ล้มถ่านหินใต้บิ๊กไฟฟ้าเอกชนลุ้นตั้งในอีอีซี
“ศิริ” ล้มก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้ เบนเข็มให้ไปตั้งในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคตะวันออกแทน เปิดเอกชนเข้าแข่งขัน เข้าทาง “เอ็กโก-บีแอลซีพี-กัลฟ์” มีพื้นที่รองรับพร้อมแล้ว ขณะที่ “พรชัย” หนุนใช้ก๊าซแล้วค่าไฟต้องไม่แพง
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า จากที่มอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไปทบทวนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าภาคใต้ โดยไม่ระบุเชื้อเพลิงนั้น คาดว่าจะทราบผลภายใน 2 สัปดาห์นี้ ซึ่งการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ยอมรับว่า ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (พีดีพี) จำเป็นต้องมีการกระจายเชื้อเพลิง ทั้งก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน แต่ก็มีหลายมุมมอง เช่น ความเชื่อว่าในระยะยาวถ่านหินจะมีต้นทุนที่ถูกลง หากมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินในระดับที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการขาดแคลน หากเกิดกรณีแอลเอ็นจีมีปัญหา หรือเกิดสงครามก็ยังมีถ่านหิน จึงไม่พึ่งพาก๊าซในการผลิตไฟฟ้ามากจนเกินไป
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
ทั้งนี้ การก่อสร้างโรงไฟฟ้าภาคใต้ ไม่จำเป็นที่โรงไฟฟ้าถ่านหินจะต้องอยู่ในพื้นที่ภาคใต้เท่านั้น แต่อาจจะเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติหรือแอลเอ็นจีแทน ส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหินอาจอยู่ในพื้นที่จังหวัดระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี) เป็นต้น โดยอาจจะเปิดให้เอกชนและกฟผ.เข้ามาประมูลแข่งขันกันได้
ขณะที่สัดส่วนเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าตามแผนพีดีพีฉบับใหม่ จะเป็นเท่าไรนั้น ยังไม่สามารถระบุได้ เนื่องจากต้องรอความชัดเจนแผนพีดีพีออกมาก่อน แต่สิ่งสำคัญคือ จะเป็นไปได้หรือไม่ที่ค่าไฟในอนาคตจะไม่แพงเกินไป เมื่อเทียบกับแผนเดิมอยู่ที่ 5.5 บาทต่อหน่วย
ส่วนการส่งเสริมด้านพลังงานทดแทนนั้น เห็นว่า ควรยกเลิกระบบโควตาประเภทเชื้อเพลิง เพราะปัจจุบันทางกระทรวงพลังงานจะกำหนดเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าของแต่ละประเภทพลังงานทดแทนไว้ ซึ่งหากเกิดการแข่งขันมากขึ้นจะทำให้ต้นทุนถูกลง เห็นจากกรณีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เปิดประมูลรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการ SPP Hybrid Firm จำนวน 300 เมกะวัตต์ ได้ราคาค่าไฟที่ถูกลงอย่างมาก โดยราคาขายไฟฟ้าลดได้ถึง 99.99% อยู่ที่ระดับ 1.80-3 บาทต่อหน่วย ถูกกว่าค่าไฟฟ้าเฉลี่ยของประเทศอยู่ประมาณ 3.5 บาทต่อหน่วย
“การส่งเสริมพลังงานทดแทนหากตามที่นายกฯ ระบุว่าต้องการให้วัดส่วนเพิ่มถึง 40% นั้น หากสามารถทำได้กระทรวงพลังงานก็พร้อมสนับสนุน แต่ต้องไม่กระทบต่อค่าไฟฟ้า หากมีการแข่งขัน ยกเลิกระบบโควตาได้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะเดินไปข้างหน้า สิ่งสำคัญคือจะทำอย่างไรให้ค่าไฟฟ้าถูกลง”
นายพรชัย รุจิประภา ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน กล่าวว่า คณะกรรมการจะหารือกับทาง สนพ.ในการกระจายเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าตามแผนพีดีพีฉบับใหม่ เพราะไม่ได้กังวลว่าจะต้องเป็นเชื้อเพลิงก๊าซฯหรือถ่านหิน แต่จะเป็นเชื้อเพลิงใดก็ได้ ที่จะเป็นประโยชน์กับประเทศ ขณะที่กระแสข่าวท่าทีของ รมว.พลังงานคนใหม่ ที่มีมุมมองเชื้อเพลิงแอลเอ็นจีมากกว่าถ่านหิน ซึ่งปัจจุบันการขนส่งก็คล้ายกับถ่านหิน เทียบกับเมื่อก่อนที่ต้องส่งผ่านทางท่อเท่านั้น อย่างไรก็ตาม หากเป็นก๊าซแอลเอ็นจี จะต้องมั่นใจต้นทุนค่าไฟฟ้าไม่แพงขึ้น เพราะหากราคาแอลเอ็นจีปรับขึ้น 1 ดอลลาร์ จะกระทบค่าไฟ 20 สตางค์ต่อหน่วย
“จะมีการหารือกับทาง สนพ. ควบคู่กับการศึกษาความเหมาะสมของเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งเรามีนโยบายชัดเจนว่าต้องการลดก๊าซที่ผ่านทางท่อ แต่เมื่อสภาพเปลี่ยนไป พีดีพีก็ควรปรับใหม่ให้มีความเหมาะสม เพราะข้อดีและข้อด้อยของแอลเอ็นจี-ถ่านหินก็มีต่างกัน ส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหินจะสร้างที่ไหน เรื่องดังกล่าวจะหารือกับทาง สนพ.ต่อไป
นายระวิ คอศิริ กรรมการ บริษัท บีแอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด เปิดเผยว่า โรงไฟฟ้าบีแอลซีพีมีความพร้อมหากภาครัฐเปิดประมูลรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ในพื้นที่จังหวัดระยอง เพราะยังมีพื้นที่สามารถขยายเฟส 2 ได้อีก 1 พันเมกะวัตต์ และได้ผ่านการอนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) แล้ว
โดยในส่วนของต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินนั้น สามารถแข่งขันกับก๊าซแอลเอ็นจีได้อย่างแน่นอน เนื่องจากการจัดหาแอลเอ็นจียังมีระยะทางขนส่งไกล และต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอนกว่าจะนำมาใช้ในโรงไฟฟ้า ส่วนกรณีแหล่งแอลเอ็นจีจำนวนมากขึ้นสามารถจัดหาง่ายขึ้นนั้น ปัจจุบันการจัดหาถ่านหินก็มีหลายแหล่งเช่นกันและยังมีปริมาณสำรองทั่วโลกจำนวนมาก
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า นอกจากโรงไฟฟ้าบีแอลซีพีมีความพร้อมการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแล้ว ยังมีพื้นที่อื่นที่มีศักยภาพในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ได้อีก เช่น พื้นที่ตั้งเดิมโรงไฟฟ้าระยอง ของ บมจ. ผลิตไฟฟ้า หรือ เอ็กโก และในพื้นที่อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา ของกลุ่มบริษัท กัลฟ์ฯเป็นต้น