ไทม์ไลน์-เส้นทางนิตยสารไทยจาก ‘วันวาน’ สู่ ‘การเปลี่ยนผ่าน’ ในยุคดิจิทัล
เอ่ยคำว่า “นิตยสาร” หลายคนคงรู้จักมักคุ้นดีในฐานะสื่อหลักที่อยู่คู่กับแผงหนังสือไทยมาอย่างยาวนาน เป็นเหมือนมิตรคู่เรือนและเพื่อนคู่ใจ ที่คอยให้สาระ ความรู้ และความบันเทิงกับผู้อ่านจากรุ่นสู่รุ่น อีกทั้งเมื่อมองให้ลึกลงไป นิตยสารไม่เพียงทำหน้าที่เป็น “สื่อ” ที่ส่งต่อ “สาร” ไปยังผู้รับเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือบันทึกเรื่องราวของสังคมทุกยุคทุกสมัยที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ยิ่ง
ชีวิตของนิตยสารมีเรื่องราวและประวัติที่น่าสนใจไม่แพ้สิ่งที่ถูกบันทึกอยู่ภายในตัวนิตยสารเอง บทความชิ้นนี้จะพาผู้อ่านย้อนกลับไปสำรวจเส้นทางของนิตยสารไทย ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน
นิตยสารไทยใน ‘วัยแรกเริ่ม’
หากจะฉายภาพวันวานของนิตยสารไทย เราอาจต้องย้อนไปถึงสมัยรัชกาลที่ 3 นิตยสารในยุคแรกมุ่งเน้นการแจ้งข้อมูลข่าวสาร การแจ้งความ การแปลวิทยาการต่างๆ จากต่างประเทศ รวมถึงการลงเรื่องแต่งวรรณกรรมหรือบทกวี อีกทั้งยังเป็นพื้นที่แสดงความคิดเห็นทางการเมือง นิตยสารในยุคนี้แต่ละฉบับมีอายุค่อนข้างสั้น ออกได้เพียงไม่กี่ปีหรือปีเดียวก็ต้องปิดตัวลง ส่วนใหญ่ขาดทุนเนื่องจากผู้ที่อ่านออกเขียนได้ในยุคนั้นยังมีน้อย
จากสื่อที่ใช้บอกเล่าข่าวสารและแสดงความคิดเห็นทางการเมือง นิตยสารได้แบ่งแยกบทบาทจากหนังสือพิมพ์อย่างชัดเจนมากขึ้นในยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ทิศทางของเนื้อหาเริ่มหันเข้าหาสาระบันเทิง มีการลงโฆษณาสินค้าและบริการ เน้นการลงนวนิยายขนาดยาวต่อเนื่องให้ผู้อ่านติดตามทุกฉบับ ประกอบกับมีการแบ่งเนื้อหาและคอลัมน์ ซึ่งกลายมาเป็นแบบแผนให้กับนิตยสารในยุคถัดมา เช่น คอลัมน์ดูดวง คอลัมน์ตอบปัญหา และคอลัมน์เสียดสี ความเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้นิตยสารได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในหมวดนิตยสารสตรี เช่น สตรีสาร สกุลไทย และขวัญเรือน
‘ยุครุ่งเรือง’ ฤดูผลิบานของนิตยสารไทย
เมื่อเทคโนโลยีด้านการพิมพ์พัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้ง วงการนิตยสารไทยจึงเข้าสู่ฤดูผลิดอกออกผล จากในยุคแรกที่เป็นสื่อที่มุ่งเน้นความบันเทิง ได้เริ่มมีการผลิตนิตยสารที่ให้ความรู้เฉพาะทางมากขึ้น เช่น เดอะ กีตาร์, บ้านและสวน และมติชนรายสัปดาห์ นอกจากนี้ ยังมีการซื้อลิขสิทธิ์นิตยสารจากต่างประเทศมาทำในฉบับภาษาไทย เช่น ELLE, CLEO, C-Kids และ Cosmopolitan
วงการนิตยสารไทยเติบโตอย่างต่อเนื่องจนมาถึงจุดสูงสุด ว่ากันว่ามีนิตยสารของคนไทยรวมกันมากกว่า 400 หัว แต่ความนิยมในนิตยสาร “เล่ม” ก็ไม่จีรังยั่งยืน เมื่อพฤติกรรมการเสพสื่อของคนไทยเปลี่ยนไปตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง การคืบคลานเข้ามาของสื่อออนไลน์ที่เข้ามาตอบโจทย์พฤติกรรมการรับสารใหม่ของผู้อ่านทำให้คนทำนิตยสารต้องระส่ำระส่ายไปตามๆ กัน
ลมหายใจเฮือกสุดท้ายของนิตยสารใน ‘วันที่ร่วงโรย’
จากยุคกระดาษปรูฟพิมพ์ขาวดำ สู่ยุคกระดาษอาร์ตพิมพ์สี่สี วันนี้ถึงคราวแปรเปลี่ยนอีกครั้ง เพราะในยุคดิจิทัลที่เราสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายดายและฉับไว ใครต่อใครก็หันไปใช้สื่อออนไลน์และโซเชียลมีเดียในการรับข้อมูลข่าวสารมากขึ้น
ปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นทั่วโลก เราเห็นผู้คนหันมาเสพข่าวสารและเนื้อหาผ่านเว็บไซต์หรือสื่อโซเชียล เช่น Facebook, Twitter หรือ Youtube มากขึ้น ในขณะเดียวกันก็อ่านนิตยสารเล่มน้อยลง จำนวนคนอ่านที่ลดลงทำให้เม็ดเงินโฆษณาซึ่งเป็นท่อน้ำเลี้ยงใหญ่ของวงการนิตยสารตีบตันลงอย่างมาก
ตัวเลขงบโฆษณาตามสื่อต่างๆ ที่รวบรวมโดย Nielsen Thailand เผยว่า เม็ดเงินโฆษณาของนิตยสารลดลงจาก 4,268 ล้านบาท ในปี 2558 เหลือเพียง 2,929 ล้านบาท ในปี 2559 คิดเป็นการลดลงกว่า 31.37% ในขณะที่งบโฆษณาบนสื่อออนไลน์ขยายตัวเพิ่มขึ้น จาก 1,058 ล้านบาท ในปี 2558 เป็น 1,731 ล้านบาท ในปี 2559 หรือเพิ่มขึ้นกว่า 63.61% ซึ่งเป็นการเติบโตมากที่สุดเมื่อเทียบกับสื่ออื่นๆ
หากไล่เรียงจากปี 2557 เป็นต้นมา จะพบว่าสื่อออนไลน์กำลังเติบโตแบบก้าวกระโดด เกิดเว็บไซต์แมกกาซีนออนไลน์จำนวนมาก เช่น Dooddot, Soimilk, Mango Zero และ The Cloud เป็นต้น อีกทั้งยังมีสำนักข่าวออนไลน์หน้าใหม่เกิดขึ้นด้วย เช่น The Matter, The Momentum และ The Standard
ว่ากันว่านี่คือยุคทองของสื่อออนไลน์ แต่ในทางกลับกันก็เป็นยุคมืดของสื่อสิ่งพิมพ์ด้วย “นิตยสารกำลังจะตาย” กลายเป็นประโยคคุ้นหูในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จากวิกฤติสื่อสิ่งพิมพ์ที่อยู่ในช่วงขาลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้นิตยสารหลายหัวต่างพากันปิดตัวลงอย่างน่าเสียดาย ทิ้งไว้เพียงความทรงจำบนแผ่นกระดาษให้คิดถึง
ย้อนกลับไปในปี 2558 วงการนิตยสารได้เข้าสู่ภาวะวิกฤติอย่างจริงจัง เมื่อนิตยสารเปรียว, OHO, Oops! และซุบซิบ ประกาศยุติการผลิต ถัดมาในปี 2559 ก็ถึงคิวของ สกุลไทย, พลอยแกมเพชร, IMAGE, VOLUME, Seventeen, I LIKE และ Cosmopolitan ที่ทยอยปิดตัวลงอย่างน่าใจหาย ล่าสุดในปี 2560 ทั้งเนชั่นสุดสัปดาห์, Marie Claire, Men’s Health, Giraffe Magazine และครัว ก็จับมือกันมาโบกมือลาผู้อ่านไปพร้อมๆ กันตั้งแต่ต้นปี
สถานการณ์ของอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนไป ทำให้นิตยสารหลายฉบับต้องปรับตัวให้ทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลง บ้างลดจำนวนหน้า บ้างปรับขนาด บางฉบับใช้วิธีปรับระยะเวลาการออกไปเป็นราย 2 เดือน 4 เดือน หรือแม้กระทั่งเปลี่ยนมาเป็นนิตยสารแจกฟรี เพื่อลดต้นทุน ซึ่งทำให้ free-copy ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงหลังๆ ดังจะเห็นจากการเปิดตัวนิตยสาร Billboard Thailand และ The Hollywood Reporter Thailand
นิตยสารหลายเจ้าต่างพยายามงัดกลยุทธ์ไม้เด็ดขึ้นมาต่อสู้กับสถานการณ์ตรงหน้า บางรายหันไปพัฒนาเนื้อหาอย่างจริงจัง ให้ข้อมูลเชิงลึกกับผู้อ่านเข้มข้นขึ้น หลายเจ้าทำรูปเล่มให้ประณีตสวยงามควรค่าแก่การเก็บสะสม ในขณะที่อีกจำนวนมากขยับขยายมาทำคอนเทนต์บนแพลตฟอร์มออนไลน์ควบคู่ไปกับนิตยสารเล่ม เช่น CLEO Thailand, Way Magazine และ GM live นอกจากนี้ ยังมีบางส่วนเลือกใช้กลยุทธ์การสร้าง “แบรนด์” บนโลกจริงคู่ขนานไปด้วย เช่น ELLE Magazine จัด ELLE Fashion Week หรือ Happening ที่มีทั้งร้าน Happening Shop และอีเวนต์สนุกๆ ให้คอยติดตาม
นิตยสารเป็นสื่อที่อยู่คู่สังคมไทยมายาวนาน คงไม่แปลกที่จะต้องการการปัดฝุ่นกันบ้าง ถึงแม้ว่าวันนี้มองไปบนแผงนิตยสารจะรู้สึกเงียบเหงาอย่างบอกไม่ถูก แต่การปิดตัวของนิตยสารอาจไม่นับว่าเป็นความพ่ายแพ้ ทว่าเป็นความท้าทายที่นำมาซึ่งโอกาส รวมถึงเป็นช่วงเวลาอันดีที่ผู้อ่านอย่างเราจะได้เห็นเนื้อหาหลากหลายมาเสิร์ฟในรูปแบบใหม่ๆ ด้วย
สุดท้ายแล้ว ก็อย่าเพิ่งด่วนตัดสินชะตาของนิตยสารไทยกันไป เพราะในยุคที่อะไร ก็ไม่แน่นอนแบบนี้ การจากลาก็ไม่ได้แปลว่าเราจะไม่ได้มาพบกันใหม่เสียหน่อย…
ดู Data Storytelling ได้ที่นี่ https://data.boonmeelab.com/thaimagazine/
หมายเหตุ : ภาพประกอบบทความ บางภาพไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อหาแต่อย่างใด
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : www.thaipublica.org ไทม์ไลน์-เส้นทางนิตยสารไทยจาก ‘วันวาน’ สู่ ‘การเปลี่ยนผ่าน’ ในยุคดิจิทัล