โครงการศึกษาดูงานและสัมมนาวิชาการ “เสริมพลังแก่ชุมชนและสตรีกลุ่มเปราะบาง เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ซึ่งจัดโดยสำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) และสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) เมื่อวันที่ 25-27 มกราคม 2561 ที่ผ่านมา นอกจากได้ศึกษาดูงานทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ หนึ่งในเรือนจำต้นแบบตามข้อกำหนดกรุงเทพแล้ว ยังได้เดินทางไปศึกษาดูงาน “โครงการพัฒนาดอยตุง” (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงราย

โดยเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2561 พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทูตสันถวไมตรีด้านหลักนิติธรรมประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ UNODC ทรงนำคณะทูตานุทูต เจ้าหน้าที่ระดับสูงกรมราชทัณฑ์อาเซียน และผู้แทนองค์การระหว่างประเทศ ศึกษาดูงานโครงการพัฒนาดอยตุง เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับการป้องกันอาชญากรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยแนวคิดที่ใช้มิติการพัฒนานำ

พร้อมกันนี้ ยังมีการเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้อาวุโสประจำหมู่บ้านเกี่ยวกับ “ชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวบ้านในพื้นที่ก่อนจะมีโครงการพัฒนาดอยตุง และประโยชน์ที่ได้รับจากการสนับสนุนให้มีการพัฒนาทางเลือก” รวมทั้งเสวนาแบ่งปันประสบการณ์กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ในพื้นที่เกี่ยวกับ “ความท้าทายใหม่ๆ และการส่งเสริมให้ชุมชนปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป”

“โครงการพัฒนาดอยตุง” ภายใต้การดูแลของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์เป็นโครงการในพระราชดำริของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่เปิดโอกาสให้ชาวบ้านในพื้นที่ดอยตุงซึ่งเป็นชุมชนชาวเขาเลิกปลูกฝิ่น หยุดตัดไม้ทำลายป่า หยุดทำไร่เลื่อนลอย ฯลฯ แล้วหันกลับมาประกอบอาชีพอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และสร้างรายได้อย่างยั่งยืน

กว่า 30 ปีที่ผ่านมา ชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวบ้านในเขตพื้นที่ดอยตุงเปลี่ยนแปลงไปมหาศาล ชาวบ้านได้รู้จักกับการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น กาแฟและแมคคาเดเมีย ได้ทำหน้าที่ช่วยดูแลรักษาป่าไม้ ได้ช่วยกันเฝ้าระวังการลักลอบขนและเสพยาเสพติดในหมู่บ้าน รวมทั้งได้เรียนรู้กิจกรรมต่างๆ ที่โครงการพัฒนาดอยตุงส่งเสริมให้ชาวบ้านยึดเป็นอาชีพ ทั้งด้านการเกษตร หัตถกรรม อาหาร การท่องเที่ยว และร้านกาแฟดอยตุง

ความสำเร็จของโครงการดอยตุง ได้รับการยอมรับจากสากล โดยในปี 2546 UNODC ยกย่องว่าโครงการพัฒนาดอยตุงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการลดปริมาณการปลูกพืชยาเสพติด และแก้ปัญหาความยากจนได้อย่างยั่งยืน

สัมมนาวิชาการ “เสริมพลังแก่ชุมชนและสตรีกลุ่มเปราะบาง เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ซึ่งจัดโดยสำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) และสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ)
เมื่อวันที่ 25-27 มกราคม 2561 ที่ผ่านมา ที่มาภาพ : สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย(TIJ)

     วีรชิต วรัญชิตกูล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ฟ้าหลวง ในฐานะผู้อาวุโสประจำหมู่บ้าน เล่าว่า สมัยที่โครงการดอยตุงเข้ามาใหม่ๆ ตนและชาวบ้านรู้สึกกลัว เพราะตอนนั้นพวกเรายังไม่มีสัญชาติไทย ยังไม่มีบัตรประชาชน ปีสองปีแรกหลายคนจึงไม่ยอมรับโครงการ เพราะมองไม่เห็นภาพ และคิดว่าระบบราชการเข้ามาไม่นานก็ย้ายออกไป ทำอะไรไม่มีความต่อเนื่อง ไม่เห็นผลงานที่ทำได้ชัดเจน

แต่พอโครงการเข้ามาสร้างระบบสาธารณูปโภค สร้างประปา ไฟฟ้า ถนน มีการศึกษาและการทำงานที่เป็นระบบ ทำให้ชาวบ้านเห็นภาพของการพัฒนาโครงการที่แท้จริง หลังจากนั้นเราก็ปรับตัว มีการพูดคุยกับทางโครงการ จนมีความเข้าใจที่ตรงกัน ทำให้เราเชื่อมั่นในโครงการพัฒนาดอยตุงมาจนถึงทุกวันนี้

อีกส่วนหนึ่งที่ชุมชนได้ประโยชน์จากโครงการก็คือ เรื่อง “การแก้ไขปัญหายาเสพติด” ชุมชนดอยตุงมีโอกาสได้เรียนรู้ปัญหานี้จากโครงการและจากพื้นที่อื่นๆ ด้วย บวกกับสมเด็จย่าท่านมาทรงงานที่นี่ ทำให้ชาวบ้านมีโอกาสและทางเลือกในการประกอบอาชีพมากขึ้น ไม่กลับไปค้าหรือเสพยาเสพติด

ถึงวันนี้ตอบได้ว่าพื้นที่ดอยตุง 95% ไม่มียาเสพติด บางหมู่บ้านไม่มีคนติดยา ส่วนที่มีอยู่ก็บางบ้านก็ประมาณ 1-2 คน เพราะในแต่ละหมู่บ้านมีกฎกติกาชุมชน มีระบบกรรมการหมู่บ้านช่วยเป็นหูเป็นตาสอดส่องดูแล

“ในอดีต พื้นที่นี้มีปัญหาเรื่องยาเสพติด คือมีการปลูก มีคนมาซื้อ ส่วนหนึ่งก็เสพ หรือไปซื้อจากพม่าและมาขายในไทย แต่ทุกวันนี้เรามี “กติกาชุมชน”เพื่อไม่ให้คนในหมู่บ้านไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด หากยังมีใครยุ่งเกี่ยว ก็จะมีการลงโทษตามกติกาของหมู่บ้าน เพราะถ้ารอกฎหมายอาจจะช้า เจ้าหน้าที่มาแล้วก็ไป”

“จินตนา นาควิเชตร” อดีตผู้ใหญ่บ้านตำบลแม่ฟ้าหลวงเล่าว่า ก่อนจะมีโครงการพัฒนาดอยตุงเข้ามาในพื้นที่ ค่อนข้างจะลำบาก น้ำ ไฟฟ้า ไม่ค่อยมี แต่พอโครงการเข้ามา ก็ยังไม่มั่นใจว่าจะเข้ามาช่วยเหลือได้ แต่หลังจากได้มีการประสานงานกับโครงการ ซึ่งชาวบ้านก็ให้ความร่วมมือ จนวันนี้โครงการดอยตุงผ่านมา 30 กว่าปี ได้เห็นผลการพัฒนาที่ต่อเนื่อง

“โครงการพัฒนาดอยตุงได้เปลี่ยนชีวิตให้ชาวบ้านอยู่ดีกินดี มีศักยภาพ มีศักดิ์ศรี มีอาชีพ มีรายได้ สามารถพึ่งพาตนเองได้ ในอดีตเราไม่สามารถทำได้ ไม่มีโอกาสที่จะเป็นอย่างนี้ได้ แต่วันนี้ชาวบ้านอยู่ดีกินดี มีรายได้ ก็เริ่มมีบ้าน สามารถมีเงินส่งลูกเรียนสูงๆ ได้ พอลูกเรียนจบ มีงานทำ พ่อแม่ก็มีความสุข และอยู่ดีกินดียิ่งกว่าเดิม”

ในเรื่องยาเสพติด ปัจจุบันหลายหมู่บ้านเป็นหมู่บ้านสีขาว ไม่มีผู้เสพ ไม่มีผู้ค้า แต่ละเดือนจะมีการประชุมหมู่บ้าน เน้นเรื่องยาเสพติด ฝากให้ผู้ปกครองช่วยดูบุตรหลานของตัวเอง และมีคณะกรรมการหมู่บ้านช่วยกันสอดส่องดูแล เช่น ดูว่าร่ำรวยไปมั้ย เปลี่ยนรถเป็นว่าเล่นหรือเปล่า เพื่อจะได้เข้าไปตรวจดูว่าได้เงินมาจากไหน

หากคณะกรรมการบอกว่า บ้านนาย ก. ผิดสังเกต กรรมการก็ต้องเข้าไปดูว่าเป็นอย่างไร วิธีนี้ก็ช่วยได้เยอะเหมือนกัน แต่ละเดือนจะมีคณะกรรมการออกตรวจ ซึ่งช่วยทำให้การบริหารหมู่บ้านง่ายขึ้น แต่ต้องเอาจริงเอาจัง กฎก็คือกฎ ผิดก็ว่าไปตามกฏ

หากพบว่าใครไปเสพยาเสพติด ขั้นแรกก็จะตักเตือน ลงบันทึก เรียกผู้ปกครองมาคุย แล้วก็ส่งไปบำบัด ถ้ากลับมาแล้วยังเสพอีก ก็จะถูกปรับเงินเข้าเป็นกองกลางหมู่บ้านเพื่อพัฒนารายละ 1 หมื่นบาท ซึ่งแน่อนว่าผู้ปกครองจะเป็นคนจ่าย เพราะเด็กไม่มีเงิน ฉะนั้นผู้ปกครองต้องช่วยดูบุตรหลานของตัวเอง แต่ถ้ายังเสพอีกเป็นครั้งที่สาม เราก็จะให้ออกจากหมู่บ้าน

นอกจากนี้ คนในเขตโครงการพัฒนาดอยตุง ทางโครงการจะทำบัตรสมาชิกโครงการพัฒนาดอยตุงไว้ให้ แต่หากใครทำผิดกฎเรื่องยาเสพติดก็จะถูกตัดสิทธิ์บัตรสมาชิกโครงการทันที ส่วนคนที่อยู่ในดอยตุง ถ้าไม่มีที่ทำกิน ทางโครงการก็จะตัดแบ่งให้คนละ 2 ไร่ แต่ถ้าใครไปยุ่งกับยาเสพติด ก็จะโดนยึดที่ดินคืนเช่นกัน


ที่มาภาพ : สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย(TIJ)

     “อรวรรณ โสภณอำนวยกิจ” ชาวเผ่าอาข่า อาชีพทอผ้า เล่าว่า ก่อนที่โครงการดอยตุงจะเข้ามา เธอทำไร่ ทำสวน ปลูกข้าวโพด แต่หลังจากโครงการเข้ามาแล้ว เธอสมัครใจที่จะมาทำโรงงานทอผ้าของโครงการพัฒนาดอยตุง ถึงวันนี้ทำมา 23 ปีแล้ว จากที่เคยพูดภาษาไทยไม่ได้ ไม่รู้หนังสือ จนได้รับการศึกษา สามารถอ่านออกเขียนได้ บวกลบคูณหารเลขได้
ที่น่าสนใจ เธอบอกว่าบทบาทของผู้หญิงก่อนกับหลังโครงการดอยตุงเข้ามาแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ก่อนหน้านี้ผู้หญิงในหมู่บ้านไม่มีสิทธิ์อะไรเลย ออกสังคมก็ไม่ได้ ต้องอยู่บ้านทำไร่ ทำสวน และดูแลลูก แต่ตอนนี้มีสิทธิเท่าเทียมผู้ชายแล้ว ปัจจุบันอรวรรณมีลูก 4 คน มีครอบครัวที่อบอุ่น ลูกๆ เรียนจบมหาวิทยาลัยทุกคน เพราะได้รับการสนับสนุนจากการพัฒนา ทำให้มีทางเลือกในชีวิต

“จตุพงค์ อภิพรไพศาล” เจ้าหน้าที่ส่วนพัฒนาสังคม โครงการพัฒนาดอยตุง เล่าประสบการณ์เกี่ยวกับโครงการพัฒนาดอยตุง ในมุมมองคนรุ่นใหม่ว่า จำได้ว่า 30 กว่าปีที่แล้ว สมัยรุ่นคุณปู่ย่าตายาย รุ่นพ่อแม่ของผม อาชีพหลักของคนดอยตุงคือทำเกษตร เราต้องถางหญ้า ตัดไม้ เพราะว่าวันนั้นเราไม่มีทางเลือก

นี่คือเรื่องจริงของชาวเขาทุกที่ เราทำไร่เลื่อนลอย ปลูกข้าว ปลูกพืชหมุนเวียน รวมทั้งมีพื้นที่ปลูกฝิ่น และส่วนหนึ่งไปมีส่วนร่วมกับขบวนการขนถ่ายของผิดกฎหมายตั้งแต่อาวุธ สัตว์ และยาเสพติด

แต่หลังจากมีโครงการพัฒนาเข้ามา เรามีความหวังมาตั้งแต่รุ่นพ่อ สมเด็จย่าท่านเข้ามาพัฒนา วันนี้ถึงแม้ท่านไม่อยู่แล้ว แต่ก็ยังมีชาวบ้าน มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ สู่รุ่นลูกหลานให้ทำอาชีพสุจริต สมเด็จย่าท่านมาสร้างอาชีพให้เรา

และไม่ใช่แค่สร้างอาชีพ ท่านยังส่งเสริมให้เรามีการศึกษา ท่านไม่ได้หวังว่าพวกเราจะต้องอยู่ที่ดอยตุงตลอดไป ดังนั้นความหวังของคนที่นี่ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ คือเราจะทำยังไงในการยกระดับคุณภาพการศึกษา ยกระดับการเรียนรู้ของตัวเราเองให้สูงขึ้น เผื่อวันข้างหน้าในอนาคต เราก็สามารถออกไปเป็นประชากรที่ดีในชุมชนอื่นได้เช่นกัน

เพราะว่าวันนี้เรามีสัญชาติ สมเด็จย่าให้พื้นที่เราอาศัย ให้ศักดิ์ศรีกับเรา เรามีองค์ความรู้ ก็สามารถเป็นประชากรที่ดีได้ นี่คือความหวังของรุ่นผม ที่เป็นคนรุ่นใหม่ ว่าเราจะสืบสานวิธีคิดอย่างนี้ให้กับคนรุ่นหลังหรือคนรุ่นลูกหลานเราต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของคนรุ่นใหม่ที่ยังทำผิดก็ยังมีอยู่ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่อยากทำผิด คนที่ทำผิดบางคนเขาก็รู้ตัว บางคนก็ทำโดยไม่รู้ตัว คืออยู่ในกระบวนการ ตั้งแต่เรื่องยาเสพติด อาชญากรรม หรือการบุกรุกพื้นที่ป่า

โดยเฉพาะการบุกรุกพื้นที่ ผมเชื่อว่าเขาทำเพราะต้องหาเลี้ยงตัวเองให้อยู่รอด แต่สิ่งหนึ่งที่ผมรับรู้ในบรรดาพี่น้องชนเผ่าหรือชาติพันธุ์ เขาสะท้อนออกมาว่ากฎหมายไทยมักจะใช้กับคนจน แต่ไม่สามารถใช้กับคนที่มีตำแหน่งหรือคนที่มีอำนาจได้ นี่คือมุมมองของพี่น้องชนเผ่าที่เรารับรู้เป็นประจำ หลายคดีที่พวกเราเรียกร้องไป แต่เรื่องก็เงียบหายไป

ที่มาภาพ : สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย(TIJ)

ส่วนในเรื่องการอนุรักษ์ป่าไม้ในพื้นที่ดอยตุง เราได้วางแผนการใช้พื้นที่ป่าให้เกิดการอนุรักษ์กับการใช้อย่างสมดุล เรามี “ป่าอนุรักษ์” ในขอบเขตแต่ละหมู่บ้าน เรามี “ป่าใช้สอย” คือชาวบ้านสามารถไปเก็บกินได้ เก็บมาใช้สอยได้ และเรามี “ป่าเศรษฐกิจ” คือ “กาแฟ” กับ “แมคคาเดเมีย” และตอนนี้มี “ชาอัสสัม” เพิ่มเข้ามา เป็น 3 ตัวหลักในพื้นที่ของเรา

ในส่วนที่ทำกิน เรามีขอบเขตในการรังวัดอย่างชัดเจน ส่วนการดูแลพื้นที่ เมื่อชาวบ้านปากอิ่ม ท้องอิ่ม ทุกคนก็จะช่วยกัน มีสำนึกในการช่วยกันดูแล โดยเราจะช่วยให้ความรู้กับประชาชน ให้เขารู้คุณค่าว่าป่าแต่ละอย่างให้อะไรกับเราบ้าง เช่น ป่าต้นน้ำ ป่าอนุรักษ์ ให้น้ำได้ ให้ความชุ่มชื้นได้ เป็นต้น เราสามารถโยงไปถึงเรื่องการดูแลได้

ดังนั้น ทุกหมู่บ้านจะมีกติกาหมู่บ้านอยู่แล้ว ตั้งแต่เรื่องยาเสพติดหรือการรักษาป่า ซึ่งทุกคนจะมีสำนึกในการช่วยกันดูแล เพราะเมื่อชุมชนได้ประโยชน์โดยที่ไม่ต้องไปถางป่า ไม่ต้องตัดไม้ แต่เขารู้ว่าในพื้นที่มีกาแฟ มีชา มีแมคคาเดเมีย ชาวบ้านก็จะรู้ว่านี่คือทรัพย์สินของตัวเอง ก็ต้องช่วยกันอนุรักษ์

ทัศนีย์ โสภณอำนวยกิจ คุณครูโรงเรียนบ้านขาแหย่งพัฒนา อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย เล่าถึงการส่งเสริมชุมชนในการป้องกันยาเสพติดให้กับเด็กในโรงเรียนและชุมชนว่า ในฐานะครู เรา “สร้างภูมิคุ้มกัน” ให้กับเด็กในเรื่องยาเสพติด เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ชายแดน ซึ่งมีความเสี่ยง ด้วยการสร้าง “พื้นที่การเรียนรู้” คือทำอย่างไรที่จะสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้เขา โดยมีพื้นที่การเรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชน รวมทั้งสร้างพื้นที่การเรียนรู้เรื่อง “คนอยู่ร่วมกับป่า”

“จริงๆ แล้วเราอยากสอนให้เด็กรู้จักคุณค่าของตัวเอง คุณค่าในตัวเองในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าจะต้องไปแข่งกับใคร แต่ให้รู้ว่าตัวเรามีดีอะไร และยังมีคนที่รักเราอยู่ หรือแม้เด็กที่กำพร้าพ่อแม่ หรือเด็กที่ไม่ได้เรียนสูงเหมือนเด็กคนอื่นๆ ที่เรามีชีวิตอยู่ทุกวันนี้ เพราะเรามีคุณค่า”

เราพยายามเน้นให้เด็กเห็นผลกระทบ ว่ายาเสพติดเมื่อเข้าไปในร่างกายของใครก็แล้วแต่ หรือใครอยากเอาร่างกายตัวเองไปเสี่ยง ผลกระทบของยาเสพติดมันจะเป็นอย่างไร เช่น ถ้าเอาเหล้าเข้าร่างกายมันจะทำให้ตับแข็ง เอาบุหรี่เข้าร่างกายจะทำให้ปอดดำ นอกจากนี้ เรายังชวนให้เด็กคิดถึงอนาคตว่า โตขึ้นไปอยากเป็นอะไร ตอนนี้ทำอะไรอยู่

“สิ่งที่เราทำในวันนี้ จะเป็นรากฐานให้กับคนรุ่นใหม่รุ่นถัดไปในอนาคต เช่น เด็กคนไหนที่ถนัดเรื่องการศึกษา เราก็จะช่วยดูแลเรื่องการศึกษาอย่างเต็มที่ เพราะการศึกษาเป็นส่วนที่สร้างคน ให้เด็กต่อยอดในหลายๆ สิ่งที่เขาอยากจะเป็นได้”

ทุกวันนี้พนักงานในดอยตุงที่เข้ามาทำงานในโครงการพัฒนาดอยตุง เกือบครึ่งหนึ่งมาจากคนในหมู่บ้าน คนในพื้นที่ ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ ดังนั้น สิ่งท้าทายที่เราอยากทำตอนนี้ ไม่ใช่การสร้างถนน ไม่ใช่การสร้างสาธารณูปโภคให้ดีเลิศ แต่สิ่งที่เราอยากจะเพิ่มเติมให้คนรุ่นใหม่คือการสร้าง “แรงบันดาลใจ” เพื่อให้เขาทำในสิ่งที่ดีขึ้นกับตัวเอง

และวันนี้แม้โลกจะเปลี่ยนไปมาก ทั้งข้อมูลข่าวสาร สภาพแวดล้อม เทคโนโลยีต่างๆ ก็ไม่ใช่ว่าเราจะไม่เปลี่ยนตาม เราก็มีการปรับตัวตามความเปลี่ยนแปลงของโลก เราก็ใช้โซเชียลมีเดีย ใช้สื่อ มีการสอนในโรงเรียน เหมือนโรงเรียนปกติทั่วไป

แต่สิ่งหนึ่งที่ชุมชนเรายังอนุรักษ์และยังภูมิใจคือ เรื่องวัฒนธรรมของแต่ละชนเผ่า เรื่องจารีตต่างๆ ที่ไม่ไปละเมิดสิทธิของผู้อื่น เรายังส่งเสริมไม่เคยเปลี่ยน ฉะนั้น เราพยายามปลูกฝังความภูมิใจ ความมีศักดิ์ศรีของตัวเอง ความภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองเป็น และนำสิ่งที่ตัวเองเป็นนั้นไปต่อยอดในด้านที่ดีต่อไป

อย่างการเรียนการสอนในห้องเรียน เรามีการเรียนรู้เรื่องของชนเผ่าแต่ละชนเผ่า เพราะเราอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวใหญ่ เช่น มีการจัดหลักสูตรที่ให้เด็กชนเผ่าอาข่าเรียนรู้เรื่องของชนเผ่าลาหู่ เป็นต้น เราไม่เคยรังเกียจกันว่านี่เผ่าเธอ นี่เผ่าฉัน

การเรียนการสอนของเราที่นี่ เราสอนตามหลักกระทรวงศึกษาทุกอย่าง เด็กๆ สามารถอ่านออกเขียนได้ บางคนพูดได้ 2-3 ภาษา แต่ก็มีบางวิชาที่เราได้บูรณาการเรื่องเอกลักษณ์ของชุมชนในพื้นที่เข้าไปด้วย เป็นการปลูกฝังความภูมิใจ ความมีศักดิ์ศรีของตัวเอง

นี่คือเสียงสะท้อนของผู้อาวุโสและคนรุ่นใหม่ในพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุง ต่อความความท้าทายใหม่ๆ ในการส่งเสริมชุมชนให้มีการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน

หมายเหตุ : ภาพประกอบบทความ บางภาพไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อหาแต่อย่างใด 
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : https://thaipublica.org เรื่องเล่า “ผู้อาวุโส-คนรุ่นใหม่” 30 ปีวิถีคน ดอยตุง เส้นทางความยั่งยืน กว่าจะถึงวันนี้ ด้วย “หลักนิติธรรม-กติกาชุมชน” ที่ใช้ได้จริง