยนแปลงไป เกิดสื่อรูปแบบใหม่คือโฆษณาที่ถูกปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ทางการตลาดตามสื่อดิจิทัลที่ครองโลกแห่งภาพและวิดีโอ
อาหาร (Food)
เทรนด์การรักษาสุขภาพในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีผลให้ในปี 2561 ธุรกิจอาหารที่จะเกิด ต้องเป็นอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายและจิตใจควบคู่กัน นอกจากนี้กระแสจากโลกโซเชียลมีเดียในรูปแบบ ฟู้ดเน็ทเวิร์ค (Food Network) หรือการแชร์เมนูและประสบการณ์ทำอาหารบนโลกออนไลน์ ทำให้ผู้บริโภคหันมาทำอาหารเพื่อบริโภคเองมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ขอบคุณข้อมูลจาก : ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC)