รวม 3 ปี “รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา” จัด “งบกลางปี” เพิ่ม 3.96 แสนล้าน
3 ปี 4 เดือน นับจากวันที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารก็มีฝีมือในการบริหารประเทศ ไม่ต่างจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ล่าสุด นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณคนใหม่ เตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี 2561 หรือ “งบกลางปี 61” ภายใต้กรอบวงเงิน 150,000 ล้านบาท ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ให้ที่ประชุม ครม. วันอังคารที่ 16 มกราคม 2561 อนุมัติหลักการพร้อมกับกรอบการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 (งบปกติ) วงเงิน 3,000,000 ล้านบาท
ภายหลังการประชุม 4 หน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักงบประมาณ, กระทรวงการคลัง, สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) โดยมี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เป็นประธานฯ นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ให้สัมภาษณ์ว่า สำนักงานประมาณเตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ. จัดทำงบกลางปี 61 วงเงิน 150,000 ล้านบาท ให้ที่ประชุม ครม. พิจารณาอนุมัติในวันอังคารที่ 16 มกราคมนี้ สำหรับแหล่งเงินหรือรายได้ที่นำมาใช้ในการจัดทำ “งบกลางปี 61” มี 2 ส่วน คือ
1. กระทรวงการคลัง คาดการณ์ว่ากรมสรรพากรจะเก็บรายได้ในปีนี้สูงกว่าเป้าหมาย 50,000 ล้านบาท
2. สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะออกพันธบัตรกู้เงิน 100,000 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะนำรายได้ของกรมสรรพากรในส่วนที่เกินจากเป้าหมายนี้ไปใช้ชดเชยเงินคงคลัง ซึ่งรัฐบาลเบิกมาจ่ายค่าเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ และค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ
ส่วนเงินกู้ 100,000 ล้านบาท เตรียมไว้ใช้จ่ายในโครงการสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อผู้มีรายได้น้อย, โครงการปฏิรูปภาคการเกษตร และโครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชน เชื่อมโยงกับภูมิภาคและประเทศเพื่อนบ้าน
นายเดชาภิวัฒน์กล่าวว่า สำหรับกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายปี 2562 ที่ประชุมร่วม 4 หน่วยงานกำหนดกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายปีนี้ไว้ที่ 3,000,000 ล้านบาท กระทรวงการคลังคาดการณ์ว่าปีนี้รัฐบาลจะมีรายได้ 2,550,000 ล้านบาท จึงมียอดขาดดุลอยู่ที่ 450,000 ล้านบาท ภายใต้สมมติฐาน เศรษฐกิจปี 2562 ขยายตัว 4% ต่อปี โครงสร้างงบประมาณรายจ่าย ประกอบไปด้วยงบประจำคิดเป็นสัดส่วน 75-76% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายรวม มีงบลงทุนประมาณ 600,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนอยู่ที่ 21% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายรวม ที่เหลือเป็นงบฯ ชำระต้นเงินกู้และดอกเบี้ยประมาณ 70,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 3-4% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายรวม
“งบประมาณรายจ่ายในปีนี้จะมุ่งเน้นไปที่การปฏิรูปเศรษฐกิจ การศึกษา สาธารณสุข สังคมและสิ่งแวดล้อม ลดความเหลื่อมล้ำ สนับสนุนเศรษฐกิจฐานราก โดยเพิ่มสัดส่วนงบอุดหนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีสัดส่วนอยู่ที่ 29.5% ของวงเงินงบประมาณรายจ่าย รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รองรับเศรษฐกิจดิจิตอล โดยงบลงทุนส่วนใหญ่จะสนับสนุนโครงการลงทุนขนาดใหญ่บริเวณระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ตามปฏิทินงบประมาณจะเปิดให้ส่วนราชการยื่นขอวงเงินงบประมาณสนับสนุนโครงการต่างๆ ภายในวันที่ 25 มกราคมนี้ ขณะนี้มีส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจทำเรื่องของบประมาณสนับสนุนมาแล้วคิดเป็นวงเงินกว่า 5 ล้านล้านบาท” นายเดชาภิวัฒน์กล่าว
ด้านนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การจัดทำงบกลางปี 61 ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเงินไปใช้ในโครงการสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อผู้มีรายได้น้อย เฟสที่ 2 วงเงิน 35,000 ล้านบาท ใช้ปฏิรูปภาคการเกษตร วงเงิน 40,000 ล้านบาท ผ่านโครงการแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ชดเชยการตัดต้นยางพารา ลดพื้นที่การเพาะปลูกยาง 10-20% ส่วนที่เหลือนำไปใช้ในโครงการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก สนับสนุนการท่องเที่ยวระดับชุมชน 20,000 ล้านบาท และจัดสรรงบให้กองทุนหมู่บ้านอีก 10,000 ล้านบาท
อนึ่ง ในสมัยรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมจากงบปกติ 3 ครั้ง คิดเป็นวงเงินรวมทั้งสิ้น 396,000 ล้านบาท ครั้งแรกเริ่มในปีงบประมาณ 2559 เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากปัญหาความไม่สงบทางการเมือง รัฐบาลจึงมีความจำเป็นต้องจัดทำงบเพิ่มเติมเพื่ออัดฉีดเงินเข้าไปกระตุ้นเศรษฐกิจ บังเอิญในปีนี้รัฐบาลมีรายได้จากการประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ และย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์นำส่งกระทรวงการคลัง 56,290 ล้านบาท รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงนำรายได้ส่วนนี้มาจัดทำเป็นงบกลางปี 2559 วงเงิน 56,000 ล้านบาท โดยงบประมาณที่เพิ่มขึ้นรัฐบาลนำไปใช้จ่ายในโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ 15,000 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายเสริมสร้างความเข้มแข็งและก้าวหน้าของประเทศตามแนวทางปฏิรูป 32,661 ล้านบาท และรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 8,339 ล้านบาท
ผลจากการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลผ่านงบกลางปี 2559 แจกเงินคนจน เร่งเบิกจ่ายงบประมาณ เพิ่มค่าลดหย่อนภาษีท่องเที่ยว ช็อปช่วยชาติ ขณะนั้นกระทรวงการคลังคาดการณ์ว่ากรมสรรพากรจะเก็บภาษีสูงกว่าเป้าหมายไม่ต่ำกว่า 27,000 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2560 รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จึงตัดสินใจจัดทำงบกลางปี 2560 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 วงเงิน 190,000 ล้านบาท โดยให้กระทรวงการคลังออกพันธบัตรออมทรัพย์กู้เงินจากประชาชนวงเงิน 160,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือมาจากกรมสรรพากรเก็บภาษีสูงกว่าเป้าหมาย
ครั้งที่ 3 ก่อนเปิดให้มีการเลือกตั้งตามโรดแมป สำนักงบประมาณเตรียมเสนอรัฐบาลตั้งงบกลางปี 2561 วงเงิน 150,000 ล้านบาท อัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบอีกครั้ง
หมายเหตุ : ภาพประกอบบทความ บางภาพไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อหาแต่อย่างใด
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : www.thaipublica.org