เป้าหมายของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ คือ การทำให้ประชาชนมีมาตรฐานในการดำรงชีวิตที่ดีมีความกินดีอยู่ดี และมีความสุข ในทางเศรษฐศาสตร์นั้นตัวชี้วัดของทั้ง 3 ปัจจัยนี้วัดได้จาก ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติต่อหัวของประชากร (GDP per Capita) โดยมีสมมติฐานว่าเมื่อประชาชนมีรายได้ระดับหนึ่ง ก็จะสามารถเข้าถึงปัจจัย 4 ได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค และเมื่อประชากรมีรายได้ที่สูงขึ้น ก็จะสามารถซื้อสินค้าเพื่ออุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น เป็นการลดข้อจำกัดทางด้านรายได้ซึ่งทำให้สามารถประกอบกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความสุขได้มากขึ้น ดังนั้น GDP จึงเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยสะท้อนสภาวะเศรษฐกิจและมาตรฐานชีวิตของประชากรในประเทศได้ค่อนข้างดี

สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจของไทย

ในปี 2560 ตัวเลข GDP ของประเทศไทยในไตรมาสที่สามมีการขยายตัวถึง 4.3 % เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2559 ซึ่งอัตราการเติบโตของ GDP ในระดับนี้เป็นอัตราที่ค่อนข้างน่าจับตามอง เพราะอัตราการเติบโต GDP รายปีของประเทศไทยนั้นเฉลี่ยอยู่ที่ 3.69% นับตั้งแต่ปี 2537 ถึงปัจจุบัน ระดับการเติบโตนี้จึงเป็นระดับที่เหนือความคาดหมายของนักวิเคราะห์ต่าง ๆ และมีโอกาสจะทำให้อัตราการเติบโต GDP รายปีของปี 2560 นั้นพุ่งขึ้นไปสูงเหนือค่าเฉลี่ยในรอบ 20 ปี หากตัวเลขในไตรมาสที่สี่ออกมาดี นอกจากนี้ยังถือเป็นระดับการเติบโตรายไตรมาสที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2556 โดยมีแรงสนับสนุนหลักมาจาก การบริโภคภาคเอกชน การใช้จ่ายของภาครัฐ การลงทุนของภาครัฐ และการส่งออกที่เพิ่มขึ้น

การเติบโตสำคัญที่ช่วยหนุน GDP

Private Consumption

ในไตรมาสที่สามของปี 2560 นั้น การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวถึง 3.1% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 3.0% ในไตรมาสก่อนหน้า สาเหตุหลักมาจากการขยายตัวของรายได้ด้านอื่นซึ่งมาชดเชยภาคการการเกษตร เช่น ด้านการท่องเที่ยว ซึ่งตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยนั้นเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยใน 11 เดือนแรกของปี 2560 ก็มีจำนวนนักท่องเที่ยวถึง 31.74 ล้านคนแล้ว เมื่อเปรียบเทียบกับตัวเลขนักท่องเที่ยวในปี 2559 คือ 29.88 ล้านคน หากนำข้อมูลตัวเลขในเดือนธันวาคมซึ่งยังไม่ออกมาอย่างเป็นทางการรวมเข้าไปด้วย น่าจะเห็นได้ว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นถึง 20% ส่งผลให้เกิดการสร้างรายได้กระจายสู่ภูมิภาคต่างๆของประเทศ

 Public Consumption and Investment

การใช้จ่ายของภาครัฐมีการขยายตัว 2.8% ซึ่งเกิดจากการเร่งดำเนินกาเบิกจ่ายการก่อสร้างระบบจัดการน้ำ แหล่งน้ำ และโครงการระบบขนส่งทางด่วน ในส่วนของการลงทุนภาครัฐนั้นถึงแม้จะเห็นตัวเลขการเติบโตในไตรมาสที่สองและสามติดลบ แต่ความเป็นจริงตัวเลขการลงทุนก็ยังอยู่ในระดับที่สูง เนื่องจากในปี 2558 การลงทุนภาครัฐมีการเติบโตถึง 29.3% เนื่องมาจากการเร่งดำเนินยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง

Exports of Goods and Services

            การส่งออกถือเป็นส่วนสำคัญที่มีสัดส่วนค่อนข้างมากในผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้งหมดของประเทศ ตัวเลขการส่งออกสินค้าและบริการของไทยนั้นเพิ่มขึ้นถึง 7.4% ในไตรมาสมราสามของปี 2560 ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่ค่อนข้างสูงในรอบหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมในโลก ทำให้เกิดความต้องการสินค้าในการบริโภคและผลิตที่มากขึ้น สินค้าส่งออกส่วนใหญ่ของไทยประกอบด้วย สินค้าสำหรับการผลิต อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักร และสินค้าเกษตร ซึ่งส่วนใหญ่คือข้าวและยางประเทศคู่ค้าหลัก ได้แก่ จีน (12%) ญี่ปุ่น (10%) สหรัฐ (10%) และสหภาพยุโรป (9.5%)

ภาวะอุตสาหกรรมที่ดีขึ้นในปี 2560

ยานยนต์         

ปริมาณการผลิตรถยนต์เพิ่มมากขึ้น จากการขยายตัวของตลาดส่งออกในประเทศแถบโอเชียเนีย แอฟริกา และอเมริกาเหนือ ประกอบกับการที่ตลาดในประเทศก็มีการขยายตัวจากการลงทุนภาคเอกชนที่ฟื้นตัว และการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาล

อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

            ปริมาณการผลิตสินค้าในกลุ่มนี้มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้ง semiconductor, IC, HDD และ PCBAเป็นผลมาจากความต้องการต่อสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของโลกที่เพิ่มมากขึ้น ปริมาณการส่งออกสินค้าในกลุ่มนั้นเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะการส่งออกสู่ประเทศคู่ค้าหลักของไทย

เซรามิค

            ความต้องการสินค้าในกลุ่มขยายตัวเพิ่มขึ้นจากกำลังซื้อของตลาดระดับบนที่ต้องการสินค้าคุณภาพและมีความสวยงามของตัวผลิตภัณฑ์ สินค้าในกลุ่มมีปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก โดยเฉพาะกลุ่มของชำร่วยและเครื่องประดับ

รองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง

            การผลิตรองเท้ามีการขยายตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันมาประมาณสองไตรมาส ซึ่งเป็นผลมาจากความต้องการซื้อจากทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะรองเท้าหนังซึ่งมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยจะเน้นส่งออกไปที่ สหรัฐ เดนมาร์ก และจีน

อัญมณีและเครื่องประดับ

            ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นเนื่องจาก มีการผลิตสินค้าเพื่อทดแทนสต๊อกสินค้าเดิมของผู้ประกอบการ และการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ สินค้าส่งออกที่สำคัญได้แก่ พลอย และ เครื่องเงิน

ผลกระทบทางบวกต่อประเทศ

ความไม่เสมอภาคที่ลดน้อยลง - เมื่อเศรษฐกิจของประเทศมีการเติบเพิ่มขึ้น สภาวะความไม่เสมอภาคของคนในประเทศก็จะลดน้อยลงด้วยเช่นกัน จำนวนประชากรที่ได้รับประโยชน์จากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ เป็นไปไปในทิศทางเดียวกันกับอัตราการเติบโต GDP ของประเทศ เห็นได้จากค่าสัมประสิทธิ์จีนี่ที่วัดความเหลื่อมล้ำทางการบริโภคในประเทศไทยลดต่ำลงในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา จาก 43.5% ในปี 2537 เป็น 37.8% ในปี 2556


มาตรฐานชีวิตที่เพิ่มขึ้น -  เศรษฐกิจที่เติบโตของประเทศส่งผลให้ประชากรส่วนมากมีรายได้เพิ่มขึ้น เนื่องมาจากความต้องการแรงงานในภาคส่วนต่าง ๆที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งเมื่อภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆมีการเจริญเติบโต ก็จะมีความต้องการแรงงานมีฝีมือเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ระดับรายได้ของแรงงานมีระดับเพิ่มขึ้นและอัตราการว่างงานลดต่ำลงด้วยเช่นกัน

การลงทุนจากต่างชาติที่เพิ่มขึ้น - สภาวะเศรษฐกิจและข้อมูลตัวเลขเศรษฐกิจที่ดี ช่วยส่งเสริมความมั่นใจให้กับนักลงทุนชาวต่างชาติที่ต้องการเข้ามาลงทุนในประเทศ โดยเฉพาะเมื่อตัวเลขการเติบโตรายปีของ GDP ปี 2560 มีโอกาสที่จะออกมาเกิน 4% ยิ่งเป็นสิ่งที่จะช่วยเน้นย้ำความสามารถในการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งประโยชน์ที่จะเกิดกับประเทศมีทั้ง ทำให้เกิดการจ้างงานในประเทศที่เพิ่มขึ้น การแข่งขันทางธุรกิจที่นำไปสู่ความมีประสิทธิภาพสูงสุดของสินค้าและบริการ และการพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่รวดเร็วมากขึ้นโดยนำความรู้จากต่างชาติมาปรับใช้

บทความโดย : TerraBKK เคล็ดลับการลงทุน

TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก