สมาคมสถาปนิกสยามฯ จัดดินเนอร์ทอล์ค “ปรับบ้าน ปรุงเมือง ... Redefined Habitat” ระดมความคิดมองไทยในอีก 20 ปีข้างหน้าล้อยุทธศาสตร์ชาติ เผยถึงเวลามองแบบบูรณาการ เปิดทางเอกชนพัฒนาควบคู่ ชี้ผังเมืองเก่าล้าสมัย แนะปรับวิธีคิดคนเป็นศูนย์กลางออกแบบเมือง ปรับผังเมืองให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจยุคใหม่ พร้อมเปิดพื้นที่ให้คนรายได้น้อยมีพื้นที่ในเมือง
สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ บริษัท อัลติเมท พร๊อพเพอร์ตี้ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเวทีสัมมนาใหญ่ ”ASA Real Estate Forum 2018” ภายใต้แนวคิด”ปรับบ้าน ปรุงเมือง” เสริมแก่งผู้ประกอบการ ยกระดับสถาปนิกไทยสู่สากล จัด ดินเนอร์ ทอล์ค “ ASA Real Estate Forum Dinner talk Award 2018” “ปรับบ้าน ปรุงเมือง ... Redefined Habitat” ระดมความคิดมองไทยในวันหน้าอีก20 ปีข้างหน้าล้อยุทธศาสตร์ชาติคิดใหม่บูรณาการเมือง ยึดคนเป็นศูนย์กลาง
ศาสตราภิชาน รศ.มานพ พงศทัต ประธานหลักสูตรพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และอาจารย์ประจำภาควิชาเคหการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การปรับบ้าน ปรุงเมือง คือการคิดใหม่ทำใหม่ ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเมืองให้สอดคล้องกับโลกที่เปลี่ยนไปอย่างมหาศาล โดยรัฐจะสร้างคนเดียวไม่ได้ แต่จะต้องอาศัยการรวมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) เป็นจิ๊กซอว์ไปสู่ความสำเร็จ
เมื่อมีกฎหมายผังเมือง ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC-Eastern Economic Corridor) สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือการพัฒนาปรับปรุงแก้ไขผังเมืองที่เคยผิดพลาดในอดีต โดยใช้พื้นที่ EEC เป็นโอกาสในการสร้างเมืองใหม่ โดยภาครัฐปรับบทบาท ให้หน้าทีการอกแบบสร้างเป็นของเอกชน และประชาชน มากกว่าทำเอง
ขณะเดียวกันควรมีการร่มมือกันอย่างบูรณาการ ทั้งสถาปนิก เอกชน และผู้เกี่ยวข้องโดยการลดความขัดแย้ง ความเห็นแตกต่าง มาช่วยกันระดมความคิดเห็น พัฒนาเมืองในอนาคต
ด้านนายอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า ก่อนปรับบ้านปรุงเมือง จะต้องมองอนาคตเมืองเป็นอย่างไร ให้สอดคล้องกันกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จึงจะเห็นทิศทางของการพัฒนาเมืองที่ชัดเจน และมองเห็นจุดยืนของไทยที่เทียบกับเพื่อนบ้าน ที่สำคัญคือ การสร้างการมีส่วนร่วม ให้คน หรือเจ้าของบ้านได้มีสิทธิออกแบบบ้าน และเมืองของตัวเอง โดยที่นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริการจัดการพัฒนาสังคม สาธารณูปโภค เพื่ออำนวยความสะดวกให้ชีวิตคนในเมือง
ทั้งนี้ถึงเวลาที่จะต้องจัดการกฎหมายบางส่วนที่ล้าสมัยไม่สอดคล้องต่อการพัฒนาของเมือง โดยเฉพาะกฎหมายผังเมือง ที่คำนึงถึงเพียงนามธรรมในอดีต ต้องปรับปรุงทิศทางผังเมืองให้สอดคล้องกันกับความเป็นจริง ที่จะต้องพิจารณากายภาพ ทิศทางการพัฒนาประเทศ รวมถึงการมีส่วนร่วมของคน เป็นศูนย์กลาง
“เอาคนเป็นศูนย์กลางเพื่อให้ได้ประโยชน์ที่แท้จริง ให้ข้อมูลความรู้ การศึกษาให้เข้าใจเรื่องทิศทางการพัฒนาเมือง เพื่อที่จะมีบทบาทในการตัดสินใจและร่วมกันออกแบบเมืองอนาคต โดยผังเมืองจะต้องให้ความสำคัญกับการชี้นำอนาคตประเทศ ที่สอดคล้องกันกับแผนการพัฒนาประเทศในอนาคต”
ทั้งนี้ จะต้องมีการบูรณาการออกแบบผังเมืองโดยการเชื่อมโยงระบบการพัฒนาทุกด้าน ตั้งแต่ กลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสร้างมูลค่าให้กับเมือง จังหวัด เชื่อมโยงกันกับระบบสาธารณูปโภค ระบบคมนาคมขนส่ง อุตสาหกรรม วัตถุดิบ รวมถึงระบบโลจิสติกส์ เพื่อให้มีการเชื่อมโยงซัพพลายเชน เพื่อช่วยให้ลดต้นทุน หากมีการออกแบบผังเมืองและการพัฒนาเมืองให้สอดคล้องกัน กลุ่มนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ก็จะมองเห็นภาพเชื่อมโยงกันในทุกมิติ
“ออกแบบตามความต้องการของผู้อยู่ และพิจารณาว่าเมืองนั้นมีจุดในการพัฒนาใดเป็นตัวขับเคลื่อน เช่น เน้นผลิต บริการ หรือการท่องเที่ยวจะต้องหาจุดยืน (Positioning) ให้ชัด ตั้งแต่ ระดับประเทศจนถึงชุมชนล่าง อดีตเราทำแต่ระดับหนึ่ง แต่ขาดการเชื่อมโยงพัฒนาเน้นผังเมืองแต่ไม่เน้นพัฒนาเมือง ออกแบบตามอุปสงค์และอุปทาน โดยขาดการเชื่อมโยง ก็จะเห็นทิศทางการพัฒนา มีระบบ และสอดคล้องกันกับทิศทางการเติบโตของเมือง ”
แนะผังเมืองใหม่มีบรรษัทพัฒนาเมือง สิ่งสำคัญคือจะต้องปฏิรูปกฎหมายผังเมืองฉบับใหม่ ให้มีบรรษัทพัฒนาเมือง เช่นเดียวกันกับในต่างประเทศ เพื่อทำหน้าที่พัฒนาที่ดิน เมืองที่เคยมีการใช้ประโยชน์มาพัฒนาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกันกับในสิงคโปร์และในญี่ปุ่น
ภาครัฐควรปรับเปลี่ยนบทบาทตัวเอง จากผู้คอยควบคุม มาเป็นสนับสนุน ส่งเสริม การพัฒนาเมือง โดยให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน ซึ่งวิธีการดังกล่าวจะส่งผลทำให้รัฐลดงบประมาณในการพัฒนาเมืองได้ ขณะเดียวกันควรให้โอกาสกลุ่มวิชาชีพสถาปนิกเป็นผู้อนุมัติตรวจสอบโครงการ ออกใบอนุญาต แทนการส่งเอกสารเพื่อขอรับอนุญาตจากภาครัฐ จะทำให้การเติบโตของเมืองเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว ลดกระบวนการซับซ้อนยุ่งยาก
หลักการของสมาร์ทซิตี้ที่สำคัญที่สุดคือ การบริหารจัดการอย่างเป็นระบบมีความปลอดภัย มีสวัสดิการให้กับคนทุกกลุ่ม รวมถึงผู้มีรายได้น้อย ที่มีข้อจำกัด ดังนั้นการพัฒนาที่อยู่อาศัยให้ผู้มีรายได้น้อย แต่เป็นรูปแบบเช่าระยะยาว 30ปี จึงไม่สอดคล้องกันกับความต้องการ ทั้งเอกชนที่ลงทุนและประชาชนผู้ซื้อ ที่ไม่สามารถโอนเป็นมรดกได้ ภาครัฐจึงควรมีกลไกสนับสนุนภาคเอกชนให้สร้างที่อยู่อาศัยสำหรับคนมีรายได้น้อย ในเมืองโดยการสนับสนุนภาคเอกชน ด้วยโบนัสต่างๆ เพื่อช่วยเหลือในการเข้าไปซื้อที่ดินราคาสูง ใจกลางเมืองให้สิทธิเจ้าของบ้านคนจนแทนเช่า
ขณะที่นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า เมืองไทยนี้เมื่อเทียบกับยุคในช่วง 50 ปีที่ผ่านมาถือว่าเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จากประชากร 1-2 ล้านคนในกทม.เพิ่มเป็น 10 ล้านคน มีคนต่างชาติเข้าอาศัยอยู่จำนวนมาก รวมถึงมีตึกสูงใหญ่ และราคาที่ดินสูงถึง 3 ล้านบาทต่อตารางวา การสร้างเมืองที่ผ่านมาเหมือนตัดกางเกงผิดทรง ซึ่งวันนี้ใช้ไม่ได้แล้วกับทฤษฎีผังเมืองแบบเดิม ดังนั้นจึงต้องหารือระดมความคิดเห็นกันใหม่ จากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลายภาคส่วน ร่วมกันมองไปข้างหน้าเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศที่เปลี่ยนไป ทั้งประชากรที่เพิ่มขึ้น นักท่องเที่ยวมากขึ้น และมีความหลากหลายสัญชาติเพิ่มขึ้น แต่ขณะเดียวกันกลับมาชุมชนแออัด กลุ่มผู้มีรายได้น้อยกว่าแสนคนอาศัยอยู่ในเมือง กลุ่มอาชีพแรงงาน เด็กเสิร์ฟ ยาม รปภ.คนเหล่านี้ใช้เวลาเดินทางมากขึ้น เพราะยิ่งเมืองพัฒนายิ่งผลักคนเหล่านี้ให้อยู่ห่างไกลจะมีวิธีออกแบบเมืองอย่างไรให้อยู่ร่วมกัน
“เวลาทำเมืองนึกถึงคนรายได้น้อยทีหลังสุด ตึกรามบ้านช่องความเจริญ ที่เกิดขึ้นทุบของเก่า และสร้างใหม่ โดยที่แรงงานในเมือง ยิ่งความเจริญมากขึ้น คนจนก็ยิ่งถอยออกไปจากเมืองมากขึ้น การพัฒนาเมืองกลับทำให้ชีวิตคนเหล่านี้เป็นทุกข์ ได้รับผลกระทบ”
ผังเมืองที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน มีหลายจังหวัดได้รับผลกระทบ จากการออกแบบที่ไม่สอดคล้องกับเมือง ประชาชน และทิศทางการเติบโตของเมือง เป็นอุปสรรคในการเข้าไปพัฒนาโครงการให้สอดคล้องกันกับอนาคต ทั้งที่รูปแบบของกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างออกมาแล้ว แต่ยังขาดการพัฒนาที่เป็นรูปธรรม ผังเมืองฉบับเดียวไม่สามารถครอบคลุมทุกเมืองที่ยังมีการพัฒนาที่แตกต่างกัน ดังนั้นจึงควรมีการพัฒนาปรับปรุงอย่างเป็นระบบ มีสมาร์ทซิตี้ก็ต้องให้มีสมาร์ทลีฟวิ่งให้คนมีรายได้น้อยมีโอกาสได้อยู่อาศัยในเมือง
ขอบคุณข้อมูลจาก http://asa.or.th/homepage-th/