“ปฏิรูป” ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับประวัติศาสตร์การเมืองไทย เพราะนับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ปฏิรูปกลายเป็นวาทกรรมที่ถูกหยิบยกมาเป็นข้ออ้างของฝ่ายผู้มีอำนาจเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเอง และสร้างความสมัครสมานสามัคคีของคนในชาติให้หลอมรวมกันเป็นหนึ่งเดียวเพื่อฟันฝ่าอุปสรรคตรงหน้า เพื่อก้าวผ่านวังวนปัญหาที่ฉุดรั้งไม่ให้ประเทศเดินไปข้างหน้า

ยังไม่รวมกับการใช้ประเด็นเรื่องปฏิรูปเป็นข้ออ้างในการเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาล หรือข้ออ้างนำมาสู่การรัฐประหารที่ผ่านมา

หากมองย้อนไปในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาจะพบการปฏิรูปโดยเฉพาะการปฏิรูปการเมืองที่ชัดเจนเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2535 รัฐบาลนายชวน หลีกภัย ซึ่งมี นายมารุต บุนนาค จากพรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธานรัฐสภา ได้มีคำสั่งสภาผู้แทนราษฎรแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย (คพป.) ยกร่างข้อเสนอเพื่อปฏิรูปการเมืองโดยมีศาสตราจารย์ นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธาน

ข้อเสนอการปฏิรูปมี 4 ข้อสำคัญ คือ

          1) สามารถแก้ไขปัญหาของการเมืองทั้งระบบได้ ไม่ใช่แค่จุดใดจุดหนึ่ง
          2) ต้องปฏิรูประบบการเมืองโดยขจัดการทุจริตทุกรูปแบบ สร้างเสถียรภาพทางการเมืองและส่งเสริมประสิทธิภาพขององค์กรทางการเมือง
          3) การยกร่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญให้เป็นการปฏิรูปการเมือง ต้องทำให้แล้วเสร็จในคราวเดียวกัน และ
          4) การปฏิรูปการเมืองดังกล่าว ยึดระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเป็นกรอบหลัก โดยมุ่งปรับปรุงระบบรัฐสภาแบบล้าสมัยให้เป็นระบบรัฐสภาแบบทันสมัยและมีเหตุผล


ต่อมาสมัยรัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา ได้แก้รัฐธรรมนูญมาตรา 211 เพื่อปฏิรูปการเมือง และได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 118/2538 แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการเมือง (คปก.) เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2538 โดยแต่งตั้งนายชุมพล ศิลปอาชา เป็นประธาน ขับเคลื่อนนโยบายสำคัญในการปฏิรูปการเมืองไทย จนเป็นที่มาของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2540 ฉบับประชาชน

การพิจารณาปฏิรูปการเมืองได้กำหนดเป็นแนวทางการปฏิรูปการเมืองเร่งด่วน 6 ประการ ดังนี้

        1) จัดทำแผนพัฒนาการเมือง และมีสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเมืองขึ้นมาดำเนินการตามแผนพัฒนาการเมือง
        2) ปฏิรูปการจัดทำและแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้ประชาชนมีส่วนร่วม
        3) ปฏิรูประบบราชการและระบบตรวจสอบการทุจริตและประพฤติมิชอบของนักการเมือง ข้าราชการ พนักงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ เช่น ระบบตรวจสอบการทุจริตและประพฤติมิชอบของผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ตรวจการรัฐสภา ระบบตรวจสอบเงินแผ่นดิน ศาลคดีการเมือง พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสาร
        4) ปฏิรูประบบพรรคการเมือง ให้เป็นพรรคของมวลชนและมีการดำเนินการที่เป็นประชาธิปไตย
        5) ปฏิรูประบบเลือกตั้ง และให้มีองค์การควบคุมการเลือกตั้งทุกระดับ และ
        6) ปฏิรูปการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ออกกฎหมายว่าด้วยประชาพิจารณ์ในนโยบายสาธารณะที่สำคัญ ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนและชุมชนสามารถรวมกลุ่มเพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของตน ของสังคม และของประเทศ โดยให้หน่วยงานของรัฐยอมรับและพิจารณาความคิดเห็นด้วย

สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งมีนายชัย ชิดชอบ เป็นประธานรัฐสภา ได้ลงนามคำสั่งรัฐสภาที่ 17/2552 ลงวันที่ 1 พ.ค. 2552 แต่งตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จำนวน 39 คน มีนายดิเรก ถึงฝั่ง เป็นประธานคณะกรรมการฯ ทำหน้าที่ศึกษาและแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่ความปรองดองของประเทศ คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ และการนำรัฐธรรมนูญไปใช้ในทางปฏิบัติแล้วมี

สมัยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการประชุม “เดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย พัฒนาประชาธิปไตยและประเทศร่วมกัน” ครั้งแรก เมื่อวันที่ ส.ค. 2556 วางเป้าหมายการปฏิรูป คือ

          1) การทำให้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมีความมั่นคงแข็งแรง
          2) ต้องมีความเท่าเทียม เสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำ
          3) มีกลไกการทำงานที่โปร่งใสตรวจสอบได้ตามหลักธรรมาภิบาลที่ดี
          4) สร้างกระบวนการให้เกิดความยุติธรรม ความเสมอภาคเท่าเทียมในสิทธิขั้นพื้นฐาน ตามหลักนิติรัฐ นิติธรรม
          5) มีประชาธิปไตยที่ผ่านการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ยึดเสียงส่วนใหญ่ รับฟังเสียงส่วนน้อย
          6) สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและบรรยากาศที่ดีของการไว้วางใจกัน และ
          7) ยึดผลประโยชน์ส่วนรวมบนความถูกต้อง

จนมาถึงรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีพระบรมราชโองการ ลงวันที่ 2 ต.ค. 2557 โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติจำนวน 250 คน มี นายเทียนฉาย กีระนันทน์ เป็นประธาน ซึ่งมีหน้าที่ศึกษาและเสนอแนะเพื่อให้เกิดการปฏิรูปในด้านต่างๆ ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม การปกครองท้องถิ่น การศึกษา เศรษฐกิจ พลังงาน สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม สื่อมวลชน สังคม และอื่นๆ

ทั้งนี้ เพื่อให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมีความเหมาะสมกับสภาพสังคมไทย มีระบบการเลือกตั้งที่สุจริตและเป็นธรรม มีกลไกป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบที่มีประสิทธิภาพ ขจัดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทำให้กลไกของรัฐสามารถให้บริการประชาชนได้อย่างทั่วถึง สะดวก รวดเร็ว และมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและเป็นธรรม จากกรอบเวลาการทำงาน ตั้งแต่ 6 ต.ค. 2557 – 6 ก.ย. 2558 สปช. ได้ข้อสรุปเป็นวาระการปฏิรูป 37 ประเด็น และ 6 วาระพัฒนา

ต่อเนื่องด้วย สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) 200 คนที่ตั้งขึ้นมารับไม้ต่อจาก สปช. หลังจากทำงานตั้งแต่วันที่ 13 ต.ค. 2558 – 3 ส.ค. 2560 สปท. ซึ่งมี ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ เป็นประธาน ได้ทำหน้าที่เสนอความเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อให้เกิดการปฏิรูปต่างๆ ต่อ นายกรัฐมนตรี จำนวน 188 เรื่อง โดยนำไปสู่การผลักดันให้เป็นผลงานที่เป็นรูปธรรมแล้ว 27 เรื่อง เช่น การจัดตั้งศาลทุจริตและประพฤติมิชอบ การปฏิรูปข้อกำหนดเกี่ยวความผิดทางคอมพิวเตอร์

ตามมาติดๆ กับคณะกรรมการบริหารราชแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ที่ใช้อำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 ตั้งขึ้นมาเมื่อเดือน ม.ค. 2560 โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อนำข้อเสนอจาก สปช. และ สปท. ตลอดจนภาคส่วนต่างๆ มาพิจารณาอย่างเป็นระบบ กลั่นกรอง จัดลำดับความสำคัญและความเป็นไป

จนสุดท้ายมาถึงกลไกขับเคลื่อนการปฏิรูปล่าสุดกับ “คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ” ซึ่งจะเป็นไม้สุดท้ายกับการผลักดันการปฏิรูปในยกนี้ให้เดินหน้าไปสู่การปฏิบัติ ท่ามกลางความหวังไม่ต่างจากคณะกรรมการปฏิรูปชุดอื่นๆ ในอดีต

คณะกรรมการปฏิรูป ไม้สุดท้าย ยุค คสช.

      เส้นทาง “ปฏิรูป” เดินหน้ามาถึงหมุดหมายสำคัญกับ “ความหวังสุดท้าย” ที่ต้องฝากไว้กับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นเพียง “เหล้าเก่า” ใน “ขวดใหม่”

ส่วนหนึ่งเพราะจาก 120 รายชื่อคณะกรรมการ เกินครึ่งล้วนแต่เป็นบุคคลที่เคยรับหน้าที่สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) บางส่วนอยู่ในคณะกรรมการบริหารราชแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ซึ่งจะทำหน้าที่นำข้อเสนอจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ บางส่วนเป็นมือไม้คนใกล้ชิดแกนนำในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

เมื่อลองมองย้อนไปดู “ผลงาน” และ “ทิศทาง” การทำงานในชั้น สปช. และ สปท. ทำให้หลายฝ่ายเริ่มกังขาว่าคณะกรรมการชุดนี้จะสามารถผลักดันการปฏิรูปให้ออกมาเป็นรูปเป็นร่างได้อย่างที่สังคมคาดหวังหรือไม่

เริ่มตั้งแต่ในแง่ตัวบุคคล ที่พบว่าจาก 120 คนนั้น 51 คนมาจากบุคคลที่เคยรับตำแหน่งใน สปช. และ สปท. จนห่วงว่าสุดท้ายแล้วผลงานของคณะกรรมการปฏิรูปจะมีอะไรที่แตกต่างหรือชัดเจนเป็นรูปเป็นร่างมากกว่าที่ทำในสมัย สปช. และ สปท. หรือไม่

เจาะจงดูไปที่คณะสำคัญอย่างคณะกรรมการปฏิรูปด้านการเมือง พบว่า 7 คนจาก 3 คนเคยนั่งเป็น สปช. หรือ สปท. ไล่มาตั้งแต่ตำแหน่งประธาน อย่าง ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ อดีต สปช.และกมธ.ยกร่าง นายพรชัย ตระกูลวรานนท์ อดีต สปท. ดร.วรรณธรรม กาญจนสุวรรณ อดีต สปท. พล.อ. ฐิติวัจน์ กำลังเอก อดีตทั้ง สปช. และ สปท. พล.ต.ท.ตรีทศ รณฤทธิวิชัย อดีต สปท. นางนรรัตน์ พิมเสน อดีต สปท. และนายวันชัย สอนศิริ อดีต สปท.

โดยคณะปฏิรูปที่มีสมาชิกเป็นอดีต สปช. หรือ สปท. มากที่สุด 9 คนจาก 13 คน คือ คณะปฏิรูปด้านสังคม ที่มีนายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา อดีต สปท. ประธานกรรมการ รวมทั้ง สปท. คนอื่นเป็นกรรมการ ได้แก่ นพ.อำพล จินดาวัฒนะ ม.ร.ว.จักรรถ จิตรพงศ์ นายต่อพงศ์ เสลานนท์ นายวิเชียร ชลวิต นายอโณทัย ฤทธิปัญญาวงศ์ นายสมเดช นิลพันธุ์ นายสุรินทร์ จิรวิศิษฎ์ อดีต สปท. และมีอดีต สปช. หนึ่งคนคือ นายวินัย ดะห์ลัน

ในส่วนของอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดําเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2560 กำหนดกรอบเป้าหมายการปฏิรูปที่ต้องเร่งดำเนินกการ คือ

          1. พาประเทศไปสู่ความสงบเรียบร้อย สามัคคีปรองดอง พัฒนาอย่างยั่งยืนตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง และมีความสมดุลระหว่างการพัฒนาด้านวัตถุกับการพัฒนาด้านจิตใจ

 

          2. สังคมมีความสงบสุข เป็นธรรม และมีโอกาสอันทัดเทียมกันเพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำ

 

        3. ประชาชนมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ที่สำคัญ การปฏิรูปประเทศต้องสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกับยุทธศาสตร์ชาติ

จากปัญหาที่ผ่านมาในชั้น สปช. และ สปท. ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าทำได้แค่เพียงเสนอข้อมูลแต่ไม่อาจมีอำนาจผลักดันไปสู่การปฏิบัติได้จริง ครั้งนี้คณะกรรมการปฏิรูปแต่ละด้านจึงถูกล็อdด้วยกฎหมายให้ต้องทำ “แผนการปฏิรูป” ที่ต้องมีแผน ขั้นตอน วิธีการดำเนินการ และผลอันพึงประสงค์ รวมทั้งต้องกำหนดระยะเวลาดำเนินการในแต่ละขั้นตอนตามลําดับ และมีตัวชี้วัดผลการดําเนินการปฏิรูปประเทศในแต่ละด้าน

อีกทั้งจะต้องกําหนดหน่วยงานของรัฐหรือบุคคลที่รับผิดชอบการดําเนินการ วงเงินที่คาดว่าจะใช้ในการดําเนินการปฏิรูปประเทศในแต่ละด้านหรือแต่ละเรื่อง รวมทั้งประมาณการของแหล่งที่มาของเงิน ไปจนถึงผลสัมฤทธิ์ในการดําเนินการปฏิรูปประเทศที่คาดหวังว่าจะบรรลุภายในระยะเวลา 5 ปี ซึ่งจะเพิ่มความชัดเจนและเป็นไปได้ให้กับการปฏิรูปมากยิ่งขึ้น

      ที่สำคัญ เพื่อความรวดเร็วต่างจากที่ผ่านมา ทำให้ครั้งนี้มีการกำหนดกรอบการทำงานที่ชัดเจนร่วม 7 เดือน เริ่มตั้งแต่ให้ที่ประชุมร่วมกันของประธานกรรมการปฏิรูปทุกคณะกําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจัดทําร่างแผนการปฏิรูปประเทศให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปตาม แล้วเสนอคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบภายใน 15 วัน

จากนั้น ให้คณะกรรมการปฏิรูปจัดทําร่างแผนการปฏิรูปประเทศในด้านที่รับผิดชอบให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน และให้ที่ประชุมร่วมพิจารณาให้ความเห็นชอบภายใน 30 วัน ก่อนเสนอคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเพื่อพิจารณาความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทภายในกรอบ 30 วัน ซึ่งจะต้องนำร่างแผนการปฏิรูปประเทศที่ผ่านการพิจารณาแล้วส่งไปยัง ครม. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบภายใน 30 วัน เพื่อนำไปจัดทําแผนการปฏิรูปประเทศ

แต่สุดท้าย อำนาจหน้าที่กรรมการปฏิรูปประเทศซึ่งจะมีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปีนั้นก็ยังเป็นเพียงแค่ผู้กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการรายละเอียดการปฏิรูป ติดตามการตรวจสอบและการประเมินผลการดําเนินการ รวมทั้งเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเพื่อเสนอแนะต่อรัฐสภา ครม. หรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องในเรื่องเกี่ยวกับการดําเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ

สุดท้ายอำนาจการตัดสินใจหรือขับเคลื่อนที่แท้จริง ยังอยู่ที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและ ครม. ไม่ต่างจาก สปช. และ สปท. ที่ทำหน้าที่เพียงแค่พิจารณาศึกษาและสรุปผลงานแล้วเสนอไปยังนายกรัฐมนตรี แต่ผ่านมา 3 ปี แทบไม่เห็นการขยับที่นำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

เมื่อไม่มีผลงานที่จับต้องได้ คำถามจึงเริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ ว่า รัฐบาล คสช. ให้ความสำคัญกับการปฏิรูปอย่างที่ประกาศไว้มากน้อยแค่ไหน ในช่วงเวลาไม่กี่เดือนที่เหลืออยู่นี้

ทั้งหมดจึงต้องมาลุ้นกันที่ผลงานของคณะกรรมการปฏิรูป ซึ่งถือเป็นไม้สุดท้ายหลังภารกิจปฏิรูปที่ถูกส่งไม้ต่อมาตามลำดับจาก สปช. และ สปท. ว่าจะพาไปถึงจุดหมายปลายทางได้อย่างที่ตั้งใจ อันจะเป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่าการรัฐประหารรอบนี้ไม่เสียของจริงหรือไม่?

 

หมายเหตุ : ภาพประกอบบทความ บางภาพไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อหาแต่อย่างใด 
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : www.thaipublica.org ย้อนรอย 25 ปี เส้นทาง ปฏิรูป สารพัดคณะกรรมการ กับความพยายามที่ไม่ถึงฝั่งฝัน